รายได้ค่าเหยียบแผ่นดิน 300 บาท รัฐบาลเอาไปใช้อะไรบ้าง?

พิพัฒน์ รัชกิจประการ
พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ

รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ตอบทุกข้อสงสัย “ค่าเหยียบแผ่นดิน” 300 บาท รัฐบาลนำไปใช้อะไรบ้าง ? 

วันที่ 14 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 เมษายน 2565 ประเทศไทยจะเริ่มเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย คนละ 300 บาท หรือ “ค่าเหยียบแผ่นดิน”

โดยเงินที่ได้จะนำไปพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวและทำประกันภัยให้นักท่องเที่ยว คาดได้เงินเก็บเข้ากองทุน 1,500 ล้านบาท ซึ่งหลายประเทศที่เก็บรายได้ส่วนนี้จะคิดรวมอยู่ในราคาตั๋วเครื่องบินหรือราคาห้องพักแล้ว

ล่าสุด นายพิพัฒน์ ได้ให้สัมภาษณ์ต่อเรื่องดังกล่าวในรายการ “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” ทางช่อง MCOT HD

ค่าเหยียบแผ่นดินคืออะไร เก็บจากใคร ?

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า เป็นการเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวที่เป็นชาวต่างชาติ เพราะคนไทยได้รับการคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญที่ว่าหากเป็นคนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ ไม่สามารถเก็บค่าธรรมเนียมเข้าประเทศได้

โดยเงินจำนวน 300 บาทนี้ จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ให้มหาวิทยาลัยนเรศวรทำการศึกษาเมื่อปี 2562 หลังจากที่สำนักงบประมาณแจ้งว่า จะไม่อุดหนุนเข้ากองทุนสำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามา ป่วย บาดเจ็บ หรือเสียชีวิตในประเทศ จึงให้กระทรวงการท่องเที่ยวหาวิธีจัดเก็บเงินเข้ากองทุนจากนักท่องเที่ยว

ทั้งนี้ เป็นการเก็บเงินจากขาเข้า ทั้งทางบก ทางอากาศและทางน้ำ และจะนำไปซื้อประกันอุบัติเหตุคุ้มครองนักท่องเที่ยวเป็นระยะเวลา 45 วัน

แรงงานต่างด้าว ต้องจ่ายหรือไม่ ?

เมื่อพิธีกรถามว่า หากเป็นชาวเมียนมาเข้ามาทำงานทางแม่สอดทุกวัน ต้องเสียค่าเหยียบแผ่นดินหรือไม่ นายพิพัฒน์ ตอบว่า ไม่เสีย เพราะกรณีแม่สอดเป็นการใช้แรงงานแบบมาเช้ากลับเย็น ซึ่งจะมีบัตรเฉพาะ และจะเข้าช่องทางเฉพาะ ซึ่งไม่ได้รวมกับการเก็บค่าธรรมเนียม

แต่หากเป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานเป็นระยะยาว ต้องเสียค่าเหยียบแผ่นดิน และหากอาศัยเกิน 45 วันก็ต้องทำประกันชีวิตนอกเหนือจาก 45 วัน

เก็บจากต่างชาติแล้วเงินไปไหน ?

นายพิพัฒน์ เผยว่า เงิน 300 บาทที่ได้จากชาวต่างชาติแต่ละคน จะนำไปเข้ากองทุน “เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว” โดย 20% จะหักไปเป็นค่าประกันให้นักท่องเที่ยว ส่วนที่เหลือมีสัดส่วนค่าจัดเก็บ 30% เช่น ผ่านสายการบินต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ จึงคาดว่าเหลือประมาณ 40-50% ที่สามารถนำเข้ามาในกองทุนได้

โดยหน่วยงานที่จัดเก็บให้กับรัฐ ในทางอากาศคงให้สายการบินเป็นผู้ช่วยจัดเก็บ ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้มีการเจรจากับสายการบินต่าง ๆ ที่นำนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยเป็นรายบริษัท และขณะนี้ได้เจรจาไปพอสมควรแล้ว

หากถามว่าทำไมไม่ฝากไว้กับ IATA (สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ) เพราะ IATA ไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นคนไทยหรือต่างชาติ เพราะจัดเก็บภาพรวมคนเข้าเมืองไทยทั้งหมด โดยค่าเหยียบแผ่นดินจะถูกรวมเข้ากับค่าตั๋วเครื่องบิน

สัดส่วนค่าเหยียบแผ่นดิน

เมื่อพิธีกรถามว่า จากค่าเหยียบแผ่นดิน 300 บาท แบ่ง 20% เป็นค่าประกันชีวิต 50% เข้ากองทุน และอีก 30% เป็นค่าใช้จ่าย แต่ให้สายการบินที่ช่วยให้บริการเก็บค่าใช้จ่าย 5% ที่เหลืออีก 20-25% จะอยู่ที่ใด นายพิพัฒน์ ตอบว่า ส่วนที่เหลือคงต้องจ้างบริษัทที่มามอนิเตอร์ เพราะเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่ไม่พอที่จะประสานงาน ติดตามนักท่องเที่ยวที่เจ็บป่วย

โดยอัตราส่วนค่าประกัน 20% เป็นคนละส่วนกับประกันโควิดที่ชาวต่างชาติต้องทำมาแล้ว ซึ่งมีข้อมูลระบุว่า จากการเก็บข้อมูลปี 2559-2561 นักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยและทำการรักษาอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย ปี 2559 นั้น เก็บค่าใช้จ่ายไม่ได้ถึง 380 ล้านบาท ปี 2560 เก็บไม่ได้ 346 ล้านบาท ปี 2561 เก็บไม่ได้ 305 ล้านบาท ซึ่งไม่มีผู้รับผิดชอบ กระทรวงสาธารณสุขจึงต้องเข้าไปรับผิดชอบ หากเก็บค่าประกันส่วนนี้แล้ว จึงไม่ต้องใช้ภาษีประชาชนไปจ่ายทดแทน

1 เม.ย. 65 เริ่มใช้เลยหรือไม่ ?

นายพิพัฒน์ เผยว่าคาดว่าเร็วที่สุดคือ 1 เมษายน 2565 แต่กระบวนการยังมีอีกหลายขั้นตอน และหากไม่ทันคงต้องเลื่อนระยะเวลาต่อไปจนกว่าจะสมบูรณ์ทุกขั้นตอน ซึ่งช่วงนี้อยู่ในระหว่างการเจรจากับสายการบินแต่ละบริษัท ซึ่งตอนนี้เกิน 50% แล้ว แต่ที่กังวลมากที่สุดคือการเดินทางเข้ามา จะให้ชาวต่างชาติซื้อผ่านช่องทางใด เพราะกลัวว่าจะเกิดการสร้างความแออัด จึงต้องพัฒนาเรื่องแอปพลิเคชั่นขึ้นมาเพื่อเก็บค่าใช้จ่ายตรงนี้

ทั้งนี้ ผู้เข้าประเทศทางบกและทางน้ำ ยังไม่ตกผลึกวิธีการ มีการหารือเพียงการพัฒนาแอปและให้ซื้อบัตรผ่านแอป และนำมาแสดง

แอปค่าเหยียบแผ่นดิน ทายาทหมอชนะ ?

เมื่อพิธีกรถามถึง การถอดบทเรียนจากแอปพลิเคชั่น หมอชนะ หรือระบบ Thailand Pass อาจเกิดการสร้างแอปใหม่ขึ้นมาอีก ซึ่งประเทศไทยมีแอปเยอะมาก และเกินกว่าครึ่งก็ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะทุกวันนี้ก็ตามหานักท่องเที่ยวที่หลบหนีไม่ได้ หากสร้างแอปขึ้นมาอีก จะมีประสิทธิภาพหรือไม่

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ยังไงก็ต้องทำ เพราะจะให้ไปซื้อผ่านตู้อัตโนมัติหน้าด่าน คงสร้างความแออัด จึงต้องคิดว่าจะใช้แอปหรือนำไปฝากไว้กับฝ่ายไหนได้บ้าง

เข้า ครม. ชอตแรก

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า คาดว่าอย่างเร็วคือเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งหากเริ่มเก็บค่าเหยียบแผ่นดินนับตามปฏิทินปีงบประมาณ 2565 คาดว่าจะเก็บเงินไตรมาส 3 (เม.ย. – ก.ย.) ได้ไม่เกิน 5 ล้านคน เป็นเงิน 1,500 ล้านบาท