ส่งออก เวียดนาม ร่วง เมื่อโลกไม่มีแรงจับจ่าย

ส่งออกเวียดนาม
Photo by Nhac NGUYEN / AFP

ก่อนถึงเทศกาลสำคัญในช่วงปลายปีอย่างคริสต์มาสและวันขึ้นปีใหม่ ตามปกติแล้วมักเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนออกมาจับจ่ายกันอย่างคึกคัก แต่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปีนี้ที่ถูกรุมเร้าด้วยปัญหา ทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคซบเซาลง และกลายเป็นปัจจัยลบต่อประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้ารายใหญ่อย่าง “เวียดนาม” ที่มียอดคำสั่งซื้อสินค้าหดหายไปอย่างมาก

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า อุตสาหกรรมการผลิตของเวียดนามกำลังได้รับผลกระทบจากคำสั่งซื้อสินค้าจากประเทศผู้นำเข้าที่มีแนวโน้มลดลงในช่วงสิ้นปีนี้ โดยเฉพาะคำสั่งซื้อจาก “สหรัฐอเมริกา” และ “ยุโรป” ที่กำลังเผชิญกับวิกฤตเงินเฟ้อ และการหดตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งล้วนส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคอ่อนแอลง

ผู้ผลิตสินค้าเวียดนามหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเทคโนโลยี เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า และสินค้าของขวัญ ต่างได้รับคำสั่งซื้อลดลง หรือกระทั่งการยกเลิกคำสั่งซื้อ ส่วนหนึ่งเพราะผู้ขายในต่างประเทศต้องประสบกับปัญหาสินค้าคงคลังสูง ทำให้ต้องชะลอการสั่งซื้อสินค้าลอตใหม่

ข้อมูลของ “สำนักงานสถิติทั่วไปเวียดนาม” ชี้ให้เห็นสัญญาณการหดตัวของยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าของเวียดนามใน ก.ย.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 29,940 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงราว 14.3% จาก 34,920 ล้านดอลลาร์สหรัฐใน ส.ค. 2022 นับเป็นการลดลงอย่างมาก แม้จะเป็นช่วงใกล้สิ้นปี

บทวิเคราะห์ของ Maybank ธนาคารยักษ์ใหญ่ของมาเลเซียชี้ว่า สินค้ากลุ่มคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นกลุ่มสินค้าที่มีความต้องการของผู้บริโภคลดลงทั่วโลก ซึ่งเวียดนามเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ค่อนข้างมาก โดยมีสัดส่วนราว 12% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดในปี 2021

ไม่ต่างจากกลุ่มสินค้าเสื้อผ้าและสิ่งทอที่เผชิญกับคำสั่งซื้อลดลงเช่นกัน โดยเวียดนามเน็ตโกลบอลรายงานว่า บริษัทผู้ผลิตสิ่งทอของเวียดนามบางรายต้องเผชิญกับคำสั่งซื้อลดลงกว่า 30% ส่งผลให้ต้องมีการลดกำลังการผลิต รวมถึงการปรับลดชั่วโมงทำงานในโรงงาน หรือกระทั่งเลิกจ้างพนักงานบางส่วน

“ฝั่ม ซวน ฮง” ประธานสมาคมสิ่งทอและงานเย็บปักถักร้อย ในนครโฮจิมินห์ระบุว่า แม้มูลค่าการส่งออกสิ่งทอของเวียดนามในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้จะสูงถึง 30,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในช่วงต้นปี และนับตั้งแต่ ก.ค.เป็นต้นมา ผู้ผลิตต่างเผชิญกับการลดคำสั่งซื้อจากประเทศผู้นำเข้า

ข้อมูลของ Maybank ยังประเมินว่า สถานการณ์เหล่านี้จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม ที่พึ่งพิงภาคการส่งออกอย่างสูง โดยคาดว่าการเติบโตของจีดีพีเวียดนามในไตรมาส 4/2022 จะอยู่ที่ราว 5.7% ชะลอตัวลงอย่างมากจากการเติบโตถึง 13.7% ในไตรมาส 3/2022

“ฟาน หง็อก อัญ” ผู้จัดการฝ่ายขายของ Po Lai Kam ผู้ผลิตตราและฉลากให้กับสินค้าแบรนด์ดังระดับโลกอย่าง Nike, Puma, Yonex และ Levi’s ระบุว่า “ในปีที่แล้วแม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ล็อกดาวน์ แต่บริษัทก็ยังคงได้รับคำสั่งซื้อ แต่ปีนี้หากสหรัฐและยุโรปไม่สามารถจัดการปัญหาต่าง ๆ ได้เราคงสิ้นหวัง”


ข้อมูลของบริษัทวิจัยตลาด VNDirect Research ชี้ว่า ในช่วงต้นปี 2023 เสื้อผ้าสำเร็จรูปของเวียดนามที่ส่งเข้ายุโรปจะได้รับการลดภาษีนำเข้า 2-4% ตามข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) ซึ่งอาจช่วยให้อุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอของเวียดนามมีโอกาสกลับมาสดใสได้อีกครั้ง แต่ความต้องการของผู้บริโภคก็ยังคงไม่แน่นอน ว่าจะกลับคืนสู่ภาวะปกติได้เมื่อใด