“การบิน” จีนเสี่ยงสะดุด เมื่อ “สหรัฐ” ตัดขาดเทคโนโลยี

การบินจีนเสี่ยงสะดุด

มาตรการจำกัดการส่งออกเทคโนโลยีชิปขั้นสูงของสหรัฐอเมริกาไปยังจีน นับเป็นความพยายามสร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งรุนแรงไปยังอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของจีนโดยตรง แต่ไม่เพียงเท่านั้น การโจมตีของสหรัฐครั้งนี้ยังจะเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจของจีนอีกมาก หนึ่งในนั้นคือความต้องการพึ่งพาตนเองและก้าวขึ้นเป็นผู้นำสำคัญใน “อุตสาหกรรมการบิน” ระดับโลก

เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานว่า เป้าหมายการเป็นผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมการบินระดับโลกของ “จีน” กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงจากมาตรการจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงล่าสุดของสหรัฐ ซึ่งจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีชิปที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) และซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ที่มีความสำคัญอย่างมากต่ออุตสาหกรรมการบิน

“ริชาร์ด อบูลาเฟีย” กรรมการผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจการบิน AeroDynamic Advisory ระบุว่า “ภาคส่วนที่จะได้รับผลกระทบใหญ่คือโครงการพัฒนาเครื่องบินของจีน ที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและระบบที่จำเป็นต่อการทำงานของเครื่องบิน”

แม้ว่าเป้าหมายการเป็นหนึ่งในผู้นำการบินของจีนจะก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะความสำเร็จในการสร้างเครื่องบินโดยสาร Comac C919 ที่ใช้เวลาพัฒนานานกว่า 14 ปี และเพิ่งได้รับใบรับรองแบบอากาศยาน (type certificate) เมื่อปลาย ก.ย.ที่ผ่านมา นับเป็นเครื่องบินโดยสารฝีมือจีนลำแรกที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อแข่งกับยักษ์ใหญ่อย่าง Boeing 737 และ Airbus A320

แต่เครื่องบิน Comac C919 ก็ยังคงพึ่งพาชิ้นส่วนนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากบริษัทอเมริกัน ข้อมูลการค้าของสหรัฐแสดงให้เห็นว่า จีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าการบินและอวกาศของสหรัฐรายใหญ่ที่สุดในช่วงปี 2012-2018 ก่อนที่จะลดลงหลังจากความสัมพันธ์สองประเทศถดถอย

โดยเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา สหรัฐยังได้ให้บริษัทการบินและอวกาศของจีนหลายรายอยู่ในบัญชีดำ หนึ่งในนั้นคือ AVICรัฐวิสาหกิจด้านการบินของจีน ซึ่งเป็นผู้จัดหาส่วนประกอบให้เครื่องบินสัญชาติจีนหลายรุ่น รวมถึง Comac C919

“จาคอบ กันเตอร์” นักวิเคราะห์จากสถาบันจีนศึกษาเมอร์เคเตอร์ (MERICS) ชี้ว่า ยุทธศาสตร์การพึ่งพาตนเองด้านการบินของจีน มีการประเมินความซับซ้อนของซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องต่ำเกินไป ดังนั้นการสูญเสียความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูง นอกจากเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเครื่องบิน ยังยากที่จะบรรลุเป้าหมายอื่น ๆ เช่น การเพิ่มปริมาณการผลิตเครื่องบินอีกด้วย

นอกจากนี้ ผู้ผลิตเครื่องบินจีนยังต้องพบอุปสรรคด้านการตลาด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อในต่างประเทศว่าเครื่องบินของจีนจะไม่มีปัญหาในด้านต่าง ๆ ตามมา ขณะที่ความต้องการเครื่องบินภายในประเทศจีนยังคงซบเซา จากมาตรการ “ซีโร่โควิด” อย่างยาวนาน ทำให้การเดินทางโดยสารเครื่องบินของคนจีนทั้งภายในและระหว่างประเทศยังไม่ฟื้นตัว

อย่างไรก็ตาม ริชาร์ด อบูลาเฟียมองว่า หนทางที่จีนจะเดินหน้านโยบายพึ่งพาตัวเองด้านการบินต่อไปได้คือ การสร้างซัพพลายเชนใหม่ทั้งหมดโดยมีจีนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งอาจต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10-15 ปี และเงินทุนอีกมหาศาล


แต่การดึงดูดเงินทุนจากต่างชาติก็อาจไม่ง่ายเหมือนที่เคยเป็นมา ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างประเทศก็เป็นปัจจัยที่นักลงทุนและภาคธุรกิจต่าง ๆ ต้องประเมินถึงผลกระทบ เหล่านี้จึงอาจทำให้ความฝันการเป็นผู้นำการบินของจีนอาจต้องล่าช้าออกไปไม่มีกำหนด