“ไทย” ศูนย์กลางเชื่อมเศรษฐกิจภูมิภาค ดูดนักท่องเที่ยวไมซ์ผ่าน R3A

ย้ำ “ไทย” ศูนย์กลางเชื่อมโยงศก.ภูมิภาค ดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์ผ่านเส้นทาง R3A

วันที่ 31 ธันวาคม 2564 สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ ทีเส็บ ร่วมกับ สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute) และสมาคมผู้ขนส่งในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS-FRETA) จัดงานประชุมสัมมนานานาชาติ “GMS LOGISTIC TOURISM MICE & TRADE FORUM” ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ (รางน้ำ) เมื่อวันที่ 27-28 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เพื่อสร้างการรับรู้และโอกาสเส้นท่องเที่ยว การบูรณาการการขนส่งทางบกและททางอากาศ และเป็นข้อมูลด้านการท่องเที่ยวและเส้นทางไมซ์ R3A

“ภาคท่องเที่ยว-นักวิชากร” ผนึกพลังรับมือเส้นทาง R3A

งานดังกล่าวมีประเด็นหารือในหลายด้าน อาทิ แนวทางขับเคลื่อนการท่องเที่ยวและไมซ์เชื่อมโยงเส้นง R3A แนวทางการยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางการจัดประชุมสัมนาด้านการท่องเที่ยวและไมซ์ระดับอนุภูมิภาค แผนและโอกาสของผู้ประกอบการกับโอกาสในการขับเคลื่อนท่องเที่ยวและไมซ์เชื่อมโยงเส้นทง R3A
โดยมีผู้บริหารและตัวแทนองค์กรที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมจำนวนมาก เช่น สมาคมส่งเสริมการจัดประชุมนานาชาติ (ไทย) หรือ TICA สมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) สมาคมการค้าส่งเสริมการจัดมหกรรมและเทศกาลนานาชาติไทย สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) สมาคมโรงแรมไทย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ฯลฯ รวมถึงนักวิชาการอีกจำนวนมาก

ไทยศูนย์กลางกลุ่มประเทศอนุภูมิภาค-ระเบียง ศก.

“ดร.บุญทรัพย์ พาณิชการ” รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร บรรยายในหัวข้อ “แผนงานส่งเสริมและขับเคลื่อนการท่องเที่ยวและไมซ์เชื่อมโยงเส้นทาง R3A และการเป็นศูนย์กลางระดับอนุภูมิภาค” ว่า ประเทศไทยมีภูมิประเทศเป็นศูนย์กลางของกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคและระเบียงเศรษฐกิจ

ดังนั้น เพื่อให้เกิดเวทีบูรณาการด้านการท่องเที่ยวระดับกลุ่มอนุภูมิภาคขึ้นในประเทศไทย จึงมีแนวคิดร่วมกันในการสร้างเวทีประชุมนานาชาติ ด้านการท่องเที่ยวและไมซ์ ภายใต้โครงการจัดทำแผนกรอบความร่วมมือ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการจัดประชุมและสัมมนา สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ BIAL รองรับการท่องเที่ยวและไมซ์ขึ้น

พร้อมทั้งอธิบายว่า กลุ่มเศรษฐกิจ 4 กลุ่ม หรือเรียกสั้น ๆ ว่า BIAL ประกอบไปด้วย 1. BIMSTEC หรือความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล สำหรับความร่วมมือที่หลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ ประกอบไปด้วยประเทศสมาชิก คือ บังคลาเทศ เนปาล ภูฎาน อินเดีย เมียนมา ศรีลังกา ไทย มีประชากรราว 1,500 ล้านคน

2. IMT-GT หรือแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจ ประกอบไปด้วยประเทศสมาชิก คือ ไทย (14 จังหวัดภาคใต้) มาเลเซีย (8 รัฐ) อินโดนีเซีย (10 จังหวัด) มีประชากรในพื้นที่รวมประมาณ 80 ล้านคน

3. ACMECS หรือยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ประกอบไปด้วยประเทศสมาชิก คือ ลาว เมียนมา เวียดนาม กัมพูชา ไทย และ 4. LMC หรือกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ประกอบด้วยประเทศสมาชิก คือ ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม เมียนมา พื้นที่บางส่วนของประเทศจีน ลุ่มแม่น้ำโขงรวมแล้วประมาณ 230 ล้านคน

กลยุทธ์ “การท่องเที่ยว-ไมซ์” เส้นทางสีเหลื่อม ศก.

โดยกลยุทธ์การท่องเที่ยวและไมซ์บนเส้นทางสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ BIAL ประกอบไปด้วย
1. กลยุทธ์เชื่อมโยงโครงข่ายพันธมิตรการท่องเที่ยวและไมซ์ บนเส้นทางสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ BIAL

2. กลยุทธ์การพัฒนาระบบข้อมูลและสารสนเทศเพื่อการท่องเที่ยวและไมซ์ บนเส้นทางสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ BIAL

3. กลยุทธ์การพัฒนารูปแบบการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวและไมซ์ บนเส้นทางสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ BIAL และ 4. กลยุทธ์ส่งเสริมส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวและไมซ์ บนเส้นทางสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ BIAL

ศูนย์กลางเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจ-เส้นทางสายไหม

“ดร.บุญทรัพย์” บอกด้วยว่า ประเทศไทยมีภูมิประเทศเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงของระเบียงเศรษฐกิจต่าง ๆ ภายใต้เส้นทางสายไหมบนเส้นทางเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor: NSEC) ประกอบด้วยเส้นทางย่อย 3 เส้นทาง คือ

1.เส้นทาง R3A เชื่อมโยงจีนตอนใต้ ลาว และไทย เส้นทางนี้เป็นส่วนหนึ่งของถนนสายสายคุนหมิง-กรุงเทพฯ เริ่มต้นเส้นทางที่ด่านเชียงของ (จ.เชียงราย ประเทศไทย) – ด่านห้วยทราย (สปป.ลาว) – เวียงภูคา – หลวงน้ำทา ด่านบ่อเต็น – ด่านบ่อหาน – เมืองเชียงรุ้งหรือจิ่งหง – คุนหมิง (มณฑลยูนาน ประเทศจีน)

2.เส้นทาง R3B เป็นส่วนหนึ่งของถนนเส้นทางสายคุนหมิง-กรุงเทพฯ เช่นเดียวกับสาย R3A แตกต่างกันที่เมื่อถึงเมืองเชียงรุ่ง แยกเป็นถนนสาย R3B มุ่งสู่ชายแดนพม่าที่เมืองต้าลั่ว ในรัฐฉาน ผ่านเมืองเชียงตุง และท่าขี้เหล็ก เข้าสู่ชายแดนไทยที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

และ 3.เส้นทาง R5 มีจุดเริ่มต้นจากเมืองหนานหนิง เมืองเอกของมณฑลกว่างสีของจีน เข้าสู่ชายแดนเวียดนามและต่อไปที่ท่าเรือไฮฟอง

อย่างไรก็ตาม เส้นทาง R3A ยังพบปัญหา คือ เส้นทางบริเวณบ่อเต็น – ห้วยทราย แม้มีระยะทางเพียง 230 กิโลเมตร แต่ต้องใช้เวลาเดินทางสูงถึง 7 ชั่วโมง เนื่องจากถนนชำรุดเสียหาย
อีกปัญหาหนึ่งคือ แม้ไทยจะมีโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายชุมทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ยังไม่สามารถเชื่อมกับรถไฟที่บ่อเต็นได้ จึงต้องมีการเปลี่ยนถ่ายสินค้าไปสู่รถบรรทุกซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูง

ย้ำ “ไทย” เป้าหมายของนักเดินทางตลาดไมซ์จีน

ส่วนการบรรยายและเสวนาหัวข้อ “มุมมองและโอกาสเส้นทางท่องเที่ยวและไมซ์บนเส้นเชื่อมโยง R3A Mr.Collin Li, General Manager, บริษัท Guangzhou Huiye International Travel Service จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันการเดินทางของตลาดไมซ์ในจีนมีการเดินทางเป็นปกติโดยคาดการณ์ว่า หลังการเปิดให้เดินทางได้อย่างเสรี ประเทศไทยจะยังเป็นจุดหมายปลายทางของการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวจีน

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นเป้าหมายในการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวจีนกลุ่ม Incentives โดยในช่วงที่มีการจำกัดการเดินทางนี้ ยังมีพนักงานบางส่วนที่อยากเก็บสิทธิ์การเดินทางมายังประเทศไทย

สำหรับเส้นทาง R3A นั้น Mr.Collin มองว่า นักเดินทางกลุ่มไมซ์น่าจะเดินทางน้อย เนื่องจากนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวมีเวลาที่จำกัด เช่นราว 2-3 วัน อีกทั้งการเดินทางผ่านหลายประเทศยังมีความยุ่งยากด้านเอกสาร เป็นความเสี่ยงที่ทางลูกค้าและตัวแทนบริษัทนำเที่ยวยังไม่เลือกใช้

ขณะที่ “Mr. Khom Douangchantha” Director General of Tourism Marketing, Ministry of Information, Culture and Tourism ระบุว่า เส้นทาง R3A จะทำให้นักท่องเที่ยวมีทางเลือกในการเดินทางมากขึ้น นักท่องเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยแล้ว สามารถใช้เส้นทางดังกล่าวเชื่อมโยงไปยังเมืองต่าง ๆ ของลาว

โดยลาวจะสามารถใช้ประโยชน์ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การเชื่อมโยงเทคโนโลยีการท่องเที่ยว และการปรับปรุงคุณภาพและการบริการ

ทั้งนี้ ปัจจุบันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในสปป.ลาวส่วนใหญ่ยังปิดกิจการ เนื่องจากไม่สามารถมีกิจกรรมการท่องเที่ยวจากแขวงต่าง ๆ ได้ ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ยังไม่เดินทางเข้าประเทศ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลลาวมีการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวโดยการออกแคมเปญ “ลาวเที่ยวลาว” รวมถึงจะมีการพิจารณา Travel Bubble กับประเทศที่มีมาตรการทางสาธารณสุขที่ดี และในอนาคตจะพิจารณาการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อไป

การบูรณาการขนส่งเชื่อมท่องเที่ยว-ไมซ์เส้นทาง R3A

สำหรับการสัมมนาในหัวข้อ “มุมมองยุทธศาสตร์การบูรณาการขนส่งทางบก เรือ อากาศ เชื่อมโยงการท่องเที่ยวและไมซ์บนเส้นทาง R3A” นั้น “รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม” ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ในปี 2565 ท่าอากาศยานนานาชาติบ่อแก้ว ประเทศลาว ใกล้กับพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำจะก่อสร้างแล้วเสร็จ ท่าอากาศยานดังกล่าวจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ

ทั้งนี้ จีนยังมองเห็นศักยภาพของพื้นที่ดังกล่าว จึงก่อสร้าง Entertainment Centre เช่น กาสิโน ซึ่งเป็นกิจการที่ไม่สามารถประกอบธุรกิจในจีนได้

โดยสิ่งที่น่าจับตามอง คือ สปป.ลาวกำลังจะพ้นจากสถานะ “ประเทศที่ยากจนที่สุด” หรือ Least Developed Country การหลุดพ้นออกจากสถานะดังกล่าว อาจทำให้หลายบริษัทในต่างประเทศปลดล็อคลาวจากประเทศห้ามเดินทางไปเยือน และลาวอาจกลายเป็นเป้าหมายในการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

สำหรับการเกิดขึ้นของเส้นทางรถไฟสายจีน-ลาว ซึ่งเป็นโครงข่ายคมนาคมระบบรางเชื่อมจีนและชาติอาเซียน “รศ.ดร.ปิติ” มองว่า ประเทศไทยอาจสามารถโปรโมตสถานที่ท่องเที่ยว ชูผลิตภัณฑ์เด่นของชุมชน รวมถึงเชื่อมโยงโครงสร้างขั้นพื้นฐานกับลาวและประเทศอื่น ๆ ได้ รวมถึงสร้างการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่แต่ละประเทศในภูมิภาคนี้มีส่วนที่คล้ายคลึงกัน เช่น การตามหารากวัฒนธรรมของชาวไทย

ด้าน “พิทยสัณห์ เดชประสิทธิ์” ประธานคณะอนุกรรมการกลุ่มการค้าชายแดนและค้าข้ามแดนด้านจีนตอนใต้ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บอกว่า การเข้ามาของรถไฟสายจีน-ลาว ทำให้ไทยต้องตรวจสอบความพร้อมของตนเอง รวมถึงเตรียมตัวให้พร้อมกับการเกิดขึ้นของทางด่วนสายต่าง ๆ และการเชื่อมโยงนักท่องเที่ยวเพื่อให้เดินทางเข้ามาประเทศไทย

“พัฒนา สิทธิสมบัติ” ที่ปรึกษาคณะกรรมการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) บอกว่า ในอนาคตนครหลวงเวียงจันทน์จะกลายเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าขนาดใหญ่มาก จังหวัดเชียงรายต้องมีการประสานงานร่วมกับจังหวัดอื่น ๆ เพื่อสร้างแผนบูรณาการร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้งนี้มีความพยายามยกระดับศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเชียงของ ให้เป็นศูนย์กระจายสินค้าเชียงของ

ทั้งนี้ การบูรณาการร่วมกันจะต้องไม่มองเพียงเส้นทาง R3A เท่านั้น แต่ต้องเชื่อมโยงพื้นที่ทั้งสามประเทศเข้าด้วยกัน โดยมองว่าเป็นระเบียงเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การเชื่อมโยงพื้นที่จังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่เป็นเรื่องสำคัญต่ออุตสาหกรรมไมซ์ เนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาทางจังหวัดเชียงราย สามารถเดินทางไปยังจังหวัดเชียงใหม่ต่อได้

“รศ.ดร.ปิติ” ทิ้งท้ายด้วยว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายในเส้นทาง R3A ต้องเร่งสร้างแนวคิดใหม่ โดยจะมองประโยชน์แต่ตัวเองฝั่งเดียวไม่ได้ จำเป็นต้องหาทางออกร่วมกันว่า ทำอย่างไรไทยและประเทศเพื่อนบ้านจะมีผลประโยชน์ร่วมกัน ภาคเอกชนต้องประสานความร่วมมือ เสนอแนวคิดแก่ภาครัฐ และขอความช่วยเหลือจากภาครัฐให้อำนวยความสะดวกในการเข้าสู่ตลาดประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนภาครัฐของไทยต้องพิจารณาการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านให้มากขึ้น

และย้ำว่าในความเป็นจริงประเทศไทยมี supply จำกัด ในตลาดที่มีของขายน้อย แต่คนซื้อเยอะ คนขายน่าจะมีอำนาจต่อรองมากกว่า สถานที่ท่องเที่ยวของไทยถือว่าเล็กมาก เมื่อเทียบกับ demand ของจีน ดังนั้น ถ้าเราต่อรองได้อย่างชาญฉลาด รวมถึงการรู้จักให้และรับ ไทยก็จะได้ประโยชน์จากเส้นทางสายนี้