กูรูวิเคราะห์ นักท่องเที่ยวมาเลเซียมีกำลังซื้อ แนะวางกลยุทธ์รอบด้าน

นักท่องเที่ยว
Photo by Romeo GACAD / AFP

กูรูวิเคราะห์นักท่องเที่ยวมาเลเซียมีกำลังซื้อ แนะวางกลยุทธ์การตลาดดึงนักท่องเที่ยวอย่างรอบด้าน ออกแบบ Touch point ตั้งแต่ก่อน-ระหว่าง-หลังการเดินทาง แนะหากใช้อินฟลูเอ็นเซอร์ ควรเป็นธรรมชาติ ไม่ทำลายสไตล์การนำเสนอเดิม

วันที่ 21 มิถุนายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ร่วมกับสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) และสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ จัดงาน IMT – GT MICE Business Conference ขึ้น

ในการบรรยายหัวข้อ “Tourism & MICE Online Marketing After Covid” นายบรรณ ภุชงค์เจริญ ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO บริษัท Level up Holding จํากัด เปิดเผยข้อมูลทางประชากรของประเทศมาเลเซีย โดยระบุว่า ประเทศมาเลเซียมีประชากรราว 33 ล้านคน มีอายุเฉลี่ยของประชากรอยู่ที่ราว 31 ปี 

โดยประชากรชาวมาเลเซียส่วนใหญ่มีอายุ 25-34 ปี (17.6%) ตามมาด้วยกลุ่มอายุ 35-44 ปี (15.6%) และประชากรมักกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ รวมถึงมีสัดส่วนการถือครอง Smart Device นอกเหนือจาก Smartphone ที่สูง โดยมีสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของประชากร ซึ่งอาจสะท้อนว่าประชากรส่วนหนึ่งมีกำลังซื้อสูง 

ขณะที่ประชากรชาวอินโดนีเซีย มีประชากรราว 270 ล้านคน ประชากรไม่ได้กระจุกตัวในเมืองใหญ่มากนัก มีอายุเฉลี่ยของประชากรราว 30 ปี มีสัดส่วนถือครอง Smart Device ในสัดส่วนที่น้อยกว่าชาวมาเลเซีย 

สำหรับพฤติกรรมของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์มาเลเซีย พบว่า ชาวมาเลเซียสัดส่วนการใช้แอปพลิเคชั่น Whatsapp เป็นหลัก ตามด้วย Facebook, Instagram, Tiktok และ Twitter ขณะที่ชาวอินโดนีเซีย มีสัดส่วนการใช้แอปพลิเคชั่น Whatsapp สูงสุด ตามมาด้วย Instagram, Facebook, Tiktok และ Twitter 

นายบรรณ กล่าวว่า สัดส่วนของแอปพลิเคชั่นที่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ใช้ค้นหาแบรนด์ ของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์มาเลเซียอายุ 16 – 64 ปี พบว่า มีสัดส่วนผู้ใช้งานค้นหาข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดีย (ทุกแพลตฟอร์ม) 77.2% เว็บไซต์ถามตอบ 21.4% เว็บฟอรั่ม-บอร์ด 17.3% 

ใกล้เคียงกับผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์อินโดนีเซียอายุ 16 – 64 ปี ที่พบว่า มีสัดส่วนผู้ใช้งานค้นหาข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดีย (ทุกแพลตฟอร์ม) 82.7% เว็บไซต์ถามตอบ 22.3% เว็บฟอรั่ม-บอร์ด 11.4%

นายบรรณ กล่าวต่อว่า การออกแบบกลยุทธ์สื่อสารทางการตลาดของแบรนด์ในธุรกิจการท่องเที่ยว อาจแบ่งกลยุทธ์การสื่อสารตามธรรมชาติของการออกเดินทางได้ โดยเริ่มต้นสื่อสารและออกแบบ Touch Point ตั้งแต่ก่อนการออกเดินทาง ระหว่างเดินทาง และหลังการเดินทาง เพื่อสร้างการจดจำแบรนด์และข้อความที่ต้องการสื่อสาร โดยอาจใช้สื่อสังคมออนไลน์ สื่อนอกบ้านผนวกร่วมกัน

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอาจเลือกใช้ AI Marketing ร่วมทำการตลาดได้ โดยกลยุทธ์ดังกล่าวมีข้อดีคือ สามารถนำเสนอสารไปยังลูกค้าได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เช่น เจาะลึกกลุ่มเป้าหมายจากระดับการศึกษา รายได้ เพศ พฤติกรรมการใช้สื่อสังคมออนไลน์ แต่การใช้กลยุทธ์ดังกล่าวอาจมีค่าใช้จ่ายตามมา

นายบรรณ ตั้งข้อสังเกตว่า ในการใช้ Key Opinion Leader : KOL หรือผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิด, อินฟลูเอ็นเซอร์ ในการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวนั้น ผู้ประกอบการควรพิจารณาลักษณะเนื้อหาและไลฟ์สไตล์ ที่เหล่าอินฟลูเอ็นเซอร์สื่อสารออกไปว่าตรงกับอัตลักษณ์หรือแคมเปญที่ต้องการนำเสนอหรือไม่ 

รวมไปถึงต้องพิจารณาว่าเดิมกลุ่มผู้ติดตาม (Follower) ของอินฟลูเอ็นเซอร์เหล่านั้น มีแนวโน้มสนใจสารหรือคาแรคเตอร์ที่แบรนด์ต้องการจะสื่อหรือไม่ 

“เราไม่ควรไปบิดวิธีการเล่าของ KOL ดังนั้นโรงแรมควรออกแบบการสื่อสารของแบรนด์ให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์การนำเสนอของ KOLรายนั้น ๆ” นายบรรณ กล่าว 

นอกจากนี้ การใช้ KOL นำเสนอผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวอาจวัดผลสำเร็จได้ยาก ดังนั้น แบรนด์หรือเจ้าของธุรกิจจำเป็นต้องตรวจสอบยอดการมีส่วนร่วมของกลุ่มเป้าหมายการสื่อสารอย่างละเอียดและรอบคอบ