IATA เผยยอดการเดินทางเครื่องบินเอเชียยังซึม

สนามบิน
(Photo by VIVEK PRAKASH / AFP)

IATA เผยผู้โดยสารเครื่องบินเดือนกุมภาพันธ์ฟื้นตัว อเมริกาแกร่ง ผู้โดยสารในประเทศใกล้ก่อนโควิดแล้ว ส่วนเอเชียยังซึม-Load Factor ต่ำสุดเมื่อเทียบทุกภูมิภาค

วันที่ 13 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ออกรายงานวิเคราะห์ตลาดการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศ (Air Passenger Market Analysis) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ระบุว่า การเดินทางทางอากาศเริ่มกลับมาฟื้นตัว หลังเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ไม่ค่อยเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางนอกภูมิภาคเอเชีย

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารซึ่งคิดเป็นคนต่อกิโลเมตร (Revenue Passenger Kilometer : RPK) ของทั้งอุตสาหกรรม เติบโตถึง 115.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่ยังถือมีสัดส่วนเพียง 54.5% ของเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก่อนที่โควิด-19 จะระบาดหนัก

โดยปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPKs) ภายในประเทศโดยรวมปรับตัวดีขึ้นเกือบทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 60.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว (เดือนมกราคมปรับตัวเพิ่มขึ้น 42.6% YoY) แต่ยังน้อยกว่าจำนวนในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อยู่ที่ 21.8%

เมื่อเจาะรายประเทศ พบว่า สหรัฐอเมริกามีปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPKs) สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วถึง 112.5% และต่ำกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก่อนการระบาดเพียง 6.6% ปัจจัยมาจากการคลี่คลายของปัญหาขาดแคลนแรงงาน การยกเลิกเที่ยวบิน และปัญหาสภาพอากาศ

ส่วนปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPKs) ระหว่างประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 256.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว แต่สำหรับภูมิภาคเอเชียการฟื้นตัวยังคงช้ากว่าหลายภูมิภาค ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPKs) เติบโต 144.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 น้อยกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 อยู่ถึง 88% แต่เมื่อพิจารณาจากปริมาณการขนส่งผู้โดยสารแบบปรับค่าฤดูกาลเข้าไปแล้ว (Seasonally Adjusted International RPKs) ยังเห็นแนวโน้มการปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงยังปรากฏข่าวการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดต่าง ๆ ในภูมิภาคดังกล่าวอีกด้วย

รายงานจาก IATA ยังระบุต่อไปว่า การฟื้นตัวของปริมาณผู้โดยสารในชั้นบัตรโดยสารแบบพรีเมี่ยมและชั้นประหยัด ในเดือนมกราคม 2565 มีอัตราเติบโตที่สอดคล้องกัน โดยปริมาณการขนส่งผู้โดยสารชั้นประหยัด (Economy RPKs) ซึ่งประกอบด้วยชั้นประหยัดเป็นหลัก และชั้นประหยัดพรีเมี่ยม (Premium Economy Class) อีกจำนวนหนึ่ง พบว่า เติบโตเพิ่มขึ้น 178% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และอยู่ในระดับ 37% ของเดือนมกราคม 2562

ขณะที่ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารชั้นพรีเมี่ยม ซึ่งประกอบด้วยผู้โดยสารชั้นหนึ่งและชั้นธุรกิจ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 165% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และอยู่ในระดับ 38% ของเดือนมกราคม 2562

ส่วนปริมาณการผลิตผู้โดยสาร ซึ่งคิดเป็นที่นั่งต่อกิโลเมตร (ASK) ของทั้งอุตสาหกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้น 68.4% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว แต่ยังต่ำกว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อยู่ที่ 37%

ด้าน อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Passenger Load Factor) เดือนกุมภาพันธ์ 2565 อยู่ที่ 69.8% เพิ่มขึ้น 15.4 จุดร้อยละ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ยังต่ำกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อยู่ 13.4 จุดร้อยละ เอเชียแปซิฟิกอยู่ที่ 62.9% (YoY) ต่ำสุดเมื่อเทียบกับทุกพื้นที่ทั่วโลก

สำหรับสงครามรัสเซีย-ยูเครน การแพร่ระบาดของโอไมครอนในจีน และเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อทั่วโลก สร้างแรงกดดันต่อปริมาณการขนส่งผู้โดยสารในเดือนมีนาคมเป็นต้นไป

รายงานยังพบว่า การจองบัตรโดยสารของนานาชาติปรับตัวลดลงเล็กน้อย ผลจากการเกิดขึ้นของสงคราม แต่กลับมาฟื้นตัวได้ในเวลาไม่กี่วัน และมีแนวโน้มแกว่งออกข้าง (Sideways) ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ส่วนการจำหน่ายบัตรโดยสารภายในประเทศ มีแนวโน้มปรับตัวลดลงในช่วงเวลาเดียวกัน และปัจจุบันมีอัตราต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2562 อยู่ที่ราว 33%