คอลัมน์ : สัมภาษณ์
สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association) หรือ IATA ประเมินว่าในปี 2567 อุตสาหกรรมการบินของไทยอาจฟื้นตัวเท่าปี 2562 ก่อนโควิดจะระบาด แต่ด้วยเศรษฐกิจโลกที่ยังซึมลึก สงครามที่ยืดเยื้อ ยังคงเป็นลมต้านการเติบโตของอุตสาหกรรม
“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “ปิ่นยศ พิบูลสงคราม” ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทยเวียตเจ็ท ถึงมุมมองที่มีต่ออุตสาหกรรมการบินของไทย รวมถึงแผนและทิศทางการดำเนินงานสำหรับปี 2567 ดังนี้
ปัจจัยลบ (ยัง) รอบด้าน
“ปิ่นยศ” บอกว่า แม้ว่าในปี 2567 นี้อุตสาหกรรมการบินจะยังมีปัจจัยท้าทายรอบด้าน แต่ถือเป็นปีที่น่าสนใจและยังไม่สามารถประเมินได้อย่างชัดเจนว่าแนวโน้มจะไปในทางบวกหรือทางลบ เนื่องจากมีปัจจัยภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องหลายประการ
อย่างแรกคือ สงครามรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-ฮามาส ที่ส่งผลต่อราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นทุนสำคัญของธุรกิจการบิน
“ปัจจุบันราคาน้ำมันอากาศยานอยู่ที่ประมาณ 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งสายการบินมองว่าเริ่มอยู่ในโซนราคาสูง ทั้งนี้ มองว่าหากราคาน้ำมันที่ไม่ผันผวนมากนัก สายการบินก็พอที่จะสามารถบริหารต้นทุนได้”
นอกจากนี้ ในปี 2567 สหรัฐอเมริกาก็กำลังเข้าสู่ฤดูกาลเลือกตั้งประธานาธิบดี ทำให้บริษัทขนาดใหญ่อาจชะลอการตัดสินใจ เศรษฐกิจจีนและญี่ปุ่นเองก็มีสัญญาณเชิงลบ เงินเยนต่อเงินบาทยังอ่อนค่า ทำให้นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเดินทางมาประเทศไทยลดลง
ขณะที่เศรษฐกิจไทยอาจโดนกดดันจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่วนแนวโน้มการเดินทางหลังยุคโควิด-19 พบว่า นักท่องเที่ยวธุรกิจใช้เทคโนโลยีในการพบปะพูดคุยมากขึ้น ทำให้ลดการประชุม-เจรจาแบบตัวต่อตัวลง
“ปัจจัยต่าง ๆ ทำให้สายการบินต้องวางแผนด้วยความระมัดระวัง หากไม่มีภาวะสงคราม ปี 2567 อาจเป็นปีที่สดใส และจีนยังคงเป็นตลาดการท่องเที่ยวสำคัญของอุตสาหกรรมการบินของไทยในปี 2567”
ไฟลต์ในประเทศกลับมา 80-90%
ส่วนปัจจัยบวก “ปิ่นยศ” มองว่า ในปี 2567 ภาครัฐจะยังคงให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่อเนื่อง เช่น ประกาศใช้นโยบายยกเว้นการตรวจลงตราในหนังสือเดินทางแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ อีกทั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยังประชาสัมพันธ์ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
“แม้ปีหน้าจะมีปัจจับลบรอบด้าน แต่ไทยเวียตเจ็ทจะขอเติบโตต่อเนื่อง”
โดยภาพรวมอุตสาหกรรมการบินของไทยมีเที่ยวบินในประเทศกลับมาประมาณ 80-90% เมื่อเทียบกับปี 2562 ขณะที่เที่ยวบินระหว่างประเทศจะค่อย ๆ ฟื้นตัวมากขึ้น
คาดปี 2567 ผู้โดยสาร 9 ล้านคน
ปัจจุบันสายการบินไทยเวียตเจ็ทขนส่งผู้โดยสารแล้วประมาณ 6 ล้านคน และคาดว่าตลอดทั้งปีนี้จะสามารถขนส่งผู้โดยสารได้ที่ประมาณ 7 ล้านคน ซึ่งประเมินว่าจะมีอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน (Aircraft Utilisation) ประมาณ 12 ชั่วโมงต่อวันในไตรมาส 4/2566
ส่วนในปีหน้าสายการบินตั้งเป้าขนส่งผู้โดยสารที่ 9 ล้านคน โดยในไตรมาส 1/2567 สายการบินจะมีปริมาณการผลิตที่นั่งที่ประมาณ 2,200,000 ที่นั่ง ขณะที่ไตรมาสเดียวกันในปี 2562 มีปริมาณการผลิตที่นั่งอยู่ที่ 900,000 ที่นั่ง และมีอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน มากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน
รับเครื่องใหม่ โบอิ้ง 737 Max
“ปิ่นยศ” บอกอีกว่า ปัจจุบันสายการบินไทยเวียตเจ็ท มีเครื่องบินประจำการในฝูงบินทั้งสิ้น 18 ลำ เป็นเครื่องบินแบบแอร์บัส A320 และ A321 รุ่น ceo ทั้งหมด และในปี 2567 ประเมินว่าจะรับเครื่องบินใหม่เข้าประจำการจำนวน 8 ลำ
โดยแบ่งเป็น A321 ceo จำนวน 2 ลำที่เลื่อนจากในปี 2566 และโบอิ้ง 737 Max จำนวน 6 ลำตามแผนการเปลี่ยนแปลงฝูงบินสู่โบอิ้ง 737 Max ที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้
“ในปี 2567 เราอยู่ในโหมดการขยายธุรกิจ และจากที่ได้รับเครื่องบินรุ่นใหม่เข้าประจำการ จะทำให้ผู้โดยสารได้รับประสบการณ์ใหม่ เช่น บริการความบันเทิงบนเที่ยวบิน ผ่านอุปกรณ์ของผู้โดยสาร เที่ยวบินตรงต่อเวลามากขึ้น และสามารถเปิดเส้นทางบินได้ไกลมากขึ้น”
รุกบินจีน-ญี่ปุ่น
สำหรับแผนการขยายเส้นทางบินนั้น “ปิ่นยศ” บอกว่า ปัจจุบันสายการบินได้เปิดให้บริการเส้นทางบินในประเทศครบทุกจุดบินแล้ว ดังนั้นในปี 2567 สายการบินอาจเน้นการปรับความถี่เที่ยวบินให้เหมาะสมมากขึ้น ขณะที่เส้นทางระหว่างประเทศจะเน้นขยายเส้นทางบินสู่จีนและญี่ปุ่น
ทั้งนี้ เนื่องจากสายการบินเคยมีตัวแทนการขายในประเทศจีน อีกทั้งการเปิดทำการขายบัตรโดยสารเองอาจทำให้มีผู้โดยสารชาวไทยต่อชาวจีนที่ 20 : 80
โดยในไตรมาส 4/2566 ถึงไตรมาส 1/2567 ไทยเวียตเจ็ทเตรียมเปิดเส้นทางบิน กรุงเทพฯ สู่ เซี่ยงไฮ้-ผู่ตง (PVG), กว่างโจว (CAN), หางโจว (HGH), เฉิงตู-เทียนฝู่ (TFU), ปักกิ่ง-ต้าซิง (PKX), กรุงเทพฯ และภูเก็ต สู่เจิ้งโจว (CGO)
“ไทยเวียตเจ็ทได้ทำการบินเที่ยวบินเช่าเหมาลำสู่ประเทศจีนอยู่แล้ว เช่น หนิงโป, ไหโข่ว, ฉางชา รวมถึง 5 เส้นทางที่กล่าวไปข้างต้น”
นอกจากนี้ ยังเตรียมเปิดเส้นทางกรุงเทพฯ-ไทเป-ชิโตเสะ (ญี่ปุ่น) ในช่วงไตรมาส 1/2567 ซึ่งตรงกับฤดูกาลท่องเที่ยวของฮอกไกโด
“เส้นทางบินสู่ประเทศญี่ปุ่นอีกเส้นทางอย่างเชียงใหม่-โอซากา ถือว่าเป็นเส้นทางที่ไม่ง่าย จากเดิมเราเคยประเมินว่าผู้โดยสารส่วนใหญ่จะเป็นชาวญี่ปุ่น ครองสัดส่วนสูงถึง 60% แต่ในความเป็นจริงผู้โดยสารส่วนใหญ่ 90% เป็นชาวไทย และปัจจุบันมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารราว 70% ซึ่งเราต้องการเห็นอัตราดังกล่าวเติบโตมากขึ้นไปอีก”
ฝากรัฐอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว
“ปิ่นยศ” กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดจีนเป็นหนึ่งในตลาดที่สำคัญต่อธุรกิจสายการบิน การต่ออายุมาตรการอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว เช่น การยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางแก่นักท่องเที่ยวชั่วคราว ออกไปอีก 1-2 ไตรมาสถือเป็นเรื่องดีมาก ๆ
รวมถึงประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวไทย และการจัดกิจกรรมต่าง ๆ จะถือเป็นสารที่ส่งต่อและเชื้อเชิญให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนประเทศไทย
พร้อมทิ้งท้ายว่า อีกประเด็นที่ขอฝากภาครัฐให้พิจารณาคือ การอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว เช่น ประสบการณ์ที่สนามบินร่วมด้วย