4 นโยบายหลัก บูตส์เมืองรองเพิ่มการใช่จ่ายนักท่องเที่ยวปั๊ม “รายได้”

บูตส์เมืองรอง

คาดการณ์กันว่าปี 2566 นี้ประเทศไทยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 27 ล้านคน สร้างรายได้ที่ราว 1.2 ล้านล้านบาท และมีรายได้จากการท่องเที่ยวภายในประเทศอีกราว 8 แสนล้านบาท รวมทั้งหมดประมาณ 2 ล้านล้านบาท

ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 2.3 ล้านล้านบาท

เศรษฐา มอบ 4 นโยบายหลัก

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตตรีได้เรียกประชุมภาคการท่องเที่ยว ตั้งแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ผู้บริหารการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พร้อมทั้งสำนักงานในประเทศทั้ง 45 แห่ง เพื่อรับนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ เมื่อ 13 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา

โดยย้ำว่า การท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญสูงสุด เพราะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งนโยบายด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาลเป็นไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการจ้างงาน และกระจายรายได้ให้กับประชาชนผ่าน 4 แนวทางหลัก

ประกอบด้วย 1.กระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง โดยเร่งกระตุ้นการเดินทาง การจับจ่ายในเมืองรองทั่วประเทศ ไม่ใช่กระตุ้นเฉพาะในพื้นที่เศรษฐกิจหลัก เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ หัวหิน

โดยเน้นนำจุดเด่นของแต่ละพื้นที่มาดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้าง Landmark ใหม่ ๆ และเฟ้นหาผลิตภัณฑ์ที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ ซึ่งหมายรวมถึงวัฒนธรรม อาหาร พร้อมหาจุดแข็ง Soft Power ของแต่ละพื้นที่

2.ทำให้ประเทศไทยเที่ยวได้ทั้งปี โดยสั่งให้ ททท.ทำการบ้าน วางงบประมาณที่เหมาะสมเพื่อโปรโมต ดึงดูดนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวให้ได้ตลอดทั้งปี เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ และมีความสม่ำเสมอของรายได้ของแรงงานในอุตสาหกรรม

3.อำนวยความสะดวกด้านการเข้าถึงข้อมูลการท่องเที่ยว โดยขอให้วิเคราะห์นักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย มีเว็บไซต์นำเสนอข้อมูลที่เข้าใจง่าย ยึดนักท่องเที่ยวเป็นศูนย์กลาง และคำนึงว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยกำลังแข่งขันกับอีกหลายประเทศ

รวมถึงให้ความสำคัญการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพราะเชื่อว่าจะเป็นเทรนด์ต่อไปในอนาคต

และ 4.เพิ่มค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อทริป ซึ่งประเด็นค่าใช้จ่ายต่อคนต่อวันเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นต้องทำให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามามีระยะเวลาพำนักนานขึ้น

ทั้งนี้ มองว่าจำนวนเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจะเป็นตัวสะท้อนถึงผลสำเร็จจากการท่องเที่ยวมากกว่าจำนวนยอดนักท่องเที่ยว

ปลุกพื้นที่รองเมืองหลัก-เมืองรอง

ด้าน “สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ บอกว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินงานบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ให้ก้าวข้ามความท้าทาย และข้อจำกัด เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการเดินทางของนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

โดยในปี 2566 นี้ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย 27 ล้านคน และมีคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศจำนวน 185 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้รวมให้แก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 2 ล้านล้านบาท

และในปี 2567 นี้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ พร้อมจะขับเคลื่อนนโยบายของนายกรัฐมนตรี ในการกระตุ้นให้เกิดการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวไทย เพื่อก่อให้เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนท่องเที่ยว โดยเฉพาะ “พื้นที่รองในเมืองหลัก” รวมถึงการผลักดันให้เกิดกระแสการท่องเที่ยวใน “เมืองรอง”

มั่นใจรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ

สำหรับเรื่องงบประมาณนั้น “สุดาวรรณ” บอกว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าต้องใช้มากน้อยเท่าไหร่ เพราะต้องหารือในภาพรวมร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องก่อน อย่างไรก็ตาม ตอนนี้จะใช้งบฯที่มีอยู่ให้ดีที่สุดก่อน

หากในอนาคตต้องการใช้งบประมาณมากขึ้นก็ต้องเรียนนายกรัฐมนตรีต่อไป และเชื่อว่านายกรัฐมนตรีก็จะสนับสนุนเพราะรัฐบาลมองว่าการท่องเที่ยวเป็นเรื่องสำคัญ

มุ่งเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อคน/ทริป

ขณะที่ “ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า การประชุมดังกล่าวนับเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลได้มาร่วมกำหนดทิศทาง การส่งเสริม การท่องเที่ยวประเทศไทยร่วมกัน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ทั้งนี้ ตัวชี้วัดคือการให้ความสำคัญเกี่ยวกับการใช้จ่ายต่อทริปให้สูงขึ้น และเพิ่มจำนวนวันพักให้อยู่นานขึ้น ซึ่งจะทำให้มีการใช้จ่ายต่อหัวเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในภาคเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ ในปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 นักท่องเที่ยวต่างชาติมีค่าใช้จ่ายการท่องเที่ยวเฉลี่ย 5,100 บาทต่อคนต่อวัน และในปี 2567 ททท.ตั้งเป้าหมาย นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีค่าใช้จ่าย 54,800 บาท ต่อคนต่อทริป

“นายกรัฐมนตรีให้โจทย์ว่าต้องการดึงดูดนักท่องเที่ยวไปยังสถานที่ใหม่ ๆ ซึ่งอาจทำให้นักท่องเที่ยวมีระยะเวลาพำนักในประเทศไทยนานมากขึ้น ใช้จ่ายสูงขึ้น และอาจทำให้เกิดการกระจายรายได้ไปยังเมืองรอง”

โดยในช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2566 พบว่า รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 43,000 บาทต่อคนต่อทริป วันพำนักอยู่ที่ 9 วัน หรือเฉลี่ยประมาณ 4,700 บาทต่อคนต่อวัน”

365 วันมหัศจรรย์เที่ยวเมืองรอง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเมืองรองนั้น “ฐาปนีย์” บอกว่า ททท.เริ่มส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองอย่างเข้มข้นมาตั้งแต่ปี 2548 โดยคิกออฟจากโครงการ “12 เมืองต้องห้ามพลาด” พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนคอนเซ็ปต์การทำการตลาดให้สอดรับกับสถานการณ์

ตั้งแต่ 12 เมืองต้องห้ามพลาด, 12 เมืองต้องห้ามพลาด Plus, เมืองรอง ต้องลอง, เมืองรอง ต้องไป, เปิดประสบการณ์ใหม่ เที่ยวเมืองรองมิรู้ลืม โดยมีเป้าหมายทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวคนไทย

สำหรับปี 2567 นี้ ยังคงดำเนินการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองในพื้นที่ 55 จังหวัดเหมือนเดิม โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนขึ้น และต่อยอดธีม “365 วันเมืองไทยเที่ยวได้ทุกวัน” และ “365 วันมหัศจรรย์เที่ยวเมืองรอง”

มุ่งเน้นการบอกต่อประสบการณ์ที่ทรงคุณค่า และสะท้อนอัตลักษณ์ของเมืองรอง (Meaningful+Storytelling) ในเรื่องของงานเทศกาลประเพณีและอาหารถิ่น โดยทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

นอกจากนี้ ยังได้ทำงานร่วมกับหอการค้าไทยยกระดับเมืองรองให้เป็นเมืองเศรษฐกิจ หรือเมืองหลัก จำนวน 10 เมือง โดยหอการค้าจะพิจารณาในเรื่องการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจและการลงทุน

เสนอให้อินเซนทีฟบูมเมืองรอง

“ฐาปนีย์” บอกด้วยว่า นอกจากนี้ ในส่วนของการกระตุ้นเมืองรองในอนาคตอาจใช้โมเดลใช้มาตรการสนับสนุน หรือ Incentive เพื่อดึงดูดสายการบินจากต่างชาติ เช่น รัสเซีย ให้เลือกเปิดเที่ยวบินเชื่อมสนามบินอื่น ๆ นอกเหนือกรุงเทพฯ ภูเก็ตเป็นต้น

ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างการศึกษามาตรการออกวีซ่าสำหรับเข้าออกหลายครั้ง (Multiple Entry Visa) ให้กับนักท่องเที่ยวที่อาจต้องการเที่ยวประเทศไทย ประเทศเพื่อนบ้าน และกลับมาเที่ยวประเทศไทย

สอดรับกับ “อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์” เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ที่บอกว่า นอกเหนือจากมาตรการด้านวีซ่า หรือวีซ่าฟรีแล้ว รัฐบาลควรมีมาตรการอื่น ๆ ออกมาช่วยกระตุ้นและดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวประเทศไทยได้เพิ่มมากขึ้น เช่น การให้อินเซนทีฟสายการบินที่ทำการบินในเส้นทางสู่สนามบินเมืองรอง เช่น สนามบินเชียงใหม่ อู่ตะเภา

หรือสนามบินอื่น ๆ ซึ่งนอกจากจะช่วยเรื่องของคาพาซิตี้ในการรองรับของสนามบินหลักอย่างสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ตแล้ว ยังสามารถกระจายนักท่องเที่ยวออกสู่เมืองรองได้

ดังนั้น สำหรับมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว บางครั้งไม่จำเป็นต้องเป็นมาตรการเดียวทั่วประเทศก็ได้ นั่นหมายความว่า เราสามารถบริหารจัดการนักท่องเที่ยวจำนวนนักท่องเที่ยวให้สอดรับกับซัพพลายในแต่ละพื้นที่ได้