เมดอินอเมริกา คัมแบ็กโรงงานมะกันคึกคักสุดรอบ 12 ปี

โจ ไบเดน
Joe Biden (Photo by Jim WATSON / AFP)
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

การย้ายฐานการผลิตกลับบ้าน กำลังกลายเป็นแนวโน้มใหม่สำหรับประเทศต่าง ๆ หลังจากโควิด-19 แพร่ระบาด กระทั่งทำให้ห่วงโซ่อุปทานโลกชะงักงันเนื่องจากส่วนใหญ่แล้วพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานจากจีนเป็นหลัก ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า การย้ายฐานผลิตกลับบ้านหรือมาอยู่ใกล้บ้าน ไม่ได้มีแรงผลักดันจากเรื่องชาตินิยมเป็นหลัก แต่เกิดจากสถานการณ์บีบบังคับ อีกทั้งเมื่อประกอบกับเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่จีนถูกมองว่ายืนข้างรัสเซีย ทำให้ความสัมพันธ์ของชาติตะวันตกกับจีนตึงเครียดกว่าเดิม

ที่สหรัฐอเมริกาในเวลานี้ การย้ายฐานการผลิตกลับบ้าน ทำให้โรงงานต่าง ๆ กลับมาคึกคัก ตามรายงานของซีเอ็นเอ็น ระบุว่า บรรดาโรงงานผลิตวิ่งหาคนงานอย่างจ้าละหวั่น แต่ถึงอย่างนั้นก็หาได้ไม่เพียงพอ แม้จะจ่ายค่าจ้างอย่างงามก็ตาม เฉพาะเดือนกันยายน ภาคการผลิตเปิดรับคนงานใหม่ 22,000 ตำแหน่ง ทำให้รวมแล้วในรอบ 12 เดือนมีการจ้างพนักงานเพิ่มขึ้นเกือบ 5 แสนคน

นับตั้งแต่เดือนเมษายนปีนี้ การจ้างงานภาคผลิตเติบโตประมาณ 4% เติบโตเร็วที่สุดนับจากปี 1984 ขณะเดียวกันทำให้การจ้างงานโดยรวมของภาคการผลิต-โรงงานอยู่ที่เกือบ 13 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนสูงที่สุด หลังจากที่เคยลดลงอย่างหนักจากวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่เมื่อ 12 ปีที่แล้ว ทั้งนี้ในช่วงปี 1984 การจ้างงานภาคการผลิตเคยมีสัดส่วนมากกว่า 2 ใน 3 ของการจ้างงานทั้งหมด

“เฮย์เดน เจนนิสัน” ผู้จัดการฝ่ายผลิตเจนนิสัน คอร์ปอเรชั่น ในเพนซิลเวเนีย ซึ่งเป็นโรงงานผลิตหลายอย่างตั้งแต่อุปกรณ์ดับเพลิงไปจนถึงเครื่องจักรก่อสร้าง กล่าวว่าถึงแม้จะเพิ่มค่าจ้างเป็นชั่วโมงละ 20-30 ดอลลาร์ แต่ก็ยังไม่สามารถหาคนงานได้เพียงพอตามที่ต้องการ

“ปัญหาเรื่องขาดแคลนแรงงานเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2020 การจะหาคนที่เข้าใจอุตสาหกรรมและเข้าใจงานที่จะทำ หาได้ยากมาก”

เจย์ ทิมมอนส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสมาคมผู้ผลิตแห่งสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า เราอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน ตอนนี้ทุก 100 ตำแหน่งงานที่เปิดรับ มีคนมาสมัครเพียงแค่ 60 คน คงต้องใช้เวลาระยะหนึ่งกว่าจะหาคนงานได้เพียงพอ ตั้งแต่ปีที่แล้วเป็นต้นมาค่าจ้างในภาคการผลิตเพิ่มขึ้น 5% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกเนื่องจากทุกโรงงานแข่งกันแย่งแรงงานมีทักษะ

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า โดยปกติแล้วงานโรงงานมักจะได้รับผลกระทบสูงหากเศรษฐกิจไม่ดี แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นหลังจากวิกฤตใหญ่เมื่อปี 2008 แต่ในรอบนี้ถึงแม้จะเกิดความกลัวเรื่องเศรษฐกิจถดถอยเพราะเฟดขึ้นดอกเบี้ยมาก ก็ไม่คาดว่างานโรงงานจะเกิดวัฏจักรบูมแล้วก็ซบเซาเหมือนในอดีต

ส่วนปัญหาใหญ่ที่สุดที่ทำให้ภาคการผลิตไม่สามารถจูงใจให้คนมาทำงานด้วย เป็นเพราะการรับรู้เดิม ๆ ที่ว่างานโรงงาน สกปรกมอซอ มีแต่การเชื่อมโลหะที่มีประกายไฟแลบตลอดเวลา แต่โรงงานส่วนใหญ่ในปัจจุบันเป็นแบบไฮเทคโนโลยี ทำให้นายจ้างบางกลุ่มเริ่มมองหาวิธีแก้ปัญหา

โดยเล็งไปที่การเพิ่มแรงงานหญิง จากปัจจุบันที่ส่วนใหญ่เป็นชาย ขณะที่ผู้หญิงมีสัดส่วนเพียง 30% แต่ก็นับว่าเพิ่มจาก 2 ปีที่แล้วซึ่งมีเพียง 27% โดยมีแผนจะเพิ่มแรงงานหญิงเป็น 35% ภายในปี 2030

รัฐบาล “โจ ไบเดน” ให้ความสำคัญกับการสร้างงานในประเทศ ด้วยการส่งเสริมและพลิกฟื้นการผลิตในประเทศตามยุทธศาสตร์ “ผลิตทุกอย่างในอเมริกา ด้วยฝีมือคนงานอเมริกันทั้งหมด” โดยมุ่งเป้าไปที่การส่งเสริมผู้ผลิตขนาดเล็กและเจ้าของที่เป็นผู้หญิงหรือคนผิวสี

นอกจากนี้ยังลงทุน 3 แสนล้านดอลลาร์ด้านงานวิจัยและพัฒนา เพื่อค้นหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ตั้งแต่รถยนต์ไฟฟ้า ไปจนถึงเครือข่าย 5 จีและปัญญาประดิษฐ์ เพื่อก่อให้เกิดการจ้างงานในภาคการผลิตและเทคโนโลยีที่มีคุณภาพสูง เพื่อให้อเมริกายืนด้วยลำแข้งตัวเอง ดึงห่วงโซ่อุปทานกลับประเทศ จะได้ไม่ต้องพึ่งพาจีนหรือประเทศอื่นในยามเกิดวิกฤต