
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ ผู้เขียน : ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า
เป็นประเด็นที่คาใจและมีคำถามมากมายสำหรับเรื่องที่รัฐบาล โดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ประกาศชะลอเก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน”
ตามที่ที่ประชุม ครม. เมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2566 (บิ๊กตู่-ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี) มีมติเห็นชอบให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ซึ่งมี “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” เป็นรัฐมนตรีว่าการในเวลานั้น ดำเนินการจัดเก็บในอัตรา 300 บาทต่อครั้งสำหรับการเดินทางทางอากาศ และ 150 บาทต่อครั้งสำหรับการเดินทางผ่านทางทางบกและทางน้ำ
โดยให้เหตุผลของการชะลอจัดเก็บว่า ตอนนี้ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงที่ต้องประชาสัมพันธ์ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ การเก็บค่าเหยียบแผ่นดินจึงอาจกระทบต่อความรู้สึกของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
แต่ก็ยอมรับว่าอัตราการจัดเก็บไม่ได้เป็นจำนวนเงินที่มากมายนัก
ประเด็นนี้ถ้าจำกันได้ที่ประชุม ครม. เมื่อ 14 ก.พ. 66 ระบุว่าให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เริ่มจัดเก็บในวันที่ 1 มิ.ย. 66 แต่ด้วยเหตุผลความไม่พร้อมจึงได้เลื่อนเป็น 1 ม.ค. 67
การชะลอเก็บครั้งนี้ทำให้หลายคนมองว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่อยากเดินตามนโยบายรัฐบาลชุดก่อนซึ่งเป็นผลงานของ “พรรคภูมิใจไทย”
กลายเป็นประเด็น “การเมือง” ไปซะงั้น
แต่อาจลืมคิดในประเด็นที่ว่า “ประเทศ” เสียประโยชน์ และเสียโอกาสอะไรบ้าง
ดิฉันได้พูดคุยกับผู้คลุกคลีในธุรกิจท่องเที่ยวหลายคน มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย คนที่เห็นด้วยส่วนใหญ่เข้าใจที่มาที่ไปว่าเราอยากลดงบประมาณแผ่นดินที่ต้องเอามาดูแลเยียวยานักท่องเที่ยว และอยากให้มีงบดูแล พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม และเชื่อว่า 300 บาทไม่มีผลต่อการตัดสินใจไม่มาเมืองไทย
ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยส่วนใหญ่ไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมายเลยกังวลว่าถ้าเก็บ 300 บาทนักท่องเที่ยวจะไม่มา
ส่วนตัวดิฉันเองมองว่า 300 บาทไม่น่าจะมีผลต่อการตัดสินใจไม่มาเมืองไทย เพราะที่ผ่านมารัฐบาลประกาศตลอดว่า “ประเทศไทย” เป็นจุดหมายปลายทางในอันดับต้นๆ ที่ทั่วโลกอยากมา และเทรนด์นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาก็เป็นกลุ่มคุณภาพมีกำลังใช้จ่ายมากกว่าในอดีต
ที่สำคัญ พวกนี้เข้ามาเที่ยว เข้ามามีส่วนทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเก็บเงินพวกเขามาใช้เพื่อดูแลแหล่งท่องเที่ยวก็สมเหตุสมผลดี
แถมยังได้ “ประกันชีวิต” ดูแลตลอดระยะเวลาที่อยู่ในประเทศไทยเป็นของแถมอีกด้วย
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนสนับสนุนและส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศทั้งสิ้น
และไม่เข้าใจว่ารัฐบาลคิดอะไร?
จะเก็บ 300 บาทแต่กลัวนักท่องเที่ยวไม่มา แต่พอผู้ประกอบการทำ “ราคาถูก” เพื่อกระตุ้นนักท่องเที่ยวเข้ามา กลับถูกมองว่าเป็น “ทัวร์ศูนย์เหรียญ”
เอ๊ะ แล้วยังงัย!
ฟังแล้วสับสน ลองคิดทบทวนใหม่กันอีกสักครั้งไหมคะ