“ไทยแอร์เอเชีย” พลิกเกม ใคร ๆ ก็บินได้ (อีกครั้ง)

สัมภาษณ์พิเศษ

“ไทยแอร์เอเชีย” พลิกเกมใคร ๆ ก็บินได้ (อีกครั้ง)ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา “แอร์เอเชีย” คือผู้กำหนดเกมการตลาดของธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) ขยับตัวแต่ละครั้งสะเทือนทั้งอุตสาหกรรมการบิน ทั้งเพื่อนร่วมแวดวงสายการบินต้นทุนต่ำไปจนถึงเพื่อนร่วมฟ้าเดียวกันรายอื่น ๆ แต่เมื่อเจอกับวิกฤตโควิด-19 รอบนี้”แอร์เอเชีย” ก็รับผลกระทบไม่แพ้ใคร จึงเป็นที่จับตาว่า “game changer” ครั้งนี้ของแอร์เอเชีย จะพลิกเกมและเอาตัวรอดจากการถูกดิสรัปต์โดยโควิด-19 อย่างไร

หนักหนาที่สุดในรอบ 17 ปี

“ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทไทยแอร์เอเชียให้สัมภาษณ์ว่า นับตั้งแต่เปิดให้บริการมา 17 ปี วิกฤตครั้งนี้เป็นครั้งที่หนักที่สุด เพราะสายการบินเป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนสูง ค่าใช้จ่ายก็สูงโดยเฉพาะต้นทุนเรื่องคนทำให้เมื่อโควิด-19 เริ่มแพร่กระจายไปในหลาย ๆ ประเทศแอร์เอเชียจึงจำเป็นจะต้องหยุดให้บริการทั้งหมด เช่นเดียวกับธุรกิจอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร สปา ฯลฯ แต่แอร์เอเชียมีความโชคดีที่ได้ขายเครื่องบินออกไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมาราว 6 ลำ และใช้วิธีเช่ากลับมาแทน ทำให้มีกระแสเงินสดที่เก็บอยู่บางส่วน เพียงพอกับการใช้เป็นค่าใช้จ่ายและอยู่ได้3-4 เดือน แต่ขณะนี้ใกล้จะหมดแล้ว

ตอนนี้กลุ่มสายการบินกำลังเฝ้ารอผลการเยียวยาจากรัฐบาลว่าจะเป็นอย่างไร หลังจากการเจรจาไปแล้วเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งยอมรับว่าในธุรกิจท่องเที่ยวเองก็มีคนได้รับการเยียวยาบ้างแล้ว ซึ่งก็ไม่เกิน 10% แต่สำหรับสายการบินทุกสายตอนนี้ยังไม่มีรายใดได้รับความช่วยเหลือเลย

อีก 2 เดือนตายสนิท

“ธรรศพลฐ์” บอกว่า ทุกวันนี้รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวออกมาแล้วแต่ส่วนตัวอยากให้รัฐบาลทำการรักษาเยียวยาผู้ประกอบการท่องเที่ยวก่อน แล้วค่อยทำการส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยว เพราะผู้ประกอบการอาจจะล้มหายตายจากไปก่อน เหมือนคนไม่สบายก็ต้องปั๊มหัวใจขึ้นมาก่อนไม่ใช่ไปรักษาส่วนอื่นก่อน เพราะฉะนั้นควรปั๊มหัวใจสายการบินก่อนแล้วค่อยมากระตุ้นกันดีกว่าที่ผ่านมากลุ่ม 8 สายการบินได้ยื่นขอกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน รวมวงเงินราว 2.4 หมื่นล้านบาท โดยส่งหนังสือร่วมกัน และได้รับการอนุมัติว่าจะมีการช่วยเหลือแล้ว แต่ขั้นตอนค่อนข้างช้านิดหนึ่งก็เลยยังรออยู่

“สำหรับธุรกิจสายการบินจริง ๆรวมถึง ธุรกิจท่องเที่ยวทั้งหมด ถ้าอีก 2 เดือนข้างหน้านับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไป หรือปลายเดือนสิงหาคมยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นการเยียวยา การเปิดประเทศบางส่วน หรือการกระตุ้นเศรษฐกิจที่หนักกว่านี้ก็คงจะทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวและสายการบินล้มหายตายจากค่อนข้างมาก เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 3 ล้านล้าน เป็นการท่องเที่ยวภายในประเทศ 1 ล้านล้านนั้น อาจไม่ได้มาจากคนไทยทั้งหมด แต่เกิดจากการหมุนเวียนรายได้ของชาวต่างชาติด้วย”

“แปลว่า 30% ที่เราคิดว่ามี และรายได้ 70% ที่หายไปจริง ๆ เราอาจจะมีอยู่เพียง 20% หรือไม่ถึง 1 ล้านล้านบาท เท่ากับมีกว่า 80% ที่หายไป”

เปิดแทรเวลบับเบิลกู้ท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม “ธรรศพลฐ์” เชื่อว่าในเวลานี้ยังมีชาวต่างประเทศที่อยากเดินทางเข้ามาในประเทศไทย เช่น กลุ่มนักธุรกิจที่ต้องการเข้ามาติดต่อธุรกิจ, คนที่มีภูมิลำเนาในประเทศและยังอยู่ต่างประเทศ (ช่วงโควิด), กลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานอยู่ในเมืองไทย (เดินทางกลับบ้านยังไม่ได้) รวมถึงกลุ่มประเทศอินโดจีนที่ต้องการเดินทางมารับการรักษาโรคในไทย

ดังนั้น จึงเสนอให้รัฐหาแนวทางในการเปิดบินระหว่างประเทศ โดยคำนึงถึงความเสี่ยงในการติดเชื้อ พร้อมทั้งมองหาแนวทางในภาคเศรษฐกิจในการวางทิศทางให้ไปในแนวทางเดียวกัน อย่างโครงการเปิดการเดินทางระหว่างประเทศอย่างจำกัด หรือ travel bubble ที่จะต้องพิจารณาความคุ้มค่าจากความเสี่ยงกับรายได้จากการท่องเที่ยวที่หายไป และเชื่อว่านักท่องเที่ยวจีนหลาย ๆ เมืองที่พร้อมเดินทางมาประเทศไทย รวมถึงกลุ่มประเทศอย่างฮ่องกง ไต้หวัน หรือประเทศอื่น ๆ ในอินโดจีนที่พร้อมเดินทาง ซึ่งน่าจะเป็นตัวเลือกในการเริ่มต้นที่ดีให้กับประเทศไทย เพียงแต่อาจจะต้องมีการพูดคุยเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ชัดเจน

“ทุกกลุ่มนี้ล้วนต้องเดินทางโดยสารเครื่องบิน ขึ้นรถโดยสาร ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะทำให้เงินหมุนเวียนในประเทศ แม้ไม่มาก แต่ทำให้ธุรกิจขนาดกลางและและขนาดเล็กอยู่ได้”

ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ต้องพิจารณาว่าจะเยียวยาผู้ประกอบการอย่างไรให้อยู่ต่อไปได้อีก 6 เดือน เพื่อให้เมื่อท่องเที่ยวฟื้นขึ้นมาบางส่วนจะยังมีโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวรองรับนักท่องเที่ยวในอนาคตได้ใคร ๆ ก็บินได้เหมือนเดิม

“ธรรศพลฐ์” บอกด้วยว่า ที่พูดมานั้นเป็นภาพรวมของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่ถ้าพูดถึงสายการบินอย่างเดียวก็ต้องปรับตัวอย่างหนักเช่นกัน เพราะต้นทุนก็เพิ่มขึ้นอีกพอสมควร ทุกเที่ยวบินที่ขึ้น-ลงต้องมีระบบการทำความสะอาดเบาะ มีการฉีดสเปรย์ฆ่าเชื้อในห้องโดยสาร หรือแม้แต่การทำความสะอาดห้องน้ำเราก็ต้องทำทุกครั้งที่ผู้โดยสารใช้บริการ

“ตอนนี้เรายังไม่ได้เริ่มบินจริง ๆจัง ๆ เลยยังไม่รู้ว่าต้นทุนจริง ๆ จะเป็นเท่าไหร่ ดังนั้นวันนี้เราจึงออกโปรโมชั่นค่อนข้างเยอะเพราะเราต้องการกระแสเงินสดเข้ามาใช้จ่ายในบริษัท ตอนนี้เรามีเที่ยวบินอยู่แค่ 30%ของเที่ยวบินที่เคยบินก่อนเกิดโควิด และคิดว่าอาจจบอยู่แค่นี้หรือเพิ่มขึ้นมาอย่างมากก็แค่ 35-40% แต่เรายังรักษาพนักงานไว้ทั้งหมด จึงค่อนข้างหนัก”

พร้อมย้ำว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการเรียกความเชื่อมั่นคือ 1.เราต้องทำให้เห็นว่าไม่มีความเสี่ยงในการขึ้นเครื่องบิน เมื่อลูกค้าเชื่อมั่นในความปลอดภัยแล้ว แต่เงินในกระเป๋ายังไม่พร้อมซื้อตั๋วก็ต้องออกโปรโมชั่นบ่อย ๆ และต้องเหมาะสมกับยุคสมัยโควิดด้วยคือต้องยอมบาดเจ็บบ้างในช่วงแรก หรือให้เราค่อย ๆ ฟื้นไปด้วยกัน ดังนั้นโปรโมชั่นที่ออกมาจะเป็นข้อพิสูจน์ว่าราคาเหมาะสมจริง อย่างโปรฯตั๋วบุฟเฟต์ก็เป็นตัวพิสูจน์ได้ว่า ถ้าหากได้ราคาที่เหมาะสมและน่าพึงพอใจ ความต้องการท่องเที่ยวที่มีอยู่ก็จะผลักดันให้คนออกเดินทาง และเห็นว่าตอนนี้คนไทยหลายคนก็พร้อมที่จะกลับมาเดินทางกันอีกครั้ง

“ตั๋วบุฟเฟต์” โปรฯ ตุนเงินสด

สำหรับโปรโมชั่นตั๋วบุฟเฟต์นั้น”ธรรศพลฐ์” บอกว่าเป็นโปรโมชั่นที่แรงที่สุดตั้งแต่ “แอร์เอเชีย” เคยทำมาเพราะต้องการกระแสเงินสดเข้ามาดูแลพนักงานและเป็นค่าใช้จ่ายอื่น ๆ โดยส่วนตัวต้องเรียนตามตรงว่าคนที่ขอรีฟันด์ ขอเงินคืน (ซื้อตั๋วแล้วยังเดินทางไม่ได้) เงินที่มีอยู่เวลานี้ไม่เหลือสำหรับตรงนี้แน่นอน มีแค่พอใช้จ่าย ในช่วงที่หยุดโควิดไป 3 เดือน คนที่ซื้อตั๋วไปแล้วขอเงินคืนมีจำนวนหลายแสนคน ซึ่งบริษัทได้ทยอยทำไปเรื่อย ๆทุกวันนี้มีพนักงานดูแลเรื่องนี้อยู่ แต่ด้วยความที่จำนวนเยอะมาก ทำให้ต้องเลือกจ่ายคนที่จ่ายได้ก่อน อย่างไรก็ตาม ภายในปีนี้จะพยายามเคลียร์ให้หมด

“เงินสดที่ได้จากโปรโมชั่นตั๋วบุฟเฟต์ เราเก็บไว้จ่ายเป็นค่าเช่าเครื่องบิน ซึ่งบางเจ้าลดให้เราครึ่งหนึ่ง บางเจ้าก็ไม่ลดเลย บางเจ้าก็ให้เวลา 6 เดือนค่อยมาจ่าย ซึ่งคละ ๆ กันไป คือเรามีรายจ่ายทุกเดือน ที่สำคัญมากกว่าครึ่งคือเงินเดือนพนักงาน”

แนะรัฐกระตุ้นหนักกว่านี้

ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทไทยแอร์เอเชียยังบอกอีกว่า ส่วนตัวเชื่อว่าการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศผ่านมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลจะค่อนข้างลำบาก เพราะคนไทยจนมากไม่อยากออกท่องเที่ยว รัฐจะต้องจ่ายให้ 100% เลย เพื่อให้เขานำเงินทั้งก้อนออกไปจับจ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ แต่ถ้ารัฐออกให้ 40% และประชาชนต้องออกเองอีก 60% อาจจะยากในยุคที่เงินมีค่ามาก และคนไม่มีเงิน ส่วนมากอยากเก็บไว้เพื่อความมั่นใจ และมองว่ากว่าคนไทยจะมีความพร้อมอีกครั้ง น่าจะใช้เวลากว่า 6 เดือน ถ้าอยากกระตุ้นให้เห็นผลชัดเจนอาจต้องอัดฉีดด้วยมาตรการที่แรงกว่านี้

“ถ้าถามว่ากลัวอดตายมากกว่ากลัวโควิดหรือเปล่า ในมุมของการท่องเที่ยวก็คิดว่าเป็นอย่างนั้น เพราะว่าอดตายก็ตายเหมือนกัน แต่เป็นโควิดอาจจะทรมานกว่า แต่จริง ๆ ผมไม่ควรพูดแบบนี้เพราะว่าพูดไปก็เหมือนเห็นแก่ตัว เห็นแก่ธุรกิจท่องเที่ยว แต่มันเป็นเรื่องจริงว่าเงินที่มันหมุนในระบบที่หายไปกว่า 70% ประเทศมันอยู่ไม่ได้ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น วันนี้สิ่งที่ควรจะต้องทำคือผู้มีอำนาจตัดสินใจต้องคุยกันว่าทำอย่างไรจะเปิดประเทศได้ หรือผ่อนผันบางจุด”

มั่นใจปีหน้ากลับมามี “กำไร”

“ธรรศพลฐ์” ยอมรับว่า นิวนอร์มอลใหม่ของธุรกิจสายการบินนั้นทำให้ต้นทุนของสายการบินเพิ่มขึ้น จากแนวปฏิบัติเพื่อสุขอนามัย แต่หากกดเร่งความเร็วไปปีหน้าเลย ตอนนี้เชื่อว่า “ไทยแอร์เอเชีย” จะสามารถกลับมาทำกำไรได้ เพราะหลังจากเดือนมกราคมเป็นต้นไปการเปิดบินระหว่างประเทศจะมีโอกาสมากยิ่งขึ้น โดยมองว่า “ไทยแอร์เอเชีย” แม้จะเจ็บหนัก แต่จะฟื้นเร็วกว่าคนอื่น เพราะในช่วงวิกฤตไม่ได้ลดคน ไม่ลดจำนวนเครื่องบิน ในขณะที่หลาย ๆ สายการบินลดไซซ์ของตัวเองลง ทำให้ไทยแอร์เอเชียมีโอกาสในการเพิ่มเที่ยวบินในเส้นทางที่สายการบินอื่น ๆ ลดเที่ยวบินลงไป รวมถึงในบางจุดหมายอาจไม่มีคู่แข่งแล้ว จึงเชื่อว่าเครื่องบิน 60 ลำที่มีอยู่นั้นจะสามารถกลับมาบินได้ครบไม่เกินกลางปีหน้า และจะกลับมาเหมือนเดิม โดยในช่วงครึ่งปีแรกอาจจะขาดทุน แต่ครึ่งปีหลังคาดว่าจะพอทำกำไรได้บ้าง

“นโยบายเราคือ หดได้ แต่ต้องไม่ตัดเช่น หดเงินเดือน หดจำนวนการใช้เครื่องแต่ไม่ตัดคนและเครื่องออกไป เพราะสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นโอกาสในอนาคต”

Cash is King หัวใจของธุรกิจ

นายใหญ่ของ “ไทยแอร์เอเชีย” ยังย้ำด้วยว่า นิวนอร์มอลของธุรกิจต่อจากนี้ไม่ใช่แค่ธุรกิจการบิน แต่ทุกธุรกิจจะกลับไปสู่คำว่า cash is king ทุกคนจะต้องเก็บเงินสดไว้ เพราะไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป โดยเฉพาะสายการบินที่ใช้เงินสดค่อนข้างมาก อาจจะต้องกลับมาพิจารณาต้นทุนอย่างละเอียดว่าคุ้มค่าหรือไม่ มีอะไรที่สามารถทำให้เล็กลง หรือถูกลงได้ก็ต้องทำ และมองแม้กระทั่งคู่แข่งว่า เรามาเป็นพันธมิตรกันในบางส่วนได้ไหม ระบบหลังบ้านเรามีอะไรทำร่วมกันได้บ้าง เพื่อลดต้นทุน เช่น การแบ่งปันโกดังเก็บอะไหล่การทำศูนย์ซ่อม การสต๊อกอุปกรณ์และแพ็กเกจจิ้งต่าง ๆ, ศูนย์ฝึกอบรมลูกเรือ ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อปรับลดต้นทุน ขณะที่ในส่วนการตลาดก็สู้กันไป ขายตั๋วแข่งกันไปไม่เป็นไร เพราะประโยชน์ตกอยู่กับผู้บริโภคอยู่แล้ว

“ผมว่าการร่วมกันทำงานในลักษณะนี้มีโอกาสเป็นไปได้สูง และเป็นสิ่งที่น่าศึกษาดู”

สู้ต่อไป ทุกปัญหามีทางออก

เมื่อถูกถามว่าโควิด-19 ที่กินระยะเวลายาวนานทำให้ใจฝ่อลงไปบ้างไหม และอยากบอกอะไรกับคนทำธุรกิจในขณะนี้บ้าง “ธรรศพลฐ์” ยอมรับว่าในเรื่องนี้ก็มีบ้าง แต่เราก็ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เพราะไม่มีใครไม่เดือดร้อนหรือไม่มีใครไม่ได้รับบาดเจ็บจากโควิด ไม่ว่าจะเป็นคนที่รวยที่สุดในโลก หรือจนที่สุดในโลก ได้รับผลกระทบหมดหลายคนเจ๊งเพราะธุรกิจหยุดนิ่ง แบกรับต้นทุนไม่ไหว หนี้สินพุ่ง แต่ว่าคนเราต้องสู้ ไม่สู้ก็ไม่สามารถพ้นวิกฤตได้ อย่าคิดท้อแท้ อย่าคิดฆ่าตัวตาย เพราะเท่ากับว่าเป็นการทิ้งภาระให้คนอื่น พูดคำเดียวต้องสู้ต่อไปเพราะว่าทุกปัญหามีทางออกเสมอ