เอเชีย แห่ขายดอลลาร์ป้องค่าเงิน ก.ย.เดือนเดียว ทะลุ 5 หมื่นล้านดอลลาร์

ค่าเงินบาท เงินบาท
Image by Kris from Pixabay

ธนาคารกลางชาติเอเชียเทขายเงินดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรองเงินตราต่างประเทศแล้วกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ เฉพาะ ก.ย. เดือนเดียว ประคองสกุลเงินท้องถิ่น หลังร่วงหนักเพราะดอลลาร์แข็งค่า

วันที่ 14 ตุลาคม 2565 บลูมเบิร์ก รายงานว่า ประเทศในเอเชียใช้เงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศแล้วกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนกันยายนเพียงเดือนเดียว เพื่อปกป้องค่าเงินสกุลชาติ จากปัจจัยดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า

ส่งผลให้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของเอเชียลดลงมากที่สุดในรอบ 2 ปี 7 เดือน หรือ นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 โดยพบว่า ตลอดเดือนกันยายนที่ผ่านมาประเทศในเอเชียขายดอลลาร์สหรัฐออกมามากถึง 8.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

บริษัท เอ็กซ์แอนต์ ดาต้า อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยด้านกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ ประเมินว่า เฉพาะเดือนกันยายนที่ผ่านมา ประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย ยกเว้นจีน ขายเงินทุนสำรองในสกุลดอลลาร์ออกไปเกือบ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มเป็น 5 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังจากทางการญี่ปุ่นขายดอลลาร์ออกมาเมื่อวันที่ 22 กันยายน ที่ผ่านมา

ขณะที่ ยอดขายดอลลาร์สหรัฐของทั้งภูมิภาค ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา พุ่งแตะ 8.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมญี่ปุ่น

การนำทุนสำรองระหว่างประเทศในสกุลดอลลาร์ออกมาขายเพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินสกุลชาติ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในเอเชีย นับตั้งแต่ดังนี้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น และดัชนี Bloomberg Dollar Spot ซึ่งวัดค่าเงินดอลลาร์เทียบกับตะกร้าสกุลเงินหลักอื่นๆ พบว่า การซื้อขายค่าเงินอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ภายหลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 เมื่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งสูงขึ้น ทำให้มูลค่าสกุลเงินอื่น ๆ ในพอร์ตของธนาคารกลางลดลง

ขณะที่ยอดขายดอลลาร์สหรัฐของประเทศต่างๆ เช่น เกาหลีใต้ อินเดีย ไต้หวัน และญี่ปุ่นได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ส่วนประเทศอื่นๆ ถูกบันทึกผ่านการรายงานของธนาคารกลาง

นอกเหนือจากการขายดอลลาร์สหรัฐโดยธนาคารกลางญี่ปุ่นมูลค่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนกันยายน เกาหลีใต้ขายดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรองฯ ออกมาแล้วประมาณ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์

บริษัท เอ็กซ์แอนต์ ดาต้า ให้ข้อมูลด้วยว่า ธนาคารกลางของฮ่องกง ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และไทย ต่างก็ยอดขายดอลลาร์สหรัฐสุทธิในเดือนกันยายนเช่นกัน

อเล็กซ์ อีทรา นักกลยุทธ์อาวุโสของเอ็กซ์แอนต์ กล่าวว่า สกุลเงินของพวกเขาอยู่ภายใต้แรงกดดัน เมื่อต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และมีความไม่แน่นอนในระดับที่ผิดปกติของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐที่สูงมาก

อีกทั้ง จังหวะการแทรกแซงค่าเงินของธนาคารกลางต่าง ๆ ในเอเชียอาจยังไม่สิ้นสุด เมื่อค่าเงินเยนอ่อนค่าลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 30 ปีวานนี้ (13 ต.ค.) ส่งผลให้มีการพูดคุยถึงการดำเนินการที่เป็นไปได้จากทางการญี่ปุ่นภายหลังการดำเนินกิจกรรมเมื่อเดือนที่แล้ว

เพราะวิธีเข้าแทรกแซงค่าเงินในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นสิ่งที่ธนาคารกลางหลายประเทศมักนำมาใช้ เพื่อชะลอหรือควบคุมความผันผวนของค่าเงินในประเทศที่อ่อนค่าลง และเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ยอดขายดอลลาร์สหรัฐในเอเชียก็ทำสถิติสูงสุดหลังการระบาดโควิดเมื่อเดือนมีนาคม 2563

อีทรา กล่าวว่า ปริมาณเงินทุนสำรองของประเทศต่าง ๆ ที่ลดลง อาจเกิดจากการจัดสรรสินทรัพย์ใหม่ที่กว้างขึ้น รวมถึงการประเมินมูลค่าที่ลดลง แต่ส่วนใหญ่ธนาคารกลางจำเป็นต้องขายเงินในทุนสำรองฯ ออกมาเพื่อให้มีเงินสดอยู่ในมือ


ทั้งนี้ ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศทั่วโลกลดลง และปริมาณสำรองทั่วโลกลดลงมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 8.9% ในปีนี้ มาเหลืออยู่ที่น้อยกว่า 12 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่บลูมเบิร์กเริ่มรวบรวมข้อมูลในปี 2546