5 เหตุผลที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจีนกำลังแย่

เศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัวลง จากผลพวงการบังคับใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ที่เข้มงวด ประกอบกับอุปสงค์โลกที่ลดต่ำลง

ตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3 จะเปิดเผยออกมาในสัปดาห์หน้า ซึ่งหากผลออกมาว่าเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงจริง ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยได้

รัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 5.5% แต่จากสถานการณ์ในปัจจุบัน ดูจะเป็นไปได้ยากในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์หลายคน แม้ว่าจีนจะหลีกเลี่ยงภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจได้สำเร็จในไตรมาสเดือน เม.ย. ถึง มิ.ย. ก็ตาม

แม้จีนจะยังไม่ต้องสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูง เหมือนในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร แต่จีนก็เผชิญปัญหาอื่นมากมาย อาทิ โรงงานต่าง ๆ มีลูกค้าที่เข้ามาซื้อผลิตภัณฑ์ลดลงทั้งลูกค้าจากในและต่างประเทศ ขณะที่ความตึงเครียดระหว่างจีนและมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอื่น ๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ก็กระทบต่อภาพลักษณ์เศรษฐกิจจีนเช่นกัน

เงินหยวนในเวลานี้ กำลังค่อย ๆ อ่อนตัวลง ใกล้ถึงจุดต่ำสุดในรอบหลายสิบปี เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งค่าเงินหยวนที่ลดต่ำ ทำให้นักลงทุนวิตก และสร้างความไม่แน่นอนในตลาดเงิน อีกทั้งยังทำให้ธนาคารกลางจีนอัดฉีดเงินเข้าเศรษฐกิจได้ลำบาก

สถานการณ์เหล่านี้ เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองสำคัญของจีน ห้วงเวลาที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน เตรียมขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นครั้งที่ 3 ในการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่จะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 16 ต.ค. นี้

จีนทำพลาดตรงไหน นี่คือ 5 เหตุผลที่ สุรันจนา เทวารี ผู้สื่อข่าวสายธุรกิจเอเชียของบีบีซี วิเคราะห์และรวบรวมไว้

โควิดเป็นศูนย์สร้างความเสียหายมหาศาล

โควิดเป็นศูนย์ ทำให้เมื่อพบคลัสเตอร์ผู้ป่วยโควิด รัฐบาลจะสั่งล็อกดาวน์อย่างรวดเร็ว แต่การล็อกดาวน์เหล่านี้ รวมถึงในแหล่งผลิตอย่างเซินเจิ้นและเทียนจิน ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในภาพรวม

ประชาชนเองใช้จ่ายเงินกับอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงซื้อสินค้าปลีก และท่องเที่ยวลดลง เพื่อประหยัดเงิน ยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมบริการอย่างหนัก

ในแง่ของภาคการผลิต โรงงานต่าง ๆ เริ่มกลับมามีกิจกรรมเพิ่มขึ้นแล้วในเดือน ก.ย. ตามตัวเลขของกรมสถิติแห่งชาติ ซึ่งอาจเป็นผลจากการที่รัฐบาลจีนใช้เงินมากขึ้นกับโครงสร้างพื้นฐาน

ผู้คนใช้จ่ายน้อยลง

ที่มาของภาพ, Getty Images

แต่สองเดือนก่อนหน้านั้น ภาคการผลิตของจีนไม่ขยายตัวเลย ซึ่งเมื่อการผลิตหยุดชะงัก ปริมาณสินค้าก็ลดลง รายการสั่งสินค้าก็น้อยลง เช่นเดียวกับการจ้างงาน ซ้ำร้ายอุปสงค์จากประเทศอย่างสหรัฐฯ ลดลงต่อเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูง อัตราเงินเฟ้อที่ยังไม่ลดลง และสงครามในยูเครน

ผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องว่า รัฐบาลจีนดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่านี้ แต่ตราบใดที่ยังยึดหลักโควิดเป็นศูนย์อยู่ สิ่งที่ทำได้ในตอนนี้ก็ยังไม่มาก หากโควิดยังไม่สิ้นสุด

“ไม่มีประโยชน์ที่จะอัดฉีดเงินเข้าเศรษฐกิจ ถ้าธุรกิจขยายตัวไม่ได้ หรือคนใช้จ่ายเงินไม่ได้” ลุยส์ คูอิจส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แผนกเอเชีย ของเอสแอนพี โกลบอล เรตติงส์ กล่าว

รัฐบาลทำไม่มากพอ

รัฐบาลจีนพยายามเข้ามาแก้ปัญหาแล้ว โดยเมื่อเดือน ส.ค. ได้ประกาศทุ่มเงิน 1 ล้านล้านหยวน เพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก โครงสร้างพื้นฐาน และอสังหาริมทรัพย์

แต่นักวิเคราะห์มองว่า รัฐบาลจีนดำเนินมาตรการได้มากกว่านี้ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย ที่นำไปสู่เป้าหมายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และสร้างงาน อาจเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานให้มากขึ้น ลดเงื่อนไขการกู้ยืมเงินสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อบ้าน นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และรัฐบาลท้องถิ่น รวมถึงการลดหย่อนภาษีให้ครัวเรือน

“มาตรการของรัฐบาลต่อเศรษฐกิจที่ซบเซา ถือว่ายังไม่เข้มข้นมากพอ เมื่อเทียบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในอดีต” คูอิจส์ กล่าว

สี จิ้นผิง เตรียมขึ้นดำรงตำแหน่งสมัย 3

ที่มาของภาพ, Getty Images

ตลาดบ้านจีนกำลังวิกฤต

กิจกรรมที่ลดลงในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงความรู้สึกเชิงลบต่อธุรกิจค้าบ้าน ทำให้อัตราการเจริญเติบโตชะลอตัวลงเช่นกัน

ปัจจัยนี้ กระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เพราะอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมอื่น ๆ คิดเป็น 1 ใน 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี

“เมื่อความเชื่อมั่นในตลาดบ้านลดต่ำ ประชาชนก็คลางแคลงใจต่อเศรษฐกิจในภาพรวมไปด้วย” คูอิจส์ วิเคราะห์

ตอนนี้ผู้ซื้อบ้านเริ่มปฏิเสธไม่ผ่อนต่อในโครงการบ้านที่กำลังสร้างอยู่ และกังวลว่าบ้านของพวกเขาจะสร้างไม่เสร็จ ส่วนอุปสงค์ความต้องการบ้านแห่งใหม่ ๆ ก็ลดลง ซึ่งทำให้การนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ที่ใช้ในการก่อสร้างลดลงตามไปด้วย

อสังหาฯ จำนวนมากเสี่ยงสร้างไม่เสร็จ

ที่มาของภาพ, Getty Images

แม้รัฐบาลจีนจะพยายามกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ แต่ราคาบ้านในหลายสิบเมืองทั่วประเทศ ได้ลดต่ำลงไปแล้วกว่า 20% ในช่วงปีที่ผ่านมา

เมื่อนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เผชิญแรงกดดันเช่นนี้ นักวิเคราะห์มองว่า ทางการต้องทำมากกว่านี้ เพื่อดึงความเชื่อมั่นให้กลับมาในตลาดอสังหาฯ

สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงยิ่งทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่

สภาพอากาศที่รุนแรงเริ่มส่งผลกระทบระยะยาวต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ ของจีนแล้ว

ช่วงเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา มณฑลเสฉวน ทางตะวันตกเฉียงใต้ และเทศบาลนครฉงชิ่ง ต้องเผชิญกับคลื่นความร้อน ตามด้วยภัยแล้ง

เมื่อความต้องการใช้เครื่องปรับอากาศพุ่งสูงขึ้น ทำให้ระบบไฟฟ้ารับภาระหนัก ทั้งที่ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ก็แทบไม่เพียงพออยู่แล้ว ในภูมิภาคที่พึ่งพาไฟฟ้าพลังน้ำเป็นหลัก

โรงงาน รวมถึงของบริษัทฟ็อกซ์คอนน์ ที่ผลิตไอโฟนให้แอปเปิล และเทสลา ต้องลดชั่วโมงการทำงานลง หรือระงับการผลิตไปช่วงหนึ่ง

กรมสถิติแห่งชาติของจีนระบุว่า เมื่อเดือน ส.ค. ผลกำไรของอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ลดลงมากกว่า 80% ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2022 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จนท้ายสุดรัฐบาลจีนต้องเข้ามาอุ้ม ด้วยเงินช่วยเหลือหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่บริษัทพลังงาน และภาคการเกษตรด้วย

ยักษ์สายเทคจีนสูญนักลงทุน

ปัจจัยที่ยิ่งซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก คือ การกวาดล้างบริษัทด้านเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในจีน ที่ดำเนินมานานกว่า 2 ปีแล้ว ส่งผลให้บริษัทอย่าง เทนเซนต์ และ อาลีบาบา รายงานตัวเลขรายได้ที่ลดลงเป็นครั้งแรกในช่วงหลายไตรมาส โดย เทนเซนต์มีกำไรลดลงถึง 50% ขณะที่ อาลีบาบา รายได้สุทธิลดลงครึ่งหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ ส่งผลให้พนักงานคนรุ่นใหม่หลายหมื่นคนต้องตกงาน ซ้ำเติมวิกฤตแรงงานที่ปัจจุบัน ประชากรอายุระหว่าง 16-24 ปี ว่างงานในอัตรา 1 ต่อ 5 ซึ่งจะกระทบต่อผลิตภาพและอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในระยะยาวได้

ในขณะที่รัฐบาลจีนเข้มงวดกับบริษัทภาคเอกชนมากขึ้น แต่ดูจะเอื้อประโยชน์ให้รัฐวิสาหกิจ ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติถอนทุนกลับ ยกตัวอย่าง ซอฟต์แบงก์ ของญี่ปุ่น ที่ถอนเงินลงทุนมหาศาลออกจากบริษัท อาลีบาบา ขณะที่บริษัท เบิร์กเชียร์แฮทาเวย์ ของมหาเศรษฐี วอร์เรน บัฟเฟตต์ ก็ขายหุ้นในบริษัทผู้ผลิตรถไฟฟ้าจีน บีวายดี ออกไปเช่นกัน ส่วนเทนเซนต์ สูญเงินลงทุนคิดเป็นเงินกว่า 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากนักลงทุนที่ถอนทุนออกในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

Getty Images

ที่มาของภาพ, Getty Images

รัฐบาลสหรัฐฯ เอง ก็เข้มงวดกับบริษัทจีนที่มีรายชื่ออยู่ในตลาดหลักทรัพย์อเมริกันหลายแห่งด้วย

“การตัดสินใจด้านการลงทุนถูกเลื่อนออกไป บริษัทต่าง ๆ มุ่งขยายการผลิตในประเทศอื่นแทน” เอสแอนด์พี โกลบอล เรตติงส์ กล่าวเมื่อไม่นานมานี้

และเมื่อโลกเริ่มคุ้นชินกับข้อเท็จจริงว่า จีนจะยังไม่เปิดประเทศ และกลับไปดำเนินธุรกิจแบบสมัยก่อนโควิดในอีกเร็ว ๆ นี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง อาจเสี่ยงกับการสูญเสียภาพลักษณ์ความสำเร็จทางเศรษฐกิจ ที่ขับเคลื่อนจีนมานานหลายทศวรรษ

…..

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว