โอด “กรุงเทพ-เบตง” ขาดทุนยับ นกแอร์ กัดฟันบินถึงสิ้น ต.ค.นี้

สายการบินนกแอร์

แม้ว่าที่ผ่านมาหลายภาคส่วนพยายามชุบชีวิตเส้นทางบินกรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-เบตง (นราธิวาส) โดยให้บริษัททัวร์ทำการเหมาที่นั่งของสายการบินจำนวน 60 ที่นั่ง จากทั้งหมด 86 ที่นั่ง เป็นระยะเวลา 3 เดือน

โดยมี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ทำแคมเปญ “#เบตง หรอยแรง แหล่งใต้” สนับสนุนกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม ลดค่าเช่าสำนักงาน ณ ท่าอากาศยานเบตง และลดค่าธรรมเนียมในการขึ้น-ลงอากาศยาน (landing fee)

แต่เมื่อไม่นานมานี้ก็มีกระแสข่าวว่า หาก “นกแอร์” ทำการบินครบ 3 เดือน (29 เมษายน-31 กรกฎาคม 2565) สายการบินจะมีผลขาดทุนในเส้นทางดังกล่าวรวม ๆ แล้วกว่า 40 ล้านบาท

“ดร.วุฒิภูมิ จุฬางกูร” ซีอีโอสายการบินนกแอร์ ประเมินว่า แม้ว่าจะมีบริษัททัวร์เข้ามาเหมาที่นั่ง จำนวน 60 ที่นั่ง ตลอด 3 เดือนของการให้บริการเส้นทางกรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-เบตง แต่ยังมีผลการดำเนินงานขาดทุนราว 15-20 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การลงนามความร่วมมือส่งเสริมการท่องเที่ยว ภายใต้แคมเปญ “#เบตง หรอยแรง แหล่งใต้ สไตล์นกแอร์” ระหว่างสายการบินนกแอร์ บริษัททัวร์ ททท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ กำลังจะจบลงในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้ แต่ “นกแอร์” มีแผนจะทำการบินต่อไปจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2565

“ที่ผ่านมาเราได้รับการสนับสนุนค่าเช่าสำนักงาน ณ ท่าอากาศยานเบตง โดยลดค่าใช้จ่ายลงไปได้ราวเดือนละ 8-9 พันบาท และค่าธรรมเนียมในการขึ้น-ลงอากาศยานอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งการสนับสนุนดังกล่าวเป็นเพียงบางส่วนของข้อเสนอที่สายการบินยื่นคำขอไปยังภาครัฐเท่านั้น ดังนั้นเราจะพยายามบินต่อจนครบ 6 เดือน หากยังไม่มีการช่วยเหลือเพิ่มเติม พฤศจิกายนนี้คงต้องหยุดบิน”

ADVERTISMENT

พร้อมให้ข้อมูลว่า หากนกแอร์ยังได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐเทียบเท่าปัจจุบัน และยังมีบริษัททัวร์เข้ามาช่วยเหมาที่นั่งส่วนหนึ่งเหมือนเดิม ก็ยังเชื่อว่าในช่วงที่ทำการบินต่อตั้งแต่สิ้นเดือนกรกฎาคมไปจนถึงสิ้นเดือนตุลาคมนี้ สายการบินก็ยังจะมีผลการดำเนินงานขาดทุนต่อไป

เพราะไม่สามารถปรับราคาเส้นทางดังกล่าวขึ้นได้มากนัก เนื่องจากหากราคามีระดับสูง นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งอาจเลือกเดินทางไปต่างประเทศแทน

ADVERTISMENT

“ดร.วุฒิภูมิ” บอกว่า การจะเปิดเส้นทางบินเบตงให้ทำการบินได้อย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชนใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

1.ภาครัฐควรออกมาตรการสนับสนุนและกระตุ้นภาคเอกชนให้เกิดการลงทุนในพื้นที่เบตง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวของประชากร และมีนักท่องเที่ยวธุรกิจเดินทางมากขึ้น รวมทั้งปรับปรุงผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยว ระบบโครงสร้างพื้นฐาน

2.ส่งเสริมให้มีสัดส่วนของนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยตัวเอง (FIT : free independent travelers) เพิ่มมากขึ้น และ 3.ส่งเสริมการเชื่อมเที่ยวบินจากเบตง สู่ประเทศมาเลเซีย หรือสิงคโปร์ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา

“ภาคเอกชนต้องการความชัดเจนในมาตรการการช่วยเหลือเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวอำเภอเบตงในระยะยาว เพื่อให้สามารถวางแผนการทำธุรกิจได้ การมีเพียงแผนระยะสั้นอย่างเดียวไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจ”

และทิ้งท้ายว่า ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันปรับปรุงซัพพลายภาคการท่องเที่ยวอำเภอเบตงให้มีศักยภาพมากขึ้น โดยเฉพาะความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ห้องน้ำที่มีความสะอาด ความสว่างของไฟถนน ภาคการโรงแรม ฯลฯ เพื่อรองรับการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวในอนาคต