สถาบันด้านสุขภาพสากล ชี้การดูแลสุขภาพทั่วโลก มีแนวโน้มขยายตัวอย่างสูง 8.6% ต่อปี มีมูลค่าตลาดสูงกว่า 8.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดปี 2568 เศรษฐกิจเพื่อสุขภาพทั่วโลกจะมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 230 ล้านล้านบาท
วันที่ 3 สิงหาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันเทรนด์การดูแลสุขภาพยังเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นต้นมา อีกทั้งในปัจจุบันหลายประเทศได้เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย (Aging Society) โดยเฉพาะประเทศไทยเองนั้นได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบแล้วในปี 2567 หลังจากมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไปแตะ 13 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ นั่นจึงทำให้คนส่วนใหญ่หันมาให้ความสนใจกับการดูแลสุขภาพมากขึ้นตามไปด้วย
ข้อมูลล่าสุดของสถาบันด้านสุขภาพสากล หรือ Global Wellness Institute (GWI) ประเมินภาพรวมของเศรษฐกิจด้านการดูแลสุขภาพทั่วโลก มีแนวโน้มขยายตัวอย่างสูง 8.6% ต่อปีจนถึงปี 2027 โดยมีมูลค่าตลาดสูงกว่า 8.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยถึง 306 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2020 และสูงกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
ขณะที่ในปี 2568 คาดว่าเศรษฐกิจเพื่อสุขภาพทั่วโลกจะมีมูลค่าอย่างน้อย 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 230 ล้านล้านบาท
นายศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการบริหาร บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ในฐานผู้จัดงาน INTERCARE ASIA 2024 (อินเตอร์แคร์ เอเชีย) ให้ข้อมูลว่า สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันนั้น ตลาดสินค้า อาหาร และผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ ก็ยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นตามทิศทางของเศรษฐกิจการดูแลสุขภาพของโลก
เช่นเดียวกับธุรกิจท่องเที่ยวและการบริการด้านสุขภาพที่มีทิศทางเติบโตอย่างต่อเนื่องจากอานิสงส์ของภาวะเศรษฐกิจที่ค่อย ๆ ฟื้นตัว โดยที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขประเมินมูลค่าตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยอาจแตะระดับ 5 แสนล้านบาทในปี 2567 หรือเติบโตเฉลี่ยต่อปีคิดเป็น 13.7%
มากไปกว่านั้นหากมองตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวิตามินของประเทศไทย ในปัจจุบันก็ยังมีทิศทางการเติบโตที่สดใส โดยที่ผ่านมาจากข้อมูลของ Euro Monitor พบว่าปี 2559 ตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวิตามินของประเทศไทย มีมูลค่า 53,810 ล้านบาท ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 74,247 ล้านบาท ในปี 2564 และในช่วงต่อจากนี้ยังมีแนวโน้มขยายตัวดี และคาดว่าในปี 2567 ตลาดเสริมอาหารจะมีมูลค่า 83,330 ล้านบาท หรือเติบโตถึง 7.1%
ขณะที่ตลาดเครื่องดื่มและอาหารเพื่อสุขภาพของไทยที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ว่าเป็นตลาดที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยตลาดมีมูลค่ากว่า 2.9 ล้านล้านบาท และที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งนั่นคือ ตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ เบื้องต้นมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2567 ตลาดของคนกลุ่มนี้อาจจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 34,000 ล้านบาท หรือขยายตัวประมาณ 6% จากปีที่ผ่านมา
จากสถานการณ์ข้างต้น ประกอบกับแนวโน้มความต้องการดูแลสุขภาพของผู้บริโภคที่กำลังขยายตัวได้ดี ถือเป็นแรงหนุนสำคัญสำหรับธุรกิจที่พยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริหาร รวมไปถึงนวัตกรรมมากมายเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคหลากหลายกลุ่ม ตัวอย่างเช่น
กลุ่มของผลิตภัณฑ์อาหาร จากข้อมูลของสภาข้อมูลอาหารนานาชาติ หรือ International Food Information Council (IFIC) คาดการณ์แนวโน้มความนิยมด้านอาหารที่จะมาแรงในปี 2567 อาทิ อาหารที่มีผลต่อจิตใจผู้บริโภคว่าเมื่อรับประทานแล้วจะทำให้สุขภาพดี อาหารที่ช่วยในเรื่องของการปรับสมดุลในร่างกายพร้อมทั้งให้ความสดชื่น โปรตีนจากพืชที่มาในรูปแบบของขนมทานเล่น และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีฉลากชัดเจนส่งต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค เป็นต้น
ขณะเดียวกัน เทคโนโลยี AI ก็กำลังเข้ามามีบทบาทต่อผู้บริโภคเกี่ยวกับการเลือกรับประทานอาหาร นั่นเพราะผู้บริโภคอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น พวกเขาสามารถเข้าถึงและค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอาหารเพื่อสุขภาพว่าอาหารที่รับประทานนั้นปลอดภัยและมีประโยชน์ต่อร่างกายหรือไม่
ยกตัวอย่างเช่น ChatGPT หนึ่งในรูปแบบของโปรแกรมแชตบอต AI ที่สามารถใช้งานและตอบโจทย์ได้ทุกคำถามหรือข้อสงสัยจากผู้ใช้ได้ โดย ChatGPT สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับอาหารและโภชนาการ ช่วยในเรื่องของการวางแผนมื้ออาหาร และปรับปรุงนิสัยการกินของผู้ใช้โปรแกรมได้
รวมไปถึงเทรนด์อาหารบนโซเชียลมีเดีย จากข้อมูลการสำรวจของ IFIC เกี่ยวกับอิทธิพลของโซเชียลมีเดียที่มีต่อผู้บริโภคชาวอเมริกัน พบว่า 51% มีการทดลองสูตรอาหารใหม่ 42% ได้ลองแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ 29% ได้ลองร้านอาหารใหม่ 28% กลับมาทบทวนอีกครั้งถึงอาหารที่พวกเขารับประทานไป
และ 6 ใน 10 กล่าวว่าพวกเขาตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้นโดยเป็นผลมาจากข้อมูลที่พวกเขาเห็นบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งพฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศไทยเองก็มีลักษณะไม่แตกต่างกัน
อย่างไรก็ดี หากใครที่สนใจสินค้า และบริการ รวมถึงนวัตกรรมทางด้านสุขภาพแบบเจาะลึก สามารถเข้าร่วมชมเลือกช็อปได้ที่งาน INTERCARE ASIA 2024 งานแสดงสินค้าและนวัตกรรมเพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตสำหรับทุกวัย ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 สิงหาคม 2567 ณ ฮอลล์ 5 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) ถือเป็นงานประจำปีที่ยิ่งใหญ่และครบวงจรที่สุด
ภายในงานได้รวบรวมสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องในหมวดต่าง ๆ อาทิ เครื่องลู้วิ่งสายพานใต้น้ำ จักรยานในสระว่ายน้ำ ที่จะช่วยให้การออกกำลังกายเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าที่เคย, เยลลี่พร้อมทาน นุ่ม ลื่น กลืนง่าย มีสารอาหารครบ 5 หมู่ เหมาะสำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่มีปัญหากลืนลำบาก สำลักง่าย, อุปกรณ์ช่วยลุกยืน และเคลื่อนย้ายผู้ป่วย, ผลิตภัณฑ์ Prediawell
สำหรับผู้ป่วยไตเสื่อมเรื้อรังระยะยังไม่ต้องฟอกไตอาหาร, เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อุปกรณ์และสินค้าเพื่อความงาม ศูนย์ดูแลสุขภาพและความงาม สปา แพ็กเกจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ แพ็กเกจท่องเที่ยววัยเกษียณ และแพ็กเกจที่พักแบบ long stay เป็นต้น