JNTO รุกหนักรับเงินเยนอ่อน ตั้งเป้าปี’66 ดึงคนไทยเที่ยว 1.3 ล้านคน

JNTO

องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น ตั้งเป้าปี’66 คนไทยเที่ยวญี่ปุ่น 1.3 ล้านคน เท่าก่อนโควิด เร่งฟื้นเที่ยวบินเชื่อม 2 ประเทศ-เพิ่มแรงงานบริการในสนามบิน รองรับการฟื้นตัว จ่อจัดงาน “เที่ยวญี่ปุ่นด้วยตัวเอง” 27-29 ม.ค.นี้ กระตุ้นคนไทยเที่ยวเมืองท่องเที่ยวใหม่ พร้อมโหมเมืองรอง “ฟูกูชิมะ” ย้ำทั้งแหล่งท่องเที่ยว-อาหารมีความปลอดภัย

นางสาวเค โดอิ ประธานองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) สำนักงานกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ค่าเงินเยนที่อ่อนค่าเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก โดยนักท่องเที่ยวชาวไทยได้ประโยชน์จากเงินเยนที่อ่อนค่าเช่นกัน และช่วยกระตุ้นให้ไทยออกเดินทางไปยังญี่ปุ่นมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ยังทำให้นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นอาจเปลี่ยนจุดหมายการท่องเที่ยวจากเที่ยวระยะไกล เช่น ทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ หันมาเที่ยวประเทศระยะใกล้อย่างประเทศไทยมากขึ้น

ฟื้นเที่ยวบิน-แก้ปัญหาสนามบิน

นางสาวโดอิกล่าวว่า ปัจจุบันเที่ยวบินระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ยังคงมีไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม ทางการพยายามเร่งเปิดเที่ยวบินให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับปัญหาในส่วนของท่าอากาศยานของญี่ปุ่นที่ยังประสบปัญหาขาดแคลนพนักงาน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก็กำลังเร่งประกาศรับสมัครพนักงานเข้ามาเสริมแล้ว

“การจะเพิ่มเที่ยวบินระหว่าง 2 ประเทศให้มากขึ้นนั้น ทั้ง 2 ประเทศจำเป็นต้องโปรโมตนักท่องเที่ยวแต่ละชาติให้เดินทางไปเยือนซึ่งกันและกัน สร้างความมั่นใจด้านสาธารณสุข เมื่อนักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางมากขึ้น เที่ยวบินจะเพิ่มขึ้นตามมา” นางสาวโดอิกล่าว

ไทยเที่ยวญี่ปุ่น 1.3 ล้านคน

นางสาวโดอิกล่าวอีกว่า จากข้อมูลปีที่ผ่านมา (1 มกราคม-30 พฤศจิกายน 2565) พบว่ามีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นประมาณ 2 แสนคน ขณะที่ในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นประมาณ 1.32 ล้านคน

“ปีนี้เราตั้งเป้ามีนักท่องเที่ยวชาวไทยราว 1.3 ล้านคน หรือใกล้เคียงกับก่อนการระบาดโควิด-19” นางสาวโดอิกล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่าในปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปญี่ปุ่นจำนวน 1,148,680 คน ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นเดินทางเข้าประเทศไทย 1,787,185 คน

เร่งกระจายนักท่องเที่ยวลงพื้นที่ใหม่ ๆ

นางสาวโดอิกล่าวต่อไปว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวญี่ปุ่นต่อเนื่อง JNTO ได้ร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์ชาวไทย ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว พร้อมจัดโปรฯส่วนลดผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว อีกทั้งเตรียมจัดงานเที่ยวญี่ปุ่นด้วยตนเอง ครั้งที่ 14 (Visit Japan FIT Fair #14) ระหว่าง 27-29 ม.ค.นี้ ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ

“พฤติกรรมนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเกือบ 70% เป็นนักท่องเที่ยวที่เคยเดินทางแล้ว และอาจเดินทางไปยังสถานที่เดิม การท่องเที่ยวญี่ปุ่นจึงอยากส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปยังพื้นที่ใหม่ ๆ นอกเหนือจากโตเกียวหรือโอซากา”

JNTO

โหมโปรโมต “ฟูกูชิมะ”

นางสาวโดอิกล่าวอีกว่า จากนโยบายดังกล่าว JNTO จึงร่วมกับสำนักงานการบูรณะประเทศญี่ปุ่น (Reconstruction Agency, Japan) จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ชวนชาวไทยทำความรู้จัก และเชิญชวนนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปท่องเที่ยวจังหวัดฟูกูชิมะ หลังมาตรการฟื้นฟูจังหวัดฟูกูชิมะจากแผ่นดินไหวใหญ่ทางฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่นเมื่อปี 2554

“เรายืนยันว่าผลิตภัณฑ์อาหารจากพื้นที่ฟูกูชิมะมีความปลอดภัย ไม่พบสารกัมมันตภาพรังสีปนเปื้อนแล้ว” นางสาวโดอิกล่าว

นางสาวโดอิกล่าวต่อไปอีกว่า ปัจจุบันนักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางไปยังพื้นที่ฟูกูชิมะเพิ่มมากขึ้น แต่ท่าอากาศยานฟูกูชิมะเองยังไม่มีเที่ยวบินตรงระหว่างประเทศไทย ทำให้นักท่องเที่ยวต้องเดินทางผ่านท่าอากาศยานนาริตะ

ส่วนความร่วมมือกับบริษัททัวร์ในการโปรโมตพื้นที่ดังกล่าวนั้น เริ่มมีการประสานงานกันบ้างแล้ว โดยเบื้องต้นอาจมีการจัดแพ็กเกจการท่องเที่ยว เช่น เที่ยวเมืองหลักแล้วแวะเที่ยวฟูกูชิมะร่วมด้วย หากปีนี้มีชาวไทยไปเยือนราว 50,000 คนจะถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี

ยันท่องเที่ยว-อาหารปลอดภัย

ด้านนายไทชิ นากามิ ผู้อำนวยการศูนย์ฟื้นฟูจากวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันพื้นที่ฟูกูชิมะเกินกว่า 91% มีความปลอดภัยจากสารกัมมันตรังสีแล้ว พื้นที่ท่องเที่ยวต่างอยู่ในจุดที่มีความปลอดภัย อีกทั้งผลไม้จากท้องถิ่นก็มีความปลอดภัยเช่นกัน

“การท่องเที่ยวถือเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และขอยืนยันว่าพื้นที่ฟูกูชิมะมีความปลอดภัยต่อการเดินทางท่องเที่ยว” นายไทชิกล่าว