“เมตาเวิร์ส” ไม่ใช่แค่นิยาย ปั๊มจีดีพีให้เอเชีย 1.4 ล้านล้านเหรียญ

เมตาเวิร์ส
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

แม้จะฮือฮากันมาพักใหญ่เรื่องเมตาเวิร์ส (metaverse) หรือโลกเสมือนจริงที่ก้าวล้ำไปอีกขั้นหนึ่ง หรือบางคนก็เชื่อว่าเป็นโลกอินเทอร์เน็ตยุคใหม่ แต่ก็ยังเกิดความสงสัยว่าเมตาเวิร์สจะได้รับความนิยมเพียงใด จะมีคนมาใช้บริการตามเป้าหมายที่บริษัทต่าง ๆ คาดหวัง และจะคุ้มการลงทุนหรือไม่ หรือจะเป็นเพียงนวนิยายวิทยาศาสตร์เหมือนเดิม

อย่างไรก็ตามรายงานล่าสุดของบริษัทที่ปรึกษาดีลอยต์ชี้ว่า เมตาเวิร์สจะไม่ใช่เพียงนวนิยายวิทยาศาสตร์อีกต่อไป เพราะว่าแพลตฟอร์มของเมตาเวิร์สมีผู้ใช้หลายล้านคนเรียบร้อยแล้ว แม้จะอยู่ในช่วงแรก และอาจส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจเอเชียเปลี่ยนโฉม เพราะคาดว่าเมตาเวิร์สอาจเพิ่มจีดีพีให้เอเชียระหว่าง 8 แสนล้านดอลลาร์ ไปจนถึง 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ภายในปี 2035 หรือเพิ่มจีดีพีให้อีกประมาณ 1.3-2.4%

แต่ทั้งนี้อยู่บนสมมุติฐานที่ว่า มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีนี้อย่างต่อเนื่องในช่วง 5-10 ปีต่อจากนี้ โดยรายงานดังกล่าวสำรวจอิทธิพลของเมตาเวิร์สที่อาจมีผลต่อเศรษฐกิจเอเชีย 12 ประเทศ

ดูลีชา คูลาซูรียา กรรมการผู้จัดการศูนย์ดีลอยต์เพื่อการศึกษาข้อได้เปรียบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระบุว่า ลักษณะของประชากรในภูมิภาคนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เมตาเวิร์สสามารถสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จะเห็นว่าส่วนใหญ่ในทุกวันนี้กลุ่มที่มีปฏิสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับเมตาเวิร์สเป็นเยาวชน ซึ่ง 60% ของเยาวชนโลกอาศัยอยู่ในเอเชีย และเหนือสิ่งอื่นใด ในเอเชียมีนักเล่นเกมทางโทรศัพท์มือถือ 1,300 ล้านคน นับเป็นฐานของผู้เล่นเกมใหญ่ที่สุดในโลก

“เมตาเวิร์สไม่ใช่แค่นวนิยายวิทยาศาสตร์อีกต่อไป แพลตฟอร์มของเมตาเวิร์สมีคนใช้งานอยู่หลายล้านคนในตอนนี้ การเล่นเกมเป็นหนึ่งในช่องทางแรก ๆ ที่จะแนะนำให้ใครบางคนรู้จัก หรือเข้าไปสู่เมตาเวิร์ส” คูลาซูรียาระบุ และว่าเมตาเวิร์สและความคาดหวังของผู้ใช้เมตาเวิร์สจะเป็นแรงขับเคลื่อนทิศทางวิวัฒนาการของอินเทอร์เน็ตยุคต่อไป

ถึงแม้เทคโนโลยีเมตาเวิร์สยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ในเอเชียมีผู้ใช้เวลาและใช้จ่ายเงินกับแพลตฟอร์มเสมือนจริงยอดนิยมอย่างฟอร์ตไนต์ โรบล็อกซ์และดีเซ็นทรัลแลนด์หลายล้านคน แอปพลิเคชั่นโซเชียลมีเดีย Zepeto ของเกาหลีใต้ที่อนุญาตให้ผู้เล่นสร้างอวตาร 3 มิติ มีผู้ลงทะเบียนใช้งาน 300 ล้านคนจากทั่วโลก

ความได้เปรียบของเอเชียในเรื่องเมตาเวิร์ส ยังเกิดจาก “ความเชี่ยวชาญเฉพาะเซ็กเตอร์” ในฐานะที่เอเชียเป็นผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ จะเห็นว่า 75% ของสิ่งเหล่านี้ผลิตในเอเชีย เป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพการผลิตใหญ่มาก ตัวอย่างเช่นไต้หวัน ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงมากกว่า 90% ของการผลิตทั้งโลก

อย่างไรก็ตาม การที่เอเชียจะมีความพร้อมแค่ไหนที่จะใช้เมตาเวิร์สมาช่วยเพิ่มจีดีพี ขึ้นอยู่กับ “กลยุทธ์เฉพาะ” ของแต่ละประเทศ โดยสิ่งสำคัญที่ต้องมีก็อย่างเช่น โครงสร้างของเทคโนโลยีเพื่อรองรับเมตาเวิร์ส นวัตกรรมของเศรษฐกิจและระดับรายได้เฉลี่ยของประชาชน

นอกจากนี้พื้นฐานด้านเทคโนโลยี อย่างเช่นการเชื่อมโยงจำนวนผู้มีโทรศัพท์มือถือ และการรับเอาการชำระเงินแบบดิจิทัลมาใช้ ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ที่จะเป็นตัวบ่งชี้ความพร้อมของประเทศนั้น ๆ สำหรับเมตาเวิร์ส ตัวอย่างเช่น ในเดือนสิงหาคมจีนประกาศแผน 2 ปีสำหรับพัฒนาและนวัตกรรมเมตาเวิร์ส โดยมีเป้าหมายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเมตาเวิร์สและสนับสนุนการใช้เมตาเวิร์ส นอกจากนี้ยังรวมเอาเมตาเวิร์สไว้ในแผนพัฒนาแห่งชาติ 5 ปีด้วย

ในทำนองเดียวกันเกาหลีก็มีพิมพ์เขียวด้านกลยุทธ์ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมเมตาเวิร์ส ด้วยเงินลงทุนเบื้องต้น 177.1 ล้านดอลลาร์

“เมตาเวิร์สเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การพัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาทุนมนุษย์ และกรอบการควบคุมดูแล เพื่อให้ศักยภาพของเมตาเวิร์สมูลค่านับล้านล้านดอลลาร์ของเอเชียเป็นจริงขึ้นมา จะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมและกิจกรรมเศรษฐกิจในวงกว้าง” ดีลอยต์ระบุ