เศรษฐกิจยูโรโซน Q4/65 โต 0.1% แต่ยังไม่พ้นอันตราย ไตรมาสนี้เสี่ยงติดลบ

เศรษฐกิจยูโรโซน
Daniel ROLAND / AFP

เศรษฐกิจยูโรโซนไตรมาส 4/65 โต 0.1% แกร่งเกินที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้ว่าจะติดลบ 0.1% แต่ยังไม่พ้นอันตราย คาดไตรมาสนี้หดตัว เนื่องจากธนาคารกลางยุโรปยังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยสู้เงินเฟ้อ 

วันที่ 31 มกราคม 2566 ตามเวลายุโรป สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ยูโรโซน หรือกลุ่ม 20 ประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร อยู่ในเส้นทางที่จะเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ เนื่องจากเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2565 เติบโตได้เกินคาด แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงเป็นเลขสองหลัก และได้รับผลกระทบจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน 

Eurostat เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในยูโรโซน (จีดีพี) ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 เพิ่มขึ้น 0.1% ซึ่งท้าทายการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่คาดว่าจีดีพีจะลดลง 0.1% 

จีดีพีของเยอรมนี ที่ขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 ในกลุ่มยูโรโซนติดลบ 0.1% และอิตาลีที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับที่ 3 ก็จีดีพีติดลบ 0.1% เช่นกัน แต่ฝรั่งเศสซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของกลุ่ม จีดีพีโต 0.1% 

ปี 2565 กลุ่มประเทศยูโรโซนต้องต่อสู้กับราคาสินค้าที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์เนื่องจากต้นทุนพลังงานเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน รัฐบาลพยายามชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับครัวเรือนและภาคธุรกิจ ซึ่งการจ่ายเงินช่วยเหลือหลายพันล้านยูโร และฤดูหนาวที่ไม่หนาวรุนแรง ช่วยให้สถานการณ์ตลาดพลังงานเชื้อเพลิงสงบลงได้ 

การเติบโตของจีดีพียูโรโซนในไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจยูโรโซน หลังจากรอดพ้นความเสี่ยงของการขาดแคลนเชื้อเพลิงมาได้ 

แต่ถึงอย่างนั้น นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่ายูโรโซนยังไม่พ้นจุดอันตราย จีดีพีจะลดลงในไตรมาสแรกของปี 2566 นี้ เพราะยังอยู่ท่ามกลางอุปสรรคหลายประการ ทั้งต้นทุนการกู้ยืมเงินที่เพิ่มสูงจากอัตราดอกเบี้ยที่ยังปรับเพิ่มขึ้นไม่ถึงจุดสิ้นสุด ขณะที่ผู้บริโภคในบางประเทศยังต้องจ่ายค่าพลังงานเชื้อเพลิงสูงขึ้น 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะผ่อนคลายลงมาก และอาจจะเร็วกว่าที่เคยคาดไว้ เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติที่ลดลง และสถานการณ์ตลาดแรงงานก็ดีขึ้น 

เจมี รัช (Jamie Rush) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ยุโรปของ Bloomberg Economics กล่าวว่า อำนาจในการซื้อของครัวเรือนที่ถูกบีบอย่างต่อเนื่อง หมายความว่าเศรษฐกิจยูโรโซนอาจหดตัวในไตรมาสที่ 1 ด้วยต้นทุนด้านพลังงานที่ลดลง การชะลอตัวในฤดูหนาวมีแนวโน้มว่าจะไม่มาก การที่เศรษฐกิจที่เติบโตได้ดีกว่าที่คาด หมายความว่า ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) สามารถมุ่งเน้นไปที่การขึ้นดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่สูงอย่างต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งตัวเลขทางเศรษฐกิจโดยรวมของยูโรโซนที่ออกมาดีกว่าที่คาดจะยิ่งเป็นตัวหนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป ซึ่งคณะกรรมการมองว่าอัตราเงินเฟ้อที่สูงเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงกว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจเพียงเล็กน้อย อีกทั้ง คณะกรรมการยังไม่พอใจแค่การกดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลงได้ แต่โฟกัสไปที่การเอาชนะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน 

…………………