“เวลเนส“ ตะวันออกกลางบูม หมอนวดไทยแห่ขุดทอง-ชงแก้กม.รับมือ

หมอนวดไทย

“ชีวาศรม” ชี้ธุรกิจฮอสพิทาลิตี้-เวลเนสตะวันออกกลางขยายตัว ความต้องการแรงงานพุ่ง หนุนหมอนวดไทยแห่ไปทำงาน เผยค่าตัวพุ่ง 4 เท่า ทะลุ 1.2-1.6 แสนบาทต่อเดือน ชงรัฐปลดล็อกกฎหมายต่างชาติเป็นหมอนวด พร้อมกระตุ้นแลกเปลี่ยนแรงงานในอาเซียน สนับสนุนการศึกษาด้านเวลเนส

นายกฤป โรจนเสถียร ประธานและประธานบริหาร ชีวาศรม อินเตอร์เนชั่นแนล เฮลท์ รีสอร์ต เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจฮอสพิทาลิตี้ หรือเฮลท์ แอนด์ เวลเนส ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเป็นผลจากช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา

ผู้ประกอบการบางรายได้ปรับลดจำนวนพนักงานลง แต่เมื่อธุรกิจเริ่มฟื้นตัว แรงงานกลุ่มดังกล่าวยังไม่กลับเข้าสู่อุตสาหกรรม นำไปสู่ภาวะซัพพลายไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าที่มีปริมาณมาก

ขณะเดียวกันธุรกิจฮอสพิทาลิตี้จากประเทศแถบตะวันออกกลางยังอยู่ในช่วงของการขยายตัว และต้องการแรงงานมากขึ้น ทำให้เกิดการซื้อตัวพนักงานนวด สปาเทอราปิสต์ (spa therapist) ชาวไทย โดยจูงใจด้วยรายได้ในระดับสูงถึง 1.2-1.6 แสนบาทต่อเดือน หรือ 4 เท่าจากฐานรายได้ในประเทศไทยราว 30,000 บาทต่อเดือน

แรงงานด้านเวลเนสคนไทยเป็นที่ต้องการมากที่สุด หายากที่สุด ปัจจุบันมีพนักงานโรงแรม หมอนวด สปาชาวไทยเดินทางไปทำงานที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบียเป็นจำนวนมาก” นายกฤปกล่าว และว่า ดังนั้น รัฐบาลไทยควรร่วมกับภาคเอกชนจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมแรงงานด้านท่องเที่ยว โดยอาจเป็นโรงเรียนฝึกเชิงวิชาชีพ มีใบรับรองมาตรฐาน เพื่อป้อนแรงงานเข้าสู่ระบบ

นอกจากนี้ ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความร่วมมือแลกเปลี่ยนแรงงานระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อรองรับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รวมถึงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาค

Advertisment

นายกฤปกล่าวว่า สำหรับชีวาศรมนั้นได้เปิดให้บริการโครงการ “ซูลาล เวลเนส รีสอร์ท โดย ชีวาศรม” ซึ่งเป็นการปักธงธุรกิจฮอสพิทาลิตี้ของชีวาศรมในประเทศกาตาร์เมื่อปีที่ผ่านมา ล่าสุดพบว่ามีผลประกอบการเป็นไปในทิศทางที่ดี

โดยปัจจุบันลูกค้าที่ใช้บริการชีวาศรมแห่งนี้กว่า 70-80% มาจากกลุ่มประเทศที่อยู่ในคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council) 7 ประเทศ เช่น กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต ขณะที่ลูกค้าอีกราว 20-30% มาจากทวีปยุโรป

Advertisment

ขณะเดียวกัน บริษัทยังมองว่าตลาดนักเดินทางจากประเทศในทวีปแอฟริกาด้วย เนื่องจากเป็นตลาดสำคัญ มีกำลังซื้อสูง และมีความต้องการด้านเวลเนสเช่นเดียวกับลูกค้าจากประเทศอื่น ๆ เช่น เคนยา ไนจีเรีย แทนซาเนีย ซึ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว ขณะที่เคนยายังเป็นศูนย์กลางด้านการบินในภูมิภาคอีกด้วย

ส่วนชีวาศรม อินเตอร์เนชั่นแนล เฮลท์ รีสอร์ท อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นั้น ปัจจุบันมีรายได้ราว 70-80% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2562 และนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการมีการใช้จ่ายต่อคนต่อคืนในจำนวนใกล้เคียงกับก่อนการระบาดของโควิด-19 แล้ว

โดยสัดส่วนผู้ใช้บริการเดินทางมาจากประเทศแถบยุโรปตะวันตก เช่น สหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ประมาณ 50% ตามด้วยกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ขณะที่ลูกค้าคนไทยก็เข้าใช้บริการเพิ่มมากขึ้น และมีสัดส่วนสูงกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ไปแล้ว

ขณะที่นายกรด โรจนเสถียร ที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ชีวาศรม อินเตอร์เนชั่นแนล เฮลท์ รีสอร์ท กล่าวเสริมว่า ภาครัฐพิจารณาแก้ไขกฎหมายเปิดรับชาวต่างชาติเข้ามาทำอาชีพหมอนวด ซึ่งปัจจุบันอาชีพดังกล่าวยังเป็นอาชีพสงวนของคนไทย รวมถึงปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนด้านการนวดให้มีตัวเลือกภาษาอังกฤษ เพื่อลดกำแพงด้านภาษาลง ทั้งนี้ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านเวลเนสและการเรียนการสอนด้านเวลเนส

“สำหรับการแก้ไขปัญหาแรงงานไทยไหลไปยังประเทศตะวันออกกลางนั้น ควรใช้วิธีการนำบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านฮอสพิทาลิตี้จากประเทศไทยไปเป็นครูผู้ฝึกสอนให้กับแรงงานในท้องถิ่น สร้างฐานการศึกษาด้านฮอสพิทาลิตี้แบบไทยในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งน่าจะเป็นผลดีกว่าการส่งออกแรงงานไปยังซาอุดีอาระเบีย เพราะอุตสาหกรรมฮอสพิทาลิตี้ของไทยก็ขาดแคลนแรงงานเช่นกัน” นายกรดกล่าว