ค่าครองชีพพุ่ง ทำนักท่องเที่ยวลังเล ระหว่างเที่ยวแบบประหยัด หรือรักษ์โลก

เด็ก ๆ กำลังเล่นต้นข้าวในกลางทุ่งนา

Booking.com เผยค่าครองชีพ-เงินเฟ้อพุ่ง ทำนักท่องเที่ยวลังเลว่าจะ “ลดค่าใช้จ่ายการท่องเที่ยว” หรือ “เที่ยวอย่างยั่งยืน” ขณะที่คนไทยกว่าครึ่งมอง “เที่ยวแบบรักษ์โลก” ราคาแพงไป

วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า Booking.com แพลตฟอร์มการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เปิดเผยรายงานการเดินทางอย่างยั่งยืนประจำปี 2566 ที่รวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากความคิดเห็นของผู้เดินทางกว่า 33,000 คนจาก 35 ประเทศ พบว่าผู้เดินทางรู้สึกลังเลใจ เมื่อต้องตัดสินใจเลือกระหว่างการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง กับการพิจารณาเลือกตัวเลือกการเดินทางอย่างยั่งยืนมากขึ้น

โดย 84% ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยมองว่า ผู้คนต้องเริ่มทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาโลกของเราตั้งแต่วันนี้ และเลือกตัวเลือกการเดินทางที่ยั่งยืนมากขึ้นเพื่อปกป้องโลกให้กับคนรุ่นใหม่ ส่วน 42% คิดว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมจะแย่ลงในอีก 6 เดือนข้างหน้า

ส่วน 46% เชื่อว่าวิกฤตค่าครองชีพจะแย่ลง ส่งผลให้ผู้คนไม่แน่ใจว่าควรให้ความสำคัญกับเรื่องใดเป็นอันดับแรก เมื่อต้องพยายามหาสมดุลระหว่างสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นเรื่องสำคัญ กับความจำเป็นในชีวิตประจำวัน

มอง “เที่ยวแบบยั่งยืน” แพงเกินไป

รายงานจาก Booking.com พบว่า อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น และการเปลี่ยนแปลงของสภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ผู้เดินทางกำลังกังวลอยู่กับความคิดที่ว่าพวกเขาต้องเลือกระหว่างความยั่งยืนกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

  • 92% ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยต้องการเดินทางอย่างยั่งยืนมากขึ้นในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ขณะที่ 87% กล่าวว่า วิกฤตพลังงานโลกและค่าครองชีพที่สูงขึ้น กำลังส่งผลกระทบต่อการวางแผนการใช้จ่ายของพวกเขา
  • 53% ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยเชื่อว่าตัวเลือกการเดินทางอย่างยั่งยืนนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป โดยผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มนี้มองว่า การเดินทางและความยั่งยืนอาจไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนนัก เมื่อต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และวิกฤตพลังงาน
  • 71% ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยในปัจจุบันยินดีจ่ายมากขึ้น เพื่อเลือกตัวเลือกการเดินทางที่มีการรับรองแนวทางด้านความยั่งยืน โดยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนั้นก็เพื่อให้มั่นใจว่าตนเองได้ลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มนี้มองว่า ตัวเลือกการเดินทางอย่างยั่งยืนเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องหันมาใส่ใจมากขึ้น

นอกจากนี้ รายงานระบุว่า ผู้เดินทางชาวไทย 70% มองว่า ตัวเลือกการเดินทางอย่างยั่งยืนยังมีไม่เพียงพอ ขณะที่ 83% ของชาวไทยที่ตอบแบบสอบถามต้องการให้บริษัทด้านการเดินทาง เสนอตัวเลือกรักษ์โลก หรือตัวเลือกการเดินทางอย่างยั่งยืนมากขึ้น ส่วน 54% ของผู้เดินทางไม่รู้ว่าจะหาตัวเลือกการเดินทางอย่างยั่งยืนได้จากที่ใด

ชาวไทยปรับตัว รับแนวคิดความยั่งยืน

รายงานจาก Booking.com ระบุว่า ผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยจำนวน 78% เผยว่าข่าวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วงที่ผ่านมากระตุ้นให้พวกเขาหันมาใส่ใจเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น โดย 72% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีพฤติกรรมปิดเครื่องปรับอากาศเมื่อไม่ได้อยู่ในที่พัก (เพิ่มขึ้น 34% จากปี 2565)

นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 43% ใช้ผ้าขนหนูผืนเดิมซ้ำหลายครั้งระหว่างเข้าพัก 76% ปิดไฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าเมื่อไม่ได้อยู่ในที่พัก 51% แยกขยะเพื่อรีไซเคิลเมื่อเดินทางท่องเที่ยว และ 43% วางแผนการเที่ยวชมสถานที่หรือจุดหมายปลายทางที่สามารถเดิน ปั่นจักรยาน หรือใช้บริการขนส่งสาธารณะได้

ต้องยั่งยืนอย่างแท้จริง

ผู้เดินทางได้กลายเป็นผู้บริโภคที่รับผิดชอบมากขึ้น เราจึงเห็นผู้เดินทางในปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้วิธีการแบบใหม่ในการออกเดินทางท่องเที่ยว ส่งผลให้พวกเขามองหาการรับรองมาตรฐานด้านความยั่งยืนที่เชื่อถือได้ ที่ครอบคลุมตัวเลือกการเดินทางทั้งหมด ตั้งแต่ขั้นตอนการจอง ดังนั้น อุตสาหกรรมการเดินทางจึงต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อความคาดหวังที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น

  • 40% มักจะมองหาแบรนด์ที่มีการดำเนินงานโดยยึดหลักความยั่งยืน หรือสนับสนุนเรื่องความยั่งยืน
  • 82% สนใจที่จะค้นหาเพิ่มเติมว่าเหตุใดตัวเลือกนั้น ๆ จึงได้รับการยอมรับว่ามีความยั่งยืนมากกว่าตัวเลือกอื่น เช่น หลอดไฟ LED ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และห้องน้ำที่ใช้ระบบโถสุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ ซึ่งช่วยส่งเสริมการเข้าพักอย่างยั่งยืนได้มากยิ่งขึ้น
  • 81% ต้องการทำให้จุดหมายปลายทางที่พวกเขาเคยไปเยือนนั้นดีขึ้นกว่าที่เคย
  • 85% จะรู้สึกดีกับการเข้าพักมากขึ้น หากทราบว่าที่พักนั้น ๆ ได้รับใบรับรองหรือป้ายสัญลักษณ์สำหรับมาตรฐานด้านความยั่งยืน
  • 79% อยากให้มีตัวกรองที่สามารถคัดเฉพาะที่พักที่ได้รับใบรับรอง หรือป้ายสัญลักษณ์สำหรับมาตรฐานด้านความยั่งยืนในการจองครั้งถัดไป

อย่างไรก็ดี ผู้เดินทางชาวไทย 45% ในปัจจุบันไม่ได้ไว้วางใจว่าตัวเลือกการเดินทางที่ได้รับรองว่ามีมาตรฐานด้านความยั่งยืนจะเป็นตัวเลือกที่ยั่งยืนมากกว่าตัวเลือกอื่น ๆ อย่างแท้จริง

รายงานจาก Booking.com ระบุต่อไปว่า ปัจจุบันมีที่พักมากกว่า 500,000 แห่งทั่วโลกได้รับป้ายสัญลักษณ์ “ที่พักสำหรับเดินทางอย่างยั่งยืน” บน Booking.com เพื่อรับรองและยกย่องแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ยึดหลักความยั่งยืนของแต่ละที่พัก

นอกจากนี้ Booking.com ยังเตรียมแสดงให้ผู้เดินทางเห็นถึงข้อมูลเปรียบเทียบว่าเส้นทางการบินหรือสายการบินไหนนำเสนอตัวเลือกที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่า เพื่อแสดงให้เห็นข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากเที่ยวบินอย่างโปร่งใส และสามารถเปรียบเทียบปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ของแต่ละตัวเลือกได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ การสำรวจข้อมูลนี้จัดทำโดย Booking.com โดยผู้ตอบแบบสอบถามต้องเคยเดินทางอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และต้องกำลังวางแผนการเดินทางในปี 2566 รวมทั้งเป็นผู้ตัดสินใจหลักหรือมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับการเดินทางของตนเอง

แบบสอบถามนี้เปิดให้ตอบผ่านทางออนไลน์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 สำรวจความคิดเห็นกับกลุ่มตัวอย่างผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 33,228 คนใน 35 ประเทศและเขตการปกครอง และมีชาวไทยอยู่ในกลุ่มตัวอย่างดังกล่าว 1,000 คน