เปิดรายชื่อ 14 เจ้าหนี้ “การบินไทย” ยื่นขอแก้ไขแผนฟื้นฟู

เปิดรายชื่อ 14 เจ้าหนี้การบินไทย

เปิดรายชื่อเจ้าหนี้ใหญ่การบินไทย 14 ราย ไม่เห็นด้วยกับแผนฟื้นฟูกิจการของ “ผู้ทำแผน” ในหลายประเด็น  ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ   พร้อมรอลุ้นการประชุมครั้งใหม่ วันที่ 19 พ.ค. 64

วันที่ 13 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รายงานว่าผู้ยื่นขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการทั้งสิ้น 15 ฉบับ โดยเป็นการยื่นแก้ไขแผนของคณะผู้ทำแผน หรือ “ลูกหนี้” 1 ฉบับ และเป็นการยื่นขอแก้ไขแผนของเจ้าหนี้ ที่ “ไม่เห็นด้วย” กับแผนฟื้นฟูกิจการฉบับวันที่ 2 มีนาคม 2564 และได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขอีก 14 ฉบับ ประกอบด้วย

1. กรมศุลกากร กรมสรรพากร และกรมสรรพสามิต (เจ้าหนี้รายที่ 9047) ยื่นขอแก้ไขประเด็นการชำระหนี้ภาษีอากร ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ รวม 228 ล้านบาท จากที่แผนกำหนดเริ่มชำระในปีที่ 3 ของครึ่งหลัง 25% ทยอยไปจนครบ 100% ในปีที่ 5 คำร้องขอแก้ไขให้ชำระหนี้ทั้งหมด 100% ในปีแรกของการฟื้นฟูกิจการ

นอกจากนี้ยังทวงถามถึงในส่วนของหนี้และเบี้ยปรับ กรณีถ้าการบินไทยผิดเงื่อนไขบัตรส่งเสริมการลงทุน ตามคำขอชำระหนี้จำนวน 20,161 ล้านบาท ไม่ได้มีการกำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูว่าจะมีการชำระหนี้อย่างไร

2. ธนาคารออมสิน (เจ้าหนี้รายที่ 10047) ขอแก้ไขในประเด็นว่า “กรณีหนี้ถึงกำหนดชำระตามแผนฟื้นฟู แต่คำขอชำระมีข้อโต้แย้งและยังไม่มีคำสั่งถึงที่สุดให้ชำระหนี้ ให้ผู้บริหารแผนกันสำรองเงินไว้ตามจำนวนหนี้ตามคำสั่งศาล และให้ชำระหนี้เมื่อคำสั่งถึงที่สุด”

3. สหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลตำรวจ (เจ้าหนี้รายที่ 2034) ขอให้หนี้ที่ยังคงเหลือจากปีที่ 5 ของแผนฟื้นฟู มีหลักประกันที่ใช้เป็นประกันในการระดมเงิน 5 หมื่นล้านบาท และขอให้ปรับดอกเบี้ย “หุ้นกู้” หลังจากปีที่ 9 ของแผนฟื้นฟู จากดอกเบี้ย 1.5% เป็น 4% และให้การบินไทยสามารถไถ่ถอนหู้นกู้ก่อนกำหนดได้

4. บริษัท เบย์ คอมพิวติ้ง จำกัด (เจ้าหนี้รายที่ 10320) ขอแก้ไขการชำระหนี้ของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 10 (เจ้าหนี้การค้า) จากที่จะเริ่มชำระในปี 3 จนครบในปีที่ 7 เป็นให้ชำระให้ครบภายใน 6 เดือน นับจากศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการ

5. บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (เจ้าหนี้รายที่ 10154) ระบุว่าแผนฟื้นฟูยังมีข้อมูลไม่เพียงพอและมีข้อบกพร่องหลายประกาศที่ต้องได้รับการแก้ไข อาทิ แผนการปฎิรูปธุรกิจแบบเต็มรูป รวมถึงการข้อแก้ไขการชำระหนี้ให้เร็วขึ้น จากเดิมเริ่มชำระปีที่ 3-5 เป็นให้เริ่มชำระปีที่ 2-4

6. บริษัท เอเอส แอร์ลีส 82 (ไอร์แลนด์) (เจ้าหนี้รายที่ 6469) เจ้าหนี้ผูกพันตามสัญญาเช่า/เช่าซื้อเครื่องบิน ยื่นคำร้องขอปรับแก้เงื่อนไขการชำระหนี้ และการส่งมอบคืนเครื่องยนต์ที่เป็นหลักประกัน

7. บริษัท โบว์ โซว์เลย์ ลิมิเตด พาร์ทเนอร์ชิพ (เจ้าหนี้รายที่ 9275) เจ้าหนี้ผูกพันตามสัญญาเช่า/เช่าซื้อเครื่องบิน ยื่นคำร้องแก้ไขเรื่องเงื่อนไขการชำระหนี้ และการส่งมอบคืนเครื่องยนต์

8. ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย (เจ้าหนี้รายที่ 2263) เจ้าหนี้หุ้นกู้ ยื่นคำร้องขอปรับเงื่อนไขการชำระคืนหนี้หุ้นกู้ให้เร็วขึ้น ครบ 100% ภายในครบกำหนดไถ่ถอน รวมถึงกำหนดให้แผนการแยกหน่วยธุรกิจ จัดตั้งบริษัทยย่อยต้องมีความชัดเจนภายใน 1 ปีหลังศาลมีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟู เป็นต้น

9. บริษัท จีอี เอ็นจิน เซอร์วิสเซส (เจ้าหนี้รายที่ 9933) ผู้ผลิตและผู้ให้บริการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ของเครื่องบิน ขอปรับเงื่อนไขการชำระหนี้และการส่งมอบคืนเครื่องยนต์ที่เป็นหลักประกันที่เจ้าหนี้ยึดไว้

10. บริษัท คีรีรัฐ นิคม ฮายร์ เพอเชส ลิมิเต็ด (เจ้าหนี้รายที่ 10322) เป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 35 เป็นเจ้าหนี้ภาระผูกพันจากการเช่า/เช่าซื้อเครื่องบิน โดยผู้ทำแผนเห็นว่าเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นหลังวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟู หรือยังไม่เกิดขึ้น เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิ์ยื่นคำร้องขอชำระหนี้ตามกฎหมาย ทางเจ้าหนี้จึงยื่นคำร้องว่าวิธีการและหลักเกณฑ์ขัดกับ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 และขอปรับแก้เงื่อนไขการชำระหนี้

11.บริษัท บีโอซี เอวิเอชั่น ลิมิเต็ด (เจ้าหนี้รายที่ 6503) เจ้าหนี้กลุ่มที่ 35 ผู้ทำแผนเห็นว่าเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นหลังวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟู หรือยังไม่เกิดขึ้น เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิ์ยื่นคำร้องขอชำระหนี้ตามกฎหมาย ได้ยื่นขอปรับแก้เงื่อนไขการรับชำระหนี้

12. บริษัท ธาราราช เอสเอเอส (เจ้าหนี้รายที่ 10451) และ มิโฮส เอสเอเอส (เจ้าหนี้รายที่ 10489) เจ้าหนี้เช่าเครื่องบิน ยื่นขอแก้ไขประเด็นเรื่องการยกเลิกสัญญาเช่าเครื่องบิน

13. ซิตี้แบงก์ เอ็น.เอ. (เจ้าหนี้รายที่ 10044) ยื่นคำร้องแก้ไขแผนให้การบินไทยขยายเวลาการใช้ไมล์สะสมให้แก่สมาชิกไมล์สะสมหรือคู่ค้าที่ไมล์สะสมจะหมดอายุในปี 2564 หรือก่อนหน้านั้น ออกไปถึงสิ้นปี 2566 และหากการบินไทยไม่สามารถกลับมาทำการบินระหว่างประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ ให้ผู้บริหารแผนขยายเวลาการใช้ไมล์สะสมออกไปอีกไม่น้อยกว่า 1 ปี

14. ธนาคารกรุงเทพ (เจ้าหนี้รายที่ 6414) ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูในส่วน “ผู้บริหารแผน” โดยได้เสนอรายชื่อผู้บริหารแผนเพิ่ม 2 ราย คือ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายไกรสร บารมีอวยชัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการประนอมหนี้และกฎหมาย ธนาคารกรุงเทพ และเป็นอดีตอธิบดีกรมบังคับคดี เข้าเป็นผู้บริหารแผน

และฉบับที่ 15. เป็นคำร้องยื่นของแก้ไขแผนฟื้นฟูของ ผู้ทำแผนฟื้นฟูการบินไทย หรือในฐานะ “ลูกหนี้” ฉบับวันที่ 7 พ.ค. 2564 ระบุถึงเหตุผลการขอแก้ไขว่า หลังจากผู้ทำแผนได้หารือกับเจ้าหนี้สถาบันการเงินหลัก ทั้งเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูและเจ้าหนี้ที่มีโอกาสให้การสนับสนุนทางการเงิน เห็นพ้องต้องกันว่า เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้เจ้าหนี้มีความเชื่อมั่นในแผนฟื้นฟู จนเพียงพอที่เจ้าหนี้จะให้การสนับสนุนแผนฟื้นฟูตลอดจนเม็ดเงินได้คือ การที่การบินไทยจะยังคงได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและได้รับสิทธิประโยชน์ในการประกอบธุรกิจการบินและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ไม่ด้อยกว่าก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

ดังนั้น ผู้ทำแผนจึงได้ขอแก้ไขแผนฟื้นฟูในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการชำระหนี้ ลำดับการจัดสรรกระแสเงินสด การจัดหาประโยชน์ทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดหาแหล่งเงินทุน โดยการกู้ยืมเงินใหม่เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

ทั้งนี้ในการประชุมเจ้าหนี้ บมจ.การบินไทย เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมาผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Meeting) เนื่องจากมีเจ้าหนี้ 20 ราย ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหนี้หุ้นกู้ กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งมีมูลหนี้มากกว่า 10% ยื่นคำร้องขอเลื่อนการประชุม ที่ประชุมจึงมีมติเลื่อนวันพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยออกไปเป็นวันที่ 19 พ.ค. 2564 เวลา 09.00 น.