เศรษฐกิจยูโรโซนอาจไม่แย่เท่าที่คาด มีสัญญาณจะรอดภาวะถดถอย

เศรษฐกิจยูโรโซน
REUTERS/ Dado Ruvic

ดัชนี PMI ซึ่งเป็นมาตรวัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนดีขึ้นเหนือระดับ 50 จุด ในเดือนมกราคม นักเศรษฐศาสตร์มองว่ามีแนวโน้มที่เศรษฐกิจยูโรโซนอาจจะไม่เลวร้าย และรอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ 

วันที่ 24 มกราคม 2566 สำนักข่าว Reuters รายงานว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซน (20 ประเทศในยุโรปที่ใช้เงินสกุลยูโร) ในเดือนมกราคมเติบโตขึ้นเล็กน้อยอย่างน่าประหลาดใจ เป็นอีกหนึ่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซนอาจจะไม่ถดถอยลึกเท่าที่คาดไว้ และอาจจะรอดพ้นภาวะถดถอยได้ 

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) จัดทำโดย S&P Global ซึ่งเป็นมาตรวัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 50.2 จุด ในเดือนมกราคมนี้ เพิ่มจาก 49.3 จุดในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เป็นเดือนแรกที่ดัชนีเพิ่มขึ้นมาเหนือระดับ 50 จุด ซึ่งเป็นการเติบโตครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 และสูงกว่าค่ากลาง (median) ตามการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์จากการสำรวจความคิดเห็นของ Reuters ซึ่งคาดการณ์ค่ากลางไว้ที่ 49.8 จุด 

“การเพิ่มขึ้นของดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มความหวังให้กับหลาย ๆ คนว่าเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซนอาจจะรอดพ้นจากภาวะถดถอยได้ในที่สุด” คริสตอฟ ไวล์ (Christoph Weil) นักเศรษศาสตร์อาวุโสแห่ง Commerzbank ในเยอรมนีกล่าว 

“การเพิ่มขึ้นของดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อมีแนวโน้มที่จะเติมความหวังให้กับหลาย ๆ คนว่าเศรษฐกิจในเขตยูโรอาจรอดพ้นจากภาวะถดถอยได้ในที่สุด” นักเศรษฐศาสตร์คนเดิมกล่าว 

อย่างไรก็ตาม เขาเสริมว่าการเสื่อมสภาพอย่างชัดเจนของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจยังคงชี้ให้เห็นว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเล็กน้อย เป็นอย่างน้อย 

นอกจากนั้น สัญญาณที่บ่งบอกว่าเศรษฐกิจยูโรโซนดีขึ้นคือ บริษัทต่าง ๆ เพิ่มจำนวนพนักงานในอัตราที่เร็วขึ้นในเดือนนี้ โดยดัชนีการจ้างงานเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบสามเดือน ขึ้นไปอยู่ที่ 52.5 จุด เพิ่มจาก 51.9 จุด ในเดือนธันวาคม

PMI ที่ครอบคลุมดัชนีการบริการก็เป็นอัพไซด์จนสร้างความประหลาดใจ โดยทำสถิติสูงสุดในรอบ 6 เดือนที่ 50.7 จุด เพิ่มจาก 49.8 จุดในเดือนธันวาคม และยังมากกว่าคาดการณ์ที่ Reuters สำรวจ ซึ่งคาดการณ์ไว้ที่ 50.2 จุด 

แม้ว่าผู้บริโภคจะต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายที่หนักหนากว่าปกติ แต่ความต้องการซื้อ-ใช้บริการก็ลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ดัชนีวัดผลผลิต (ภาคการผลิต) ดีดตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน ขึ้นไปที่ 49.0 จุด จาก 47.8 จุด เช่นเดียวกับ PMI ภาคบริการ แม้ดัชนีราคาวัตถุดิบ-ปัจจัยในการให้บริการลดลง แต่บริษัทต่าง ๆ ขึ้นค่าบริการในอัตราที่เร็วกว่า โดยดัชนีค่าบริการขยับขึ้นเป็น 61.4 จุด จาก 61.2 จุด แต่ก็ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

แอนดรูว์ เคนนิงแฮม (Andrew Kenningham) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ยุโรปจาก Capital Economics กล่าวว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) บ่งชี้ว่า แรงกดดันด้านราคายังคงแข็งแกร่ง ดังนั้น จึงไม่มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเลิกแตะเบรกในเร็ว ๆ นี้ 

Reuters รายงานอีกว่า จนถึงตอนนี้ฤดูหนาวในยุโรปยังอยู่ในระดับปานกลาง ไม่หนาวมากเกินไป (ซึ่งหมายความว่าจะไม่ต้องใช้พลังงานในการทำความร้อนสูงมาก) เมื่อบวกกับราคาน้ำมันที่ลดลง และข้อมูลเศรษฐกิจที่เป็นบวกเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทำให้คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจรายไตรมาสที่ Reuters สำรวจ ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันจันทร์ที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา ถูกปรับปรุงคาดการณ์บางส่วนว่าจะไม่แย่เท่าที่คาดไว้ แม้ว่าจะยังคงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะถดถอยในทางเทคนิค หรือจีดีพีติดลบติดต่อกันสองไตรมาส 

แรงกดดันต่อเศรษฐกิจของเยอรมนีซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในกลุ่มยูโรโซนก็ผ่อนคลายลงในเดือนมกราคม เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวแล้ว และการสำรวจความคิดเห็นภาคธุรกิจในกลุ่มยูโรพบว่านักธุรกิจต่างมองอนาคตเศรษฐกิจ-ธุรกิจปีนี้ในแง่ดี แม้ว่ายังไม่กล้าคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจะกลับมาเติบโต 

ในฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของกลุ่ม ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อแสดงให้เห็นว่าผลผลิตโดยรวมในเดือนมกราคมลดลงเล็กน้อยอีกเดือน แต่กิจกรรมการผลิตดีขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม  

อย่างไรก็ตาม ทิศทางของทั้งสองประเทศก็ดูดีกว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคเอกชนอังกฤษในเดือนมกราคม 2566 ที่ลดลงในอัตราที่เร็วสุดในรอบ 2 ปี ซึ่งภาคธุรกิจบอกว่าเป็นเพราะดอกเบี้ยที่สูงของธนาคารกลางอังกฤษ การนัดหยุดงาน และความต้องการซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอตัวลง 

ในขณะที่ยุโรปยังคงต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงสูง ผลสำรวจความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์ของ Reuters คาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรปจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.50% ในการประชุมสองครั้งถัดไป

แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาธนาคารกลางของยุโรปจะขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่เร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในการกดอัตราเงินเฟ้อให้เข้าใกล้เป้าหมายที่ 2% 

…………………..