อินโดนีเซียเผย มีผู้เสียชีวิตเหตุจลาจลฟุตบอลแล้ว 174 ราย

เสียชีวิต อินโดนีเซีย ฟุตบอล
เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ตรวจสอบเหยื่อการจลาจลที่โรงพยาบาล Saiful Anwar หลังเกิดเหตุอลหม่านในการแข่งขันฟุตบอลลีก BRI Liga 1 ในมาลัง จังหวัดชวาตะวันออก ประเทศอินโดนีเซีย REUTERS/Rizki Dwi Putra
อัพเดตวันที่ 2 ตุลาคม 2565  เวลา 17.30 น. (ตามเวลาประเทศไทย)

แฟนบอลในอินโดนีเซียปะทะเดือด หลังฟาดแข้งแพ้คู่แข่ง 3 : 2 ตำรวจยิงแก๊สน้ำตา เกิดเหตุอลหม่าน ผู้ชมหนีออกจากสนาม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 174 ราย บาดเจ็บ 180 ราย สโมสรฟุตบอลอาเรมาถูกสั่งห้ามเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในช่วงที่เหลือของฤดูกาลนี้ บีอาร์ไอ ลีกา 1 หยุดแข่ง 1 สัปดาห์ รมว.ความมั่นคงเผยสนามรับคนเกินความจุ

วันที่ 2 ตุลาคม 2565 รอยเตอร์ส รายงาน นีโค อาฟินตา หัวหน้าสารวัตรตำรวจชวาตะวันออก เปิดเผยว่า หลังการแข่งขันฟุตบอล สโมสรอาเรมา (Arema FC) และเปอร์เซบายา สุราบายา (Persebaya Surabaya) จบลง กองเชียร์จากทีมที่แพ้ได้บุกเข้าไปในสนาม และตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตา ทำให้เกิดการแตกตื่นและขาดอากาศหายใจ

ฟุตบอล อินโดนีเซีย เสียชีวิต
REUTERS

รายงานล่าสุดเมื่อเวลาประมาณ 08.01 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ตำรวจอินโดนีเซียเปิดเผยว่า มีผู้เสียชีวิต 127 คน บาดเจ็บ 180 คน ในเวลาชั่วข้ามคืน จากเหตุภาวะแตกตื่น ฝูงชนแย่งกันออกจากสนามการแข่งขัน จากเหตุความวุ่นวายดังกล่าว

ภาพวิดีโอจากช่องข่าวท้องถิ่น แสดงให้เห็นว่าผู้คนกำลังวิ่งไปบนสนามกีฬาในมาลังและภาพถุงเก็บศพ

สมาคมฟุตบอลอินโดนีเซีย (PSSI) เปิดเผยว่า ลีกสูงสุดของชาวอินโดนีเซีย บีอาร์ไอ ลีกา 1 ได้ระงับการแข่งขันเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หลังเกมที่เปอร์เซบายา ชนะ 3-2 และมีการสอบสวนเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีปัญหาในการแข่งขันฟุตบอลในอินโดนีเซีย โดยการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างสโมสรบางครั้งนำไปสู่ความรุนแรงในหมู่ผู้สนับสนุน

สนามฟุตบอล อินโดนีเซีย จลาจล
REUTERS/Willy Kurniawan

ฟาก บลูมเบิร์ก รายงานอ้างอิง สกายนิวส์ สื่อท้องถิ่นว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 127 รายในการจลาจลหลังการแข่งขันฟุตบอลในอินโดนีเซีย โดยความรุนแรงปะทุขึ้นที่สนามกีฬาแห่งหนึ่งในชวาตะวันออกระหว่างการแข่งขันระหว่างอาเรมาและเปอร์เซบายา สุราบายา

พบผู้บาดเจ็บประมาณ 180 คนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เชื่อกันว่าเกิดการแตกตื่นหลังจากตำรวจยิงแก๊สน้ำตา ทั้งนี้ลีกฟุตบอลของอินโดนีเซียขณะนี้ได้ระงับไป 1 สัปดาห์และสโมสรฟุตบอลอาเรมาถูกสั่งห้ามไม่ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในช่วงที่เหลือของฤดูกาลนี้

ต่อมา รอยเตอร์ส รายงานคำกล่าวของ มาห์ฟุด เอ็มดี หรือ โมฮัมหมัด มาห์ฟุด มาห์โมดิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสานงานกิจการการเมือง กฎหมาย และความมั่นคงอินโดนีเซีย ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เกิดจากจำนวนผู้ชมเกินความจุของสนามกีฬา และเมื่อฝูงชนแตกตื่น จึงทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 129 ราย 

เขาโพสต์บนอินสตาแกรม ว่ามีการออกตั๋ว 42,000 ใบ สำหรับสนามกีฬาที่จุคนได้ 38,000 คน

อินโดนีเซีย จลาจล สนามฟุตบอล
Mahfud MD Indonesia’s chief security minister (ภาพจากอินสตาแกรม mohmahfudmd)

รอยเตอร์ส รายงานอัพเดตจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุจลาจลในการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีมอาเรมา เอฟซีและเปอร์เซบายา สุราบายา เมื่อเวลา 17.30 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ว่า มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 174 ราย บาดเจ็บอีก 180 ราย และนับเป็นโศกนาฎกรรมในสนามกีฬาครั้งที่เลวร้านที่สุดนับตั้งแต่ปี 2507 หรือในรอบ 58 ปี

โดยเหตุการณ์นี้เกิดจากผู้ชมเหยียบกันตายที่สนามฟุตบอล หลังจากตำรวจพยายามระงับความรุนแรงในสนาม โดยเจ้าหน้าที่ยิงแก๊สน้ำตาเพื่อสลายความวุ่นวายของผู้สนับสนุนที่ไม่พอใจผลการแข่งขัน

“มันกลายเป็นอนาธิปไตย พวกเขาเริ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ พวกเขาทำให้รถเสียหาย” นีโค อาฟินตา หัวหน้าสารวัตรตำรวจชวาตะวันออก กล่าว

เอมิล ดาร์ดัก รองผู้ว่าราชการจังหวัดชวาตะวันออกและหน่วยงานภัยพิบัติในพื้นที่ ระบุยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 174 รายในบ่ายวันนี้ (2 ก.ย. 2565) และตัวเลขดังกล่าวอาจรวมถึงผู้เสียชีวิตซ้ำซ้อนด้วย เนื่องจากหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ระบุว่า มีจำนวนผู้เสียชีวิตที่ 130 ราย

แม้จำนวนผู้เสียชีวิตยังไม่ชัดเจน แต่เหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็นเหตุการณ์รุนแรงในสนามกีฬาที่เลวร้ายที่สุดในโลกในรอบกว่าครึ่งศตวรรษ

วิดีโอจากช่องข่าวท้องถิ่นแสดงให้เห็นว่าแฟน ๆ เข้าสู่สนามหลังจากที่ที่อาเรมา เอฟซีแพ้ 3-2 ให้กับ เปอร์เซบายา สุราบายา เมื่อเวลาประมาณ 22.00 น. (คืนวันเสาร์ที่ 1 ต.ค.ตามเวลาท้องถิ่น) ตามด้วยการทะเลาะวิวาท กลุ่มก้อนแก๊สน้ำตา และผู้คนที่หมดสติถูกหามออกจากสถานที่

แพทย์ในโรงพยาบาลกันจูรูหานที่อยู่ใกล้เคียงได้รับบาดเจ็บ ระบุว่า ผู้ป่วยหลายคนหายใจลำบาก และขาดออกซิเจน เนื่องจากผู้คนจำนวนมากในที่เกิดเหตุได้รับผลกระทบจากแก๊สน้ำตา

ส่วนผู้อำนวยการโรงพยาบาลอีกแห่งในพื้นที่บอกกับ Metro TV ว่าเหยื่อบางรายได้รับบาดเจ็บที่สมอง และมีผู้เสียชีวิตรวมเป็นเด็กอายุ 5 ขวบด้วย

แก๊สน้ำตา อินโดนีเซีย สนามฟุตบอล
Antara Foto. Antara Foto/Ari Bowo Sucipto/via REUTERS

ปธน.วิโดโด ระบุขอให้นี่คือโศกนาฏกรรมฟุตบอลครั้งสุดท้าย

โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ต้องประเมินความปลอดภัยในการแข่งขันอย่างละเอียด และเขาหวังว่านี่จะเป็น “โศกนาฏกรรมฟุตบอลครั้งสุดท้ายในประเทศ”

ขณะที่ หน่วยงานกำกับดูแลของฟุตบอลโลก FIFA ระบุไว้ในข้อบังคับด้านความปลอดภัยว่าห้ามพกอาวุธปืนหรือ “แก๊สควบคุมฝูงชน” ทั้งโดยเจ้าหน้าที่หรือตำรวจสู่สนามฟุตบอล และตำรวจชวาตะวันออกไม่ตอบคำถามนี้ของผู้สื่อข่าว ซึ่งทำให้ไม่ทราบว่าพวกเขาทราบกฎระเบียบดังกล่าวหรือไม่

จานนี อินฟานติโน ประธานฟีฟ่า กล่าวในแถลงการณ์ต่อรอยเตอร์สว่า โลกของฟุตบอลกำลัง “ตกตะลึงหลังจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซีย” และเหตุการณ์ดังกล่าวเป็น “วันที่มืดมนสำหรับทุกคนที่เกี่ยวข้อง”

ยูนุส นูซี เลขาธิการ PSSI เปิดเผยว่า ฟีฟ่าได้ร้องขอรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจาก PSSI ซึ่งได้ส่งทีมไปยังมาลังเพื่อตรวจสอบแล้ว

ขณะที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของอินโดนีเซียจะสอบสวนการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ รวมถึงการใช้แก๊สน้ำตา

ส่วนประชาชนทั่วไปในอินโดนีเซีย รวมตัวกันที่ด้านนอกประตูสนามกีฬาเพื่อร่วมไว้อาลัย และวางดอกไม้ให้กับเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าง

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อินโดนีเซีย ประณามมาตรการรักษาความปลอดภัย โดยกล่าวว่า การใช้กำลังที่เกินกำลังโดยรัฐ … เพื่อควบคุมหรือควบคุมฝูงชนดังกล่าวไม่สามารถหาเหตุผลได้