เงินเยนอ่อนสุดรอบ 32 ปี รอยเตอร์สโพลคาดเงินเฟ้อญี่ปุ่นมีลุ้นพุ่งทุบสถิติ

เงินเยน ดอลลาร์ ค่าเงิน
จอแสดงอัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนญี่ปุ่นเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่ามาอยู่ที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐ =147.29 เยน อ่อนค่าสูงสุดในรอบ 32 ปี เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2565 (REUTERS/Issei Kato)

เงินเยนญี่ปุ่นร่วงหนัก แตะ 147.57 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ทุบสถิติต่ำสุดรอบ 32 ปี นักวิเคราะห์คาดมีโอกาสทางการเข้าแทรกแซงค่าเงินรอบที่ 2 จับตารายงานเงินเฟ้อเดือน ก.ย. เปิดเผยสัปดาห์หน้า

วันที่ 14 ตุลาคม 2565 นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า เยนอ่อนค่าลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 32 ปี ลงมาอยู่ที่ 147 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ พร้อมกับการคาดการณ์ของตลาดว่า จะมีการเทขายเงินเยนหลังการแทรกแซงค่าเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ บีโอเจ

ค่าเงินเยนร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 32 ปี นับตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา และวันนี้ (14 ต.ค.) ยังคงอยู่ในระดับ 147.57 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากธนาคารกลางญี่ปุ่น ปรับค่าเงินเยนเทียบดอลลาร์สหรัฐ ให้ผ่อนคลายตามนโยบายของบีโอเจมากขึ้น ในเวลาที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น

วานนี้ (13 ต.ค.) อัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนเทียบดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ 147.65 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ทะลุระดับอ่อนค่าสุดที่ 147.64 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2541 ไปอยู่ที่ระดับอ่อนค่าสูงสุดที่เคยทำไว้เมื่อเดือนสิงหาคม 2533 หรือในรอบ 32 ปี

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินเยนเทียบดอลลาร์สหรัฐ ได้เร่งตัวอ่อนค่ามาตั้งแต่เดือนกันยายน ซึ่งเคยผ่านระดับ 140 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อต้นเดือนกันยายน

ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อจัดการกับอัตราเงินเฟ้อและธนาคารกลางรายใหญ่อื่น ๆ ก็ทำตาม ๆ กัน แต่ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายด้วยการคงดอกเบี้ยต่ำ สิ่งนี้กระตุ้นให้นักลงทุนขายเยน ท่ามกลางช่องว่างที่กว้างขึ้นระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น

Advertisment

มีลุ้นธนาคารกลางญี่ปุ่นแทรกแซงค่าเงินรอบ 2

การอ่อนค่าของเงินเยน ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะมีการแทรกแซงตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอีกครั้งโดยธนาคารกลางญี่ปุ่นและรัฐบาลเพื่ออุ้มค่าเงินไม่ให้ร่วงไปมากกว่านี้ เนื่องจากเมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา ทางการญี่ปุ่นได้เข้าซื้อเงินเยน เป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี หลังจากเงินเยนอ่อนค่าลงมากกว่า 2 เยนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ภายในวันเดียว

โดยการเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนเมื่อเดือนที่แล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นชี้แจงว่า เป็นการแทรกแซงเนื่องจากเงินเยนเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ไม่ใช่การดำเนินการเพื่อต่อสู้กับอัตราแลกเปลี่ยนสกุลใดสกุลหนึ่ง

Advertisment

ทั้งนี้ สกุลเงินเอเชียอื่น ๆ รวมถึง วอนเกาหลีใต้ บาทไทย และเปโซฟิลิปปินส์ ร่วงลงอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หลังจากประกาศดัชนีราคาผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาเมื่อคืนที่ผ่านมา

คาดเงินเฟ้อพื้นฐานญี่ปุ่น เดือน ก.ย.แตะระดับสูงสุดรอบ 8 ปี

อีกด้านหนึ่ง รอยเตอร์ส เปิดเผยผลสำรวจ หรือ รอยเตอร์ส โพล ชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานญี่ปุ่นในเดือน ก.ย. น่าจะแตะระดับสูงสุดในรอบ 8 ปี เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ พยายามชดเชยแรงกดดันเรื่องต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ค่าเงินเยนที่อ่อนค่า ด้วยการขึ้นราคาสินค้า

โดยนักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคหลักทั่วประเทศ (CPI) ซึ่งไม่รวมราคาอาหารสดที่ผันผวนแต่รวมพลังงาน พุ่งขึ้น 3.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ทางการญี่ปุ่นจะเปิดเผยตัวเลขราคาผู้บริโภค (CPI) ในเช้าวันที่ 21 ต.ค. และข้อมูลดุลการค้าในเช้าวันที่ 20 ต.ค. ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นอาจขาดดุลการค้ามากถึง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าอย่างมาก ทำให้ต้นทุนการนำเข้าพุ่งสูงขึ้น

ขณะที่สัปดาห์นี้ เงินเยนญี่ปุ่นร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 32 ปี เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

ริคุโตะ มินามิ นักวิเคราะห์จาก มิซูโฮ รีเสิร์ช แอนด์ เทคโนโลยี กล่าวว่า ปัจจัยหลักที่อยู่เบื้องหลังการเพิ่มขึ้นคือราคาอาหารที่สูงขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ขนมและอาหารปรุงสำเร็จ

เนื่องจากพบว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือเงินเฟ้อญี่ปุ่น เร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับเดือน ก.ย. 2557 และคาดการณ์กันว่า CPI จะอยู่เหนือ 2% ตามเป้าหมายของธนาคารกลางญี่ปุ่น เป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน

ทั้งนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะจัดประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งต่อไปในวันที่ 27-28 ต.ค.นี้ โดยคาดการณ์ว่าจะคงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1% และรักษาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น อายุ 10 ปี ไว้ที่ 0% แม้จะมีแรงกดดันด้านราคาในวงกว้าง พร้อมกระแสนโยบายการเงินเชิงรุกที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ขณะที่ ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น ย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า จะคงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไว้อย่างครบถ้วน เพราะการที่เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นจากต้นทุน เป็นสถานการณ์ชั่วคราว

แม้มีข้อมูลระบุว่า ในเดือนกันยายนญี่ปุ่นประสบปัญหาการขาดดุลการค้าสูงถึง 2.167 ล้านล้านเยน (1.47 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เนื่องจากต้นทุนการนำเข้าที่สูง ในเวลาที่ค่าเงินเยนอ่อนค่ารุนแรง และนับเป็นเดือนที่ 14 ของการขาดดุล หลังจากเมื่อเดือน ส.ค. มีการขาดดุลการค้า 2.817 ล้านล้านเยน