เปิด 8 เหตุผลที่ควรเร่งจัดเก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน”

นักท่องเที่ยว

ในที่สุดแผนการจัดเก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” หรือค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ (TTF) จำนวน 300 บาทต่อครั้ง สำหรับการเดินทางทางอากาศ และ 150 บาทต่อครั้ง สำหรับการเดินทางผ่านทางทางบกและทางน้ำ ก็ยังไม่สามารถเดินหน้าจัดเก็บได้

ทั้ง ๆ ที่แผนการดำเนินการจัดเก็บทั้งหมดผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปตั้งแต่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 ตามที่คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) นำเสนอ โดยครั้งแรกกำหนดวันเริ่มจัดเก็บ 1 มิถุนายน 2566 จากนั้นได้เลื่อนเป็นเริ่ม 1 มกราคม 2567 นี้

หวั่นกระทบความรู้สึกนักท่องเที่ยวต่างชาติ

“สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนล่าสุดเมื่อ 21 ธันวาคม 2566 ว่านโยบายการจัดเก็บค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้นเป็นนโยบายของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา แต่เนื่องจากปัจจุบันไทยอยู่ในช่วงที่ต้องการประชาสัมพันธ์ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางมาเยือน จึงต้องชะลอการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวออกไปก่อน

โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากมองว่าแม้ว่าอัตราการจัดเก็บจะไม่ใช่จำนวนเงินที่มาก แต่อาจกระทบต่อความรู้สึกของนักท่องเที่ยวต่างชาติได้

“ยืนยันว่าไม่ได้ยกเลิกการจัดเก็บค่าธรรมเนียม เป็นเพียงแค่การชะลอออกไปก่อนเท่านั้น”

และบอกว่ากระทรวงการท่องเที่ยวฯ เตรียมยื่นขอจัดสรรงบกลางวงเงิน 50 ล้านบาท เพื่อดูแลนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยในกรณีประสบอุบัติเหตุแทน โดยในกรณีนักท่องเที่ยวต่างชาติเสียชีวิตจะมีวงเงินดูแล 1 ล้านบาทต่อราย และในกรณีบาดเจ็บมีวงเงินค่ารักษาพยาบาลตามจริง และไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย

โดยหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขให้ประสานงานกับโรงพยาบาลให้เบิกค่าใช้จ่ายกับภาครัฐโดยตรง นักท่องเที่ยวไม่ต้องสำรองจ่ายไปก่อน

และย้ำว่า แนวทางดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะเสนอเรื่องของบกลางดังกล่าวในสัปดาห์หน้า

กฎหมายระบุชัดให้เก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน”

ประเด็นดังกล่าวนี้ แหล่งข่าวในวงการท่องเที่ยวหลายคน บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ในทิศทางเดียวกันว่า รัฐบาลไม่ควรชะลอการจัดเก็บอีกแล้ว เพราะได้เลื่อนมาหลายครั้งแล้ว จากเดิมเมื่อผ่าน ครม. รัฐบาลกำหนดให้จัดเก็บ 1 มิถุนายน 2566 จากนั้นได้เลื่อนมา 1 กันยายน 2566 และล่าสุดกำหนดไว้ที่ 1 มกราคม 2567

และที่สำคัญ แนวทางดังกล่าวยังเป็นไปตามพระราชาบัญญัติ (พ.ร.บ.) นโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ซึ่งให้คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) นำเสนอให้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อนำมาใช้จ่ายในการบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยว รวมทั้งจัดให้มีประกันภัยแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติในระหว่างเที่ยวภายในประเทศไทย

นอกจากนี้ สาระสำคัญใน (พ.ร.บ.) นโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ ยังบัญญัติให้จัดตั้ง “กองทุนเพื่อส่งเสริมท่องเที่ยวไทย” เพื่อใช้ในการพัฒนาการท่องเที่ยว การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมถึงการพัฒนาทักษะด้านการบริหารจัดการ การตลาด การอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติ การดูแลแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน และการประกันภัยนักท่องเที่ยว

และบอกด้วยว่า เท่าที่ได้รับข้อมูลที่ผ่านมาคนทำงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องพร้อมเดินหน้าจัดเก็บแล้ว และไม่เข้าใจว่ารัฐบาลมีเหตุผลอะไรที่ออกมาประกาศชะลอการจัดเก็บอีกครั้ง และมองว่าการออกมาแถลงข่าวว่ารัฐบาลกังวลว่าอาจกระทบต่อความรู้สึกของนักท่องเที่ยวนั้นไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่สมเหตุสมผลนัก

เพราะที่ผ่านมารัฐบาลได้ทำการศึกษา วิเคราะห์ วิจัยแล้วว่าอัตราการจัดเก็บที่ 300 บาทคต่อคน สำหรับการเดินทางทางอากาศ และ 150 บาทต่อคน สำหรับการเดินทางทางน้ำและทางบก ไม่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจเดินทางของนักท่องเที่ยว

เรียกว่า กระบวนการทั้งหมดได้ผ่านกระบวนการที่สรุปว่า “กระทบ” หรือ “ไม่กระทบ” ไปนานแล้ว

เปิด 8 ข้อดีของ “ค่าเหยียบแผ่นดิน”

สอดรับกับ “สุรวัช อัครวรมาศ” รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และ 1 ในคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าในฐานะผู้ที่ทำงานและร่วมประชุมในการขับเคลื่อน พ.ร.บ.นโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ และขับเคลื่อนการจัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมท่องเที่ยวไทยมาโดยตลอดมองว่ารัฐบาลควรเดินหน้าจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินได้แล้ว

เพราะที่ผ่านมาคณะทำงานได้ทำการศึกษาแล้วว่าอัตราการจัดเก็บ 300 บาทไม่ส่งผลกระทบกับการตัดสินใจของนักท่องเที่ยว

และอยากให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องพิจารณาและทำความเข้าใจกับเจตนารมย์ พ.ร.บ.นโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติให้ดี และเชื่อว่าหากพิจารณาวัตถุประสงค์จะเห็นว่าการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินนั้นเป็นประโยชน์กับประเทศมากกว่า

กล่าวคือ 1.ลดภาระงบประมาณในการดูแลเยียวยานักท่องเที่ยว เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลสูญเสียงบประมาณแผ่นดินประมาณ 300-400 ล้านบาท (ดูแลด้านสาธารณสุข) จากการเก็บค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลไม่เต็มจำนวน หรือส่วนที่ต่างชาติเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาแล้วไม่มีเงินจ่าย

2.รายได้จากการจัดเก็บจะนำมาเป็นงบประมาณสำหรับการดูแลแหล่งท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดความเสื่อมโทรมจากการท่องเที่ยว 3.เป็นรายได้สำหรับการดูแลพัฒนาสาธารณูปโภคที่จะสนับสนุนการท่องเที่ยวให้ปลอดภัย

4.สำหรับเป็นทุนหมุนเวียนในการพัฒนาการท่องเที่ยว 5.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 6.ใช้สำหรับการพัฒนาทักษะด้านการบริหาร การตลาด หรืออนุรักษ์ทรัพยากรท่องเที่ยวในชุมชน 7.ส่งเสริมสินค้าทางการท่องเที่ยวใหม่ในท้องถิ่น

และ 8.จัดสรรส่วนหนึ่งไปทำประกันภัยให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ (ประกันอุบัติเหตุ) หรือดูแลเยียวยานักท่องเที่ยว เหมือนกับ “กองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ” ที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือเยียวยาและสร้างความพึงพอใจให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งทำให้เกิดความเชื่อมั่นและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีด้านการท่องเที่ยวของประเทศ

เสนอฟื้น “กองทุนช่วยเหลือเยียวยาฯ”

“สุรวัช” ให้ข้อมูลด้วยว่าประเทศไทยทำการยุบกองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไปเมื่อกันยายน 2565 โดยให้เหตุผลว่าในตอนนั้นว่าจะมีกองทุนใหม่ตามกฎหมายเกิดขึ้น ซึ่งเงินกองทุนจะมาจากการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน

แต่ที่ผ่านมากว่า 1 ปีแล้วการดำเนินการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ กองทุนกองทุนเพื่อส่งเสริมท่องเที่ยวไทยก็ไม่เกิด นักท่องเที่ยวเข้ามาประสบเหตุในประเทศไทยหลายต่อหลายครั้ง คนที่มีประกันส่วนตัวก็จะได้รับการดูแลจากประกัน หากใครที่ไม่มีประกันหรือมีแต่ไม่เพียงพอภาระก็จะตกอยู่ที่ผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ต้องดูแลและเยียวยานักท่องเที่ยว เพราะรัฐบาลไม่มีกองทุนใดที่จะมาดูแล

และอธิบายว่า หลาย ๆ กรณีที่ผ่านมานักท่องเที่ยวประสบเหตุ แม้จะมีประกันส่วนตัวจ่ายค่าโรงพยาบาล แต่หากนักท่องเที่ยวมีความจำเป็นต้องพักพื้นต่อต้องรับภาระค่าใช้จ่าย ทั้งค่าโรงแรม ค่าอาหาร ฯลฯ เอง ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ประกอบการ เช่น บริษัททัวร์ รถขนส่ง แหล่งท่องเที่ยว ต้องร่วมดูแลนักท่องเที่ยว หรือหากญาติผู้ประสบเหตุต้องการเดินทางมาดูแลก็ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองหรือผู้ประกอบการร่วมรับผิดชอบ

พร้อมย้ำว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการชะลอการจัดเก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” และไปเอางบกลางซึ่งเป็นภาษีของประชาชนไปดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือไม่อยากให้รัฐบาลพิจารณาฟื้น “กองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวต่างชาติ” เดิมกลับมาใช้ไปก่อนจนกว่าจะสามารถจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินและจัดตั้งกองทุนใหม่ได้