
ท่ามกลางทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ของหลายประเทศเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว กำลังส่งผลกระทบต่อโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road) ของจีน ด้วยค่าใช้จ่ายในโครงการก่อสร้างในประเทต่าง ๆ ที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้หลายโครงการต้องหยุดชะงักหรือล้มเหลว กลายเป็นความเสี่ยงด้านภาระหนี้มหาศาลของบริษัทก่อสร้าง
นิกเคอิเอเชียรายงานว่า “ไชน่า คอมมิวนิเคชั่นส์ คอนสตรักชั่น กรุ๊ป” (CCCG) กลุ่มรัฐวิสาหกิจด้านการก่อสร้างท่าเรือ ถนน รถไฟความเร็วสูง และอสังหาริมทรัพย์ของจีน กำลังมีความเสี่ยงที่จะต้องแบกรับภาระหนี้จำนวนมาก จากที่โครงการก่อสร้างในต่างประเทศได้รับผลกระทบจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
- สินมั่นคงฯ : คปภ.เกาะติดกระบวนการฟื้นฟูกิจการ-ส่งสัญญาณเตือน ปชช.
- ครม.เคาะแล้ว ซื้อสินค้าลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5 หมื่นบาท เริ่ม 1 ม.ค. 67
- ญี่ปุ่นสู้ศึก EV จีน-ลุยส่งออก โตโยต้ายอดพุ่ง “BYD-เทสลา” แรง
แม้ว่าในปี 2021 CCCG จะสามารถทำกำไรได้ถึง 30,500 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นราว 70% จากปี 2016 แต่ภาระหนี้ของบริษัทก็เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขึ้นมาอยู่ที่ราว 1.84 ล้านล้านหยวนในเดือน มิ.ย. 2022 ตัวเลขหนี้ดังกล่าวเกือบเทียบเท่ากับหนี้ของ “เอเวอร์แกรนด์” บริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของจีนที่เผชิญวิกฤตหนี้สูงถึง 2 ล้านล้านหยวน
ทั้งนี้ CCCG เป็นรัฐวิสาหกิจรายใหญ่ของจีนที่เข้าไปในลงทุนก่อสร้างในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาตามโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง แต่ความผันผวนทางเศรษฐกิจโลก กำลังส่งผลให้รายได้จากโครงการในต่างประเทศของ CCCG มีแนวโน้มลดลง โดยปี 2021 สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศลดลงมาอยู่ที่ราว 13% ของรายได้ทั้งหมด จากที่ปี 2017 มีสัดส่วนสูงสุดถึง 24%
“ทาคาฮิเดะ คิอุจิ” นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยโนมูระชี้ว่า ประเทศกำลังพัฒนาต้องเผชิญความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากวิกฤตค่าเงิน เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐทำให้ค่าเงินของประเทศเหล่านั้นอ่อนค่าลง ขณะที่สถานการณ์ในยูเครนก็ทำให้ราคาพลังงานและอาหารพุ่งสูงขึ้น ทำให้เศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่หลายแห่งประสบปัญหา ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนถึงการลงทุนโครงการก่อสร้างบางแห่งอาจล้มเหลว
ปัจจุบัน CCCG เดินหน้าลงทุนก่อสร้างในโครงการต่าง ๆ หลายภูมิภาค ซึ่งส่วนมากอยู่ในแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกา และปีนี้ยังมีแผนการลงทุนเพิ่มอีก 280,000 ล้านหยวน
อย่างไรก็ตาม โครงการเหล่านี้ยังถูกตั้งคำถามถึงความสามารถในการทำกำไร ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือโครงการพัฒนาท่าเรือฮัมบันโตตา (Hambanto) ใน “ศรีลังกา” ที่ประสบภาวะขาดทุนเนื่องจากแทบจะไม่มีผู้ใช้บริการ และถูกวิจารณ์เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ผลักให้ศรีลังกาต้องเผชิญภาวะ “กับดักหนี้” ของจีน
ขณะเดียวกัน วิกฤตสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของจีนก็เป็นอีกส่วนที่สร้างความเสี่ยงให้กับ CCCG เนื่องจากบริษัทพึ่งพิงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีนค่อนข้างมาก คิดเป็นสัดส่วนราว 14% ของรายได้ทั้งหมดในปี 2021
แม้ว่าผลกระทบนี้ต่อ CCCG จะไม่เห็นชัดเท่าบริษัทเอกชนรายอื่น แต่ “หวัง ไห่หวาย” ประธาน บริษัท ไชน่า คอมมิวนิเคชั่นส์ คอนสตรักชั่น โค. (CCCC) บริษัทในเครือ CCCG ได้เปิดเผยในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ถึงข้อเสนอการรวมบริษัทในเครือที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งเข้าเป็นหนึ่งเดียว เพื่อรับมือกับปัญหาทางการเงินที่เกิดขึ้นกับหลายบริษัทในเครือ
การปรับตัวของ CCCG นับเป็นส่วนหนึ่งในแนวทางของรัฐบาลจีน ที่ต้องการยกเครื่องการลงทุนและการดำเนินการในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางใหม่ ที่ต้องการให้บริษัทที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ปรับปรุงความสามารถในการทำกำไรและการจัดการความเสี่ยงได้ดีขึ้น รวมถึงประเมินผลทางการเงินในโครงการใหม่อย่างเข้มงวด หลังจากที่จีนทุ่มเงินไปกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเงินกู้ให้กับโครงการต่าง ๆ เกือบ 150 ประเทศทั่วโลกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา