กาตาร์ มั่งคั่งขนาดไหน ถึงได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก

People visit the Mall of Qatar, in Doha, Qata AP Photo/Kamran Jebreili)

เซปป์ แบล็ตเตอร์บอกพลาดไปแล้ว เลือก กาตาร์ เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ชี้ประเทศเล็กเกินไป และบอลโลกใหญ่เกินไป

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 สำนักข่าว เอพี รายงานว่า ระหว่างที่มหกรรมฟุตบอลโลกใกล้เข้ามา กาตาร์ยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมกับการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ล่าสุด เซปป์ แบลตเตอร์ ประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ FIFA เมื่อ 12 ปีก่อน เอ่ยว่าตนเองตัดสินใจผิดเองที่เลือกกาตาร์

แบล็ตเตอร์ วัย 86 ปี กล่าวกับหนังสือพิมพ์สวิส Tamedia เป็นการให้สัมภาษณ์ครั้งแรกนับจากพ้นผิดในคดีใช้เงินผิดประเภทระหว่างบริหารฟีฟ่า

The official FIFA World Cup Countdown Clock on Doha’s corniche AP Photo/Nariman El-Mofty)

“ประเทศนี้เล็กเกินไปมาก ในขณะที่ฟุตบอลและฟุตบอลโลกใหญ่เกินไปสำหรับการเป็นเจ้าภาพ ถือเป็นตัวเลือกที่ไม่ดี และผมเองต้องรับผิดชอบในฐานะประธานในตอนนั้น” แบล็ตเตอร์กล่าว

ขณะที่สำนักข่าวเอพี ยังรายงานวิเคราะห์เหตุที่กาตาร์ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก

กาตาร์เป็นประเทศเล็ก ๆ บนคาบสมุทรอาหรับ มีประชากรเพียง 2.9 ล้านคน แต่เป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก อีกทั้งยังเป็นประเทศส่งออกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก

ปัจจุบันประเทศนี้ยังเป็นศูนย์กลางการขนส่งระหว่างประเทศ โดยมีสายการบินแห่งชาติที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่าง Qatar Airways

ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ

อดีตชาวกาตาร์อาศัยการดำน้ำหามุกและการตกปลาเพื่อความอยู่รอดเป็นส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับส่วนอื่น ๆ ของอ่าวไทย ต่อมามีการค้นพบน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ได้ทำให้ชีวิตในคาบสมุทรอาหรับเปลี่ยนไปตลอดกาล

Two people talk at the Corniche waterfront promenade in Doha, Qatar on May 14, 2019. (AP Photo/Kamran Jebreili, File)

ขณะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยและอัตราเงินเฟ้อ แต่กาตาร์และผู้ผลิตพลังงานรายอื่น ๆ ในอ่าวอาหรับได้รับผลประโยชน์จากราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นสูง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF คาดว่าเศรษฐกิจของกาตาร์จะเติบโตประมาณ 3.4% ในปีนี้

แม้จะมีการใช้จ่ายจำนวนมากเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 แต่กาตาร์มีรายได้มากกว่าปีที่แล้ว ทำให้มีงบฯเกินดุลที่ต่อเนื่องไปจนถึงปีนี้

ความร่ำรวยของกาตาร์มีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อเนื่อง จากการขยายกำลังการผลิตและส่งออกก๊าซธรรมชาติจนถึงปี 2025 กองทุนความมั่งคั่งอธิปไตยของ Qatar Investment Authority จัดการและลงทุนเงินสำรองของประเทศ

2แสนล้าน งบฯในการเป็นเจ้าภาพ

รายงานจากดีลอยต์เผยว่า กาตาร์ทุ่มงบฯกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ไปกับโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการพัฒนาอื่น ๆ นับตั้งแต่ชนะการประมูลเพื่อเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022

A general view of the Al Thumama Stadium in Doha, Qatar, Monday, Dec. 6, 2021 (AP Photo/Darko Bandic)

นอกจากนี้ยังใช้เงินประมาณ 6,500 ล้านดอลลาร์เพื่อสร้างสนามกีฬา 8 แห่งสำหรับการแข่งขัน อย่าง สนามกีฬา อัล จานูป (Al Janoub) ออกแบบโดย ซาฮา ฮาดิด (Zaha Hadid) สถาปนิกหญิงระดับโลกผู้ล่วงลับ รวมถึงมีการใช้เงินหลายพันล้านเพื่อสร้างรถไฟใต้ดิน สนามบินใหม่ ถนน และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ก่อนการแข่งขัน

Capital Economics บริษัทวิจัยในลอนดอน กล่าวว่า จากการขายตั๋ว บ่งบอกว่าจะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 1.5 ล้านคนเดินทางไปกาตาร์เพื่อชมฟุตบอลโลก หากนักท่องเที่ยวแต่ละคนพัก 10 วัน และใช้จ่าย $500 ต่อวัน การใช้จ่ายต่อผู้เข้าชมหนึ่งคนจะเท่ากับ $5,000 ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจของกาตาร์จะเพิ่มขึ้น 7,500 ล้านดอลลาร์ในปีนี้

Foccer Football – Uniform Unveiling – Qatar’s Lusail stadium, Lusail, Qatar – September 2, 2022 VREUTERS/Mohammed Dabbous/File Photo

ผลประโยชน์มหาศาล

กาตาร์เป็นรัฐปิโตรรัฐที่ร่ำรวยเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในอ่าวอาหรับ กาตาร์ไม่ใช่ประเทศประชาธิปไตย การตัดสินใจขึ้นกับผู้ปกครองตระกูลอัลธานีและที่ปรึกษา ประชาชนแทบไม่มีความเห็นในการตัดสินใจด้านนโยบายที่สำคัญของประเทศของตน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้มอบสวัสดิการมากมายให้กับประชาชน เพื่อสร้างความภักดีและการสนับสนุนของชาวกาตาร์ โดยชาวกาตาร์มีรายได้ปลอดภาษี งานราชการเงินเดือนสูง การรักษาสุขภาพฟรี การศึกษาระดับอุดมศึกษาฟรี เงินสนับสนุนสำหรับคู่บ่าวสาว การสนับสนุนด้านที่อยู่อาศัย เงินสนับสนุนอีกมากมายที่ครอบคลุมค่าสาธารณูปโภค และการเกษียณอายุ

แรงงานข้ามชาติ

ประเทศกาตาร์ต้องพึ่งพาแรงงานจากประเทศอื่น เพื่อทำงานด้านบริการและการก่อสร้าง เช่น คนขับรถและพี่เลี้ยงเด็ก

มีการตรวจสอบกฎหมายแรงงานอย่างเข้มงวด และการปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติหลายแสนคน โดยแรงงานส่วนใหญ่มาจากอินเดีย บังกลาเทศ ปากีสถาน ศรีลังกา เนปาล และประเทศอื่น ๆ ในเอเชียใต้

คนงานเหล่านี้จะอาศัยอยู่ในห้องรวมในแคมป์แรงงาน และต้องทำงานตลอดช่วงฤดูร้อน โดยมีเวลาพักผ่อนแค่ช่วงเที่ยงเพียงไม่กี่ชั่วโมง แรงงานเหล่านี้จะไปทำงานอยู่หลายปีโดยไม่ได้กลับบ้าน

แรงงานปากีสถานในกรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ AP Photo/Nariman El-Mofty)

แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า งานส่วนใหญ่มักจะเป็นงานอันตราย ทำให้มีคนเสียชีวิตจากโรคลมแดดหลายสิบคน

ด้านกลุ่มสิทธิมนุษยชนให้โอกาสกาตาร์ในการปรับปรุงกฎหมายแรงงาน เช่น การใช้ค่าจ้างรายเดือนขั้นต่ำประมาณ 275 ดอลลาร์ในปี 2020 และให้รื้อระบบ “คาฟาลา” ที่ห้ามคนงานเปลี่ยนงาน หรือเดินทางออกนอกประเทศ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากนายจ้าง

อีกทั้งยังเรียกร้องให้กาตาร์ปรับปรุงค่าชดเชยกรณีแรงงานข้ามชาติที่ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต และถูกขโมยค่าจ้างขณะทำงานในโครงการที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอลโลก

………