ประเทศไทยอยู่ไหน ใคร ๆ ก็ไปเวียดนาม

Photo by Nhac NGUYEN / AFP
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

ทำไม “เวียดนาม” กลายเป็นประเทศที่กำลังถูกจับตาถึงความโดดเด่นและร้อนแรงในทุกด้าน

หลังจาก “จีน” ในฐานะ “โรงงานของโลก” เจอมรสุมเศรษฐกิจและเกมการเมืองระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง หนุนให้สถานภาพของ “เวียดนาม” กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตแห่งใหม่ของโลกโดดเด่นมากขึ้นเรื่อย ๆ

ด้วยสัญญาณการย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่ของผู้ผลิตบริษัทข้ามชาติออกจากจีน จนเวียดนามได้ชื่อว่าเป็น “โรงงานโลก” แห่งใหม่

ไม่เฉพาะบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐอย่าง “แอปเปิล-อินเทล” และยักษ์เทคโนโลยีเกาหลีใต้อย่าง “ซัมซุง-แอลจี” ที่ย้ายฐานไปปักหมุดในเวียดนามมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เวียดนามเป็นฐานการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และโทรศัพท์มือถือ

นอกจากนี้ก็มีผู้ผลิตจากทั่วโลกอีกมากมายที่ย้ายจากไทยเข้าสู่เวียดนาม รวมถึง “แพนดอร่า” ผู้ผลิตและส่งออกเครื่องประดับเงินรายใหญ่สัญชาติเดนมาร์ก ที่มีโรงงานในประเทศไทย 2 แห่ง ล่าสุดก็ประกาศขยายการลงทุนตั้งโรงงานในเวียดนาม

ขณะที่นักลงทุนไทยจำนวนมากก็แห่ขยายฐานไปลงทุนเวียดนามเช่นกัน ด้วยจำนวนประชากรในประเทศกว่า 100 ล้านคน ที่ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน ถือเป็นกำลังซื้อสำคัญ ขณะที่หลายประเทศกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย รวมทั้งประเทศไทย

ผู้ประกอบการไทยที่ตัดสินใจขยายการลงทุนในเวียดนาม นอกจากประชากรส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานแล้ว ต้นทุนค่าแรงที่ต่ำกว่าไทย ค่าไฟฟ้าก็ถูกกว่ามากด้วยอัตราประมาณ 2.90 บาทต่อยูนิต ขณะที่ของไทยล่าสุดขยับขึ้นไปที่ 4.92 บาทต่อยูนิต

รวมทั้งที่เวียดนามได้ทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ถึง 16 ฉบับ ครอบคลุม 53 ประเทศ เรียกว่าเกื้อหนุนการเป็นฐานผลิตเพื่อการส่งออกอย่างมาก ไม่รวมถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและอื่น ๆ ที่ไม่แพ้ชาติอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม ทิศทางการพัฒนาของเวียดนาม ไม่ได้ต้องการเป็นแค่โรงงานโลกเท่านั้น

เห็นได้จากกรณีการผลิตรถยนต์ภายใต้แบรนด์ “วินฟาสต์” รถยนต์สัญชาติเวียดนามเข้าสู่ตลาดโลก ที่ล่าสุดเริ่มส่งมอบรถเอสยูวีพลังงานไฟฟ้า 100 คันแรกให้ลูกค้าในประเทศ และกำลังเดิมพันในตลาดสหรัฐ ส่งรถยนต์ไฟฟ้าเอสยูวีเข้าไปเปิดตลาดในเดือน ธ.ค.นี้ พร้อมเตรียมเปิดโมเดลให้เช่าแบตเตอรี่ เพื่อที่จะลดราคาจำหน่ายรถอีวีลง ถือว่าเป็นอีกแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่มีการพูดถึงอย่างมาก

ขณะที่ประเทศไทยซึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็น “ดีทรอยต์ออฟเอเชีย” ของการเป็นฐานผลิตรถยนต์สันดาป ซึ่งมีคำถามว่าประเทศไทยอยู่ตรงไหนของซัพพลายเชน ในยุคการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี) ที่เห็นสัญญาณของค่ายรถต่าง ๆ ประกาศการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน

“ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองประธานกรรมการ บริษัท ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด ในฐานะผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ของประเทศไทย ตั้งคำถามว่า ขณะที่ประเทศไทยใช้งบประมาณทำมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมอีวี เพื่อที่จะรักษาการเป็นฐานผลิตรถยนต์

แต่แผนส่งเสริมอีวีของรัฐมองรอบด้านหรือยัง ในแง่ “ผู้บริโภค” รัฐมีเงินอุดหนุนเพื่อซื้อรถอีวีเพื่อสร้างตลาด ด้าน “ผู้ผลิตรถยนต์” ก็มีสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนต่าง ๆ มากมาย แต่ “ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศ” ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญ “ถูกลืม”

ขณะที่รัฐบาลมุ่งเน้นดึงการลงทุนจากต่างชาติ ด้วยแพ็กเกจส่งเสริมการลงทุนให้ค่ายรถต้องดึงผู้ผลิตชิ้นส่วนเข้ามาด้วย โดยไม่ได้มองถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศว่าจะอยู่อย่างไร แล้วอะไรจะเป็นจุดแข็งในการที่จะดึงดูดผู้ผลิตต่างชาติเข้ามาลงทุน

“ผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ เหมือนชาวนาในอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำงานหนักมากแต่ไม่มีใครคิดถึง”