เอกชนลุยขยาย สถานีชาร์จ ขับอีวีถูกกว่ารถใช้น้ำมัน 5 เท่า

รัฐ-เอกชนผนึกกำลังขานรับรถอีวี ลุยตั้งสถานีชาร์จ กางแผนปี 2030 ต้องมีหัวจ่ายไฟทะลุ 1.3 หมื่นตัว กระจายตามหัวเมืองใหญ่และเส้นทางหลัก เผยตัวเลขรถใช้มอเตอร์ไฟฟ้าปีนี้แตะแสนคัน เปิดตัวเลขความคุ้มค่าระหว่างรถใช้มอเตอร์ไฟฟ้ากับน้ำมันต่างกัน 3-5 เท่าตัว

ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อย่างจริงจัง ตามนโยบายคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติประกาศ 30@30 มุ่งเพิ่มสัดส่วนการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2573 (2030) ให้ได้ 30% และขยับขึ้นเป็น 100% ในปี 2578

ซึ่งหมายถึงไทยจะมีรถยนต์ไฟฟ้า 18.41 ล้านคัน ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติส่งเสริมให้เกิดการผลิตและใช้รถยนต์ไฟฟ้า ก่อนที่จะมีการผลิตอย่างจริงจัง ทั้งลดอากรขาเข้า ลดภาษีสรรพสามิตและแจกเงินอุดหนุน 1.5 แสนบาท สำหรับซื้อรถอีวีที่มีราคาขายปลีกไม่เกิน 2 ล้านบาท

ส่งผลให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าปรับลดลงและสามารถแข่งขันกับรถยนต์สันดาปได้ แต่อย่างไรก็ตาม “สาธารณูปโภคพื้นฐาน” โดยเฉพาะสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ายังเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่ง ที่มีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคว่าหากซื้อรถอีวีแล้วจะสามารถชาร์จไฟฟ้าได้ที่ไหนและมีอัตราค่าไฟฟ้าเป็นอย่างไร

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ตรวจสอบข้อมูลพบว่า ปัจจุบันมีคู่พันธมิตรสถานีชาร์จรวมกว่า 7 คู่ ที่มีการลงทุนสถานีชาร์จต่อเนื่อง โดยคาดว่าเฉพาะในปี 2565 จะมีจำนวนสถานีชาร์จรวมเกิน 600 สถานี คิดเป็นจำนวนหัวชาร์จมากกว่า 1,200 หัวชาร์จ

ขณะที่อัตราค่าไฟฟ้า ปัจจุบันคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อนุญาตให้ 3 การไฟฟ้า (การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)) ขายไฟให้ผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาพื้นที่เป็นสถานีอัดประจุไฟฟ้า หรือสถานีชาร์จ

โดยกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าพิเศษ (low piority) ที่ 2.6369 บาทต่อหน่วยเป็นระยะเวลา 2 ปี นับจากการออกประกาศของ 3 การไฟฟ้า จากนั้นการกำหนดราคาค่าไฟฟ้าสำหรับอีวีจะขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการสถานีชาร์จปลายทาง ซึ่งจะคิดในอัตราตามต้นทุนของแต่ละราย

ส.อ.ท.มั่นใจยอดใช้อีวีโต 100%

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หลังคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบแพ็กเกจอีวี คาดว่าจะทำให้ตลาดอีวีเติบโตขึ้นเท่าตัว

โดยจะมีจำนวนการใช้อีวีในปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 4,000 คัน จากปีก่อนที่มีประมาณ 2,000 คัน ซึ่งก็เป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2563 ที่มียอดการใช้ประมาณ 1,200 คัน แต่ยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นได้อีก เพราะหากคิดเป็นสัดส่วนการใช้แล้วยังเทียบได้ไม่ถึง 0.5% ของภาพรวมตลาดรถยนต์ในประเทศทั้งหมด

รายงานข่าวจากคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เปิดเผยว่า นโยบายส่งเสริมใช้รถอีวีจะทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเติบโตเพิ่มขึ้นมาก ประกอบกับระยะหลังหลายค่ายรถยนต์นำเสนอรถยนต์ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าและอีวีให้เลือกมากขึ้นด้วย ประเมินว่ารถยนต์ xEV ในปี 2565 จะมีใกล้เคียงจำนวน 1 แสนคัน

ชงอุดหนุนค่าเครื่องอัดประจุ

ขณะที่ นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ.ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จัดทำแผนการพัฒนาสถานีประจุแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อรองรับเป้าหมายการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ ตามนโยบาย 30@30

ซึ่งผลการศึกษาพบว่าตำแหน่งที่ตั้งและจำนวนเครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าแบบ fast charge ที่เหมาะสมสำหรับแผนพัฒนาสถานีอัดประจุสาธารณะในปี 2030 ควรมีสถานี 567 แห่ง และมีเครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า 13,251 เครื่อง

แบ่งเป็นสถานีอัดประจุสาธารณะในเขตพื้นที่หัวเมืองใหญ่ 505 แห่ง เครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า 8,227 เครื่อง และสถานีอัดประจุสาธารณะเขตพื้นที่ทางหลวง (highway) 62 แห่ง เครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า 5,024 เครื่องพร้อมเสนอแนวทางการสนับสนุนในช่วง 2 ปีแรก คือ

กกพ.ปล่อยค่าชาร์จอีวีเสรี

ด้าน นายคมกริช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ปัจจุบัน กกพ.เข้าไปดูแล 2 ส่วน คือ การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าพิเศษ (low piority) สำหรับ 3 การไฟฟ้าที่จะขายให้ผู้ประกอบการเจ้าของสถานีชาร์จ (ราคาขายส่ง)

ซึ่งอยู่ในเรต 2.6369 บาทต่อหน่วย จากนั้นทางผู้ประกอบการจะไปคำนวณบวกกับต้นทุนต่าง ๆ เช่น ค่าเครื่อง ค่าเช่าพื้นที่ ซึ่งเฉลี่ยจะบวกเพิ่มอีก 6-8 บาทต่อหน่วย เพื่อกำหนดเป็นราคาขายไฟให้กับผู้ชาร์จ (ราคาขายปลีก) ซึ่งจะอยู่ที่ 8-11 บาทต่อหน่วย ขึ้นอยู่กับต้นทุนของแต่ละรายและแต่ละทำเล

อย่างไรก็ตาม ในส่วน 3 การไฟฟ้าจะเป็นองค์กรที่มีหมวก 2 ใบ คือ ขายไฟให้ผู้ประกอบการสถานีชาร์จ และการไฟฟ้าเข้าไปลงทุนทำสถานีชาร์จเสียเอง ดังนั้นค่าไฟ (ขายปลีก) ที่ 3 การไฟฟ้าขายก็ไม่จำเป็นต้องเท่ากัน เช่น ตอนนี้ กฟภ.ออกประกาศขายไฟสำหรับสถานีอัดประจุของ กฟภ. (ราคาขายปลีก) ช่วงพีกที่ 7.7276 บาท และช่วงออฟพีก 4.3451 บาท สำหรับปี 2565 เป็นต้น

ส่วนด้านที่ 2 กกพ.จะกำกับดูแลในส่วนของการลงทุนสถานีชาร์จเชิงพาณิชย์ สำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนก็ต้องมาจดทะเบียน (จดแจ้ง) กับ กกพ.ว่ามีการติดตั้งและใช้อุปกรณ์ที่มีมาตรฐานหรือไม่อย่างไร

เพราะมีเรื่องของความปลอดภัยต่อสาธารณะ คล้ายกับการติดตั้งแผงโซลาร์ แต่กรณีติดตั้งอุปกรณ์การชาร์จรถอีวีที่บ้านก็ไม่จำเป็นต้องมาแจ้ง เพราะเครื่องชาร์จรถอีวีหนึ่งตัวมีการใช้ไฟฟ้าเท่ากับแอร์หนึ่งตัว ซึ่งผู้บริโภคต้องพิจารณาเรื่องมาตรฐานสินค้ามี มอก.รับรองหรือไม่อย่างไร

เอกชนพาเหรดลงทุน

นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดเผยว่า ในปีนี้โออาร์ตั้งเป้าพัฒนาสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในพื้นที่สถานีบริการสถานีน้ำมัน PTT Station เพิ่มอีก 200 แห่ง

โดยอยู่ระหว่างรออนุมัติใบอนุญาตจาก กกพ. คาดว่าภายในสิ้นปีจำนวนสถานีจะเป็นไปตามเป้าหมาย 300 แห่ง และยังมีการขยายนอกสถานีบริการ PTT Station อีก 150 แห่ง

ขณะที่ นายสมชัย เตชะวณิช ประธานเจ้าหน้าที่การตลาดและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจการตลาด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแผนงานการขยาย EV Charging Station ในสถานีบริการน้ำมันบางจากว่ามีแผนการขยายสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า ภายในสถานีบริการน้ำมันบางจาก ในปี 2565 อีกมากกว่า 100 แห่ง ซึ่งรวมแล้วในปี 2564-2565 บางจากจะมีสถานีชาร์จมากกว่า 250 แห่ง

ด้านนายแจ็คกี้ จาง ประธานบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA กล่าวว่า เดลต้าร่วมกับการไฟฟ้านครหลวงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และเพิ่มสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศไทยตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบันความร่วมมือนี้กำลังเดินหน้าไปได้ด้วยดี และเชื่อว่ามาตรการจูงใจด้านภาษีของรัฐบาลสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าจะช่วยเร่งการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้เติบโตอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นภายใน 2 ปีข้างหน้านี้

ขณะที่แหล่งระดับสูง บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันได้ติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า EA Anywhere 9 แห่งและมีแผนที่จะเปิดเพิ่มเติมอีกในอนาคต

สำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้า EA Anywhere ในสถานีบริการน้ำมันคาลเท็กซ์ ประกอบไปด้วย เครื่องชาร์จระบบปกติ ACและระบบชาร์จเร็ว DC ที่ใช้เวลา 15-20 นาที (เวลาในการชาร์จขึ้นอยู่กับรถแต่ละรุ่น)

แสนสิริติดเครื่องชาร์จทุกหลัง

นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า แสนสิริตั้งเป้าบ้านเดี่ยวระดับบน ราคาตั้งแต่ 8 ล้านบาท ด้วยการติด EV Charger ทุกหลังในปี 2565

ทั้งยังมีแผนติดเครื่องชาร์จในบ้านเดี่ยว 1,860 หลัง ภายใน 3 ปี ซึ่งจะช่วยให้ลูกบ้านแสนสิริทุกหลังประหยัดค่าน้ำมันรวมกว่า 150 ล้านบาทต่อปี

ถูกกว่าใช้น้ำมัน 4-5 เท่าตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ ๆ แบตเตอรี่มีความจุค่อนข้างมาก ทำให้ระยะทางการวิ่งไกลขึ้น ตัวอย่างเช่น เมอร์เซเดส-EQS 450+ AMG Premium ใช้แบตเตอรี่ EB40x เป็นแบตเตอรี่ขนาดความจุ 107.8 kWh

ซึ่งเป็นขนาดใหญ่ น้ำหนัก 670 กิโลกรัม สามารถใช้ขับขี่ได้ไกลถึง 770 กิโลเมตร กรณีนำไปชาร์จไฟตามสถานีชาร์จทั่วไป คิดค่าไฟเฉลี่ย 4 บาทต่อ kWh ก็ตกราว ๆ 450-500 บาท เปรียบเทียบรถรุ่นนี้หากใช้น้ำมัน

เทียบได้กับรุ่นเมอร์เซเดส-เบนซ์ เอสคลาส ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 6 สูบ แถวเรียง 3.0 ลิตรเทอร์โบ 286 แรงม้า อัตราการบริโภคน้ำมัน 8-9 ลิตรต่อ 100 กม. ดังนั้นถ้าวิ่งระยะทาง 700 กม. ต้องจะใช้น้ำมันราว ๆ 55-60 ลิตร ราคาน้ำมันดีเซลปัจจุบันลิตรละ 39 บาท คิดเป็นเงินสูงถึง 2,300 บาท แน่นอนรถยนต์ไฟฟ้าประหยัดมากกว่า 4-5 เท่าตัว