“นกแอร์” ปิดตำนาน Q400 ท้องถิ่นโอดกระทบทุกมิติ

นกแอร์

นับตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2566 เป็นต้นไป สายการบิน “นกแอร์” จะยกเลิกการให้บริการเครื่องบินใบพัด แดช 8 คิว 400 (De Havilland Canada Dash 8 Q400) ที่เหลืออยู่จำนวน 3 ลำทั้งหมด

“วุฒิภูมิ จุฬางกูร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินนกแอร์ ให้ข้อมูลว่าสาเหตุของการยกเลิกการให้บริการเครื่องบินลำดังกล่าว เกิดจากบริษัทไม่สามารถหารายได้ครอบคลุมรายจ่ายจากการใช้เครื่องรุ่นดังกล่าวได้ บางเส้นทางบินมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยเพียง 40-50%

ประกอบกับสนามบินหลายแห่งได้ขยายทางวิ่ง (runway) ทำให้เครื่องบินขนาดใหญ่ เช่น โบอิ้ง 737 ลงจอดได้ การนำเครื่องบินรุ่นนี้ไปแข่งขันกับเครื่องบินลำใหญ่กว่าจึงไม่สามารถสู้ได้

อีกทั้ง “นกแอร์” ทำการเช่าเครื่องบินรุ่นดังกล่าวมาแล้วเกือบ 8 ปี และขาดทุนมาตลอด ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านการบำรุงรักษาก็มากขึ้นตามอายุการใช้งานและข้อจำกัดด้านเทคนิค จึงตัดสินใจขอคืนเครื่องบินก่อนครบอายุสัญญา

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ของสายการบินพบว่า นกแอร์ใช้ Q400 ให้บริการเชิงพาณิชย์ในเส้นทางกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) ไปยัง แม่ฮ่องสอน, แพร่, ลำปาง, ระนอง และบุรีรัมย์ (ในบางวัน) รวมถึงเส้นทางเชียงใหม่ ไปยังอุบลราชธานี, อุดรธานี

โดยตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2566 เป็นต้นไป ไม่พบเที่ยวบินที่ให้บริการระหว่างกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) ไปยังแม่ฮ่องสอน, แพร่ และลำปาง ปรากฏบนเว็บไซต์ของนกแอร์ ขณะที่เส้นทางจากกรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-ระนอง และเชียงใหม่ ไปยังอุบลราชธานี, อุดรธานี พบว่า นกแอร์เตรียมใช้เครื่องบินแบบโบอิ้ง 737-800 ทำการบินทดแทน

ADVERTISMENT

ข้อมูลจากฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.สายการบินนกแอร์ ระบุว่า ปี 2562 นกแอร์มีเครื่องบิน Q400 ประจำการในฝูงบินทั้งสิ้น 8 ลำ ก่อนจะทยอยคืนจน ณ สิ้นปี 2565 เหลือ 3 ลำ

ด้าน “ชนเขต บุญญขันธ์” ประธานอาวุโสหอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน และรองประธานพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ หอการค้าไทย บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การยกเลิกเที่ยวบินกรุงเทพฯ-แม่ฮ่องสอน ของสายการบินนกแอร์สร้างผลกระทบต่อจังหวัดแม่ฮ่องสอนในหลายมิติ ทั้งด้านการท่องเที่ยว คมนาคม การดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพ รวมถึงศักยภาพในการเติบโตของจังหวัด

ADVERTISMENT

ทันทีที่นกแอร์หยุดทำการบินการเดินทางระหว่างแม่ฮ่องสอนกับเมืองอื่นจะเหลือเพียงการเดินทางทางบก ซึ่งมีความลำบากมาก เช่น หากต้องการเดินทางไปเชียงใหม่ ใช้เวลาถึง 6-7 ชั่วโมง การส่งต่อผู้ป่วยสู่โรงพยาบาลขนาดใหญ่เป็นไปด้วยความลำบาก

ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบ ซึ่งอาจทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยววัยเกษียณไม่อยากเดินทาง เพราะต้องใช้เวลาเดินทางนาน ทำให้จังหวัดเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวได้จำกัด

“แม้ตลาดท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอนจะตอบโจทย์หลากหลาย แต่หลังจากนกแอร์หยุดบิน เราก็เหลือนักท่องเที่ยวไม่กี่กลุ่ม เอกชนต้องทำงานหนักขึ้น ทั้งหมดมันเป็นเรื่องคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่”

“ชนเขต” บอกด้วยว่า แม้ความยาวของทางวิ่ง (runway) ท่าอากาศยานแม่ฮ่องสอนจะสามารถนำเครื่องบินโบอิ้ง 737 ลงจอดได้ แต่มีปริมาณความต้องการเดินทางไม่มากนัก เครื่องบินขนาดเล็กอาจตอบโจทย์มากกว่า

โดยในอดีตสายการบิน “บางกอกแอร์เวย์ส” เคยเปิดเส้นทางเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน แต่ผู้โดยสารบางรายมองว่าบัตรโดยสารมีราคาสูง ทำให้บางส่วนไม่ใช้บริการ และเมื่อมีผู้ใช้บริการน้อย ผู้ประกอบการก็ปรับขึ้นราคาบัตรโดยสารเพื่อให้ครอบคลุม

“เราเชื่อว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจุดหมายปลายทางที่หลายคนต้องการเดินทางมาเยือน จึงเสนอว่าราคาบัตรโดยสารควรเข้าถึงได้ง่าย และสายการบินสามารถทำการบินได้ รวมถึงสนับสนุนส่วนราชการให้ใช้บริการสายการบินอีกทาง”

และบอกด้วยว่า ตอนนี้หอการค้าจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ (ยกเว้นลำปาง) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แต่ละจังหวัด ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ได้มีการประสานงานและรวมตัวกัน เพื่อให้มีความเข้มแข็งมากพอที่เจรจากับสายการบินให้มาทำการบิน

อย่างน้อยที่สุด เปิดบินเส้นทางเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอนก็ยังดี เพื่อให้เชื่อมต่อไปพื้นที่อื่น ๆ ต่อไปได้