อียูแบนน้ำมันรัสเซียรอบใหม่ รัสเซียจะเจ็บกว่าที่ผ่านมา หรือยุโรปจะเจ็บเอง ?

อียูแบนน้ำมันรัสเซีย
โรงกลั่นน้ำมันในรัสเซีย/ AFP/ Natalia KOLESNIKOVA

สหภาพยุโรป (อียู) เริ่มใช้มาตรการคว่ำบาตรน้ำมันดีเซลและน้ำมันกลั่นสำเร็จรูปของรัสเซีย เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีคาดการณ์ว่ารอบนี้รัสเซียจะเดือดร้อนกว่าที่ผ่านมา แต่อีกด้านก็มองว่าหากรัสเซียแก้เกมได้ดี ยุโรปอาจจะเดือดร้อนเอง ยังไม่แน่ว่ารัสเซียกับยุโรปใครจะเจ็บกว่าใคร แต่ที่คาดการณ์ได้ค่อนข้างจะแน่นอนคือราคาน้ำมันในตลาดโลกจะสูงขึ้น ซึ่งผลกระทบจะทั่วถึงหลายประเทศทั่วโลก

มาตรการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียรอบใหม่ของสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลรัสเซีย เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 

มาตรการรอบใหม่นี้ ห้ามนำเข้าน้ำมันดีเซลและน้ำมันกลั่นสำเร็จรูปทุกชนิด นับเป็นมาตรการคว่ำบาตรผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมรัสเซียชุดที่ 6 ของสหภาพยุโรป นับตั้งแต่ที่ประกาศมาตรการคว่ำบาตรครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 

นอกจากนั้น สหภาพยุโรปร่วมกับประเทศพันธมิตรในกลุ่ม G-7 กำหนดเพดานราคาน้ำมันของรัสเซีย สูงสุด 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลสำหรับน้ำมันราคาพรีเมี่ยม เช่น น้ำมันดีเซล และ 45 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรลสำหรับผลิตภัณฑ์อย่างน้ำมันเตาและน้ำมันหล่อลื่น ให้มีผลในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 เช่นกัน โดยมีข้ออนุโลมให้สำหรับน้ำมันที่บรรจุขึ้นเรือที่ท่าเรือต้นทางก่อนวันที่ 5 กุมภาพันธ์ และต้องขนถ่ายลงที่ท่าเรือปลายทางภายในวันที่ 1 เมษายน 2566 

มีการคาดการณ์ว่าการที่ยุโรปแบนน้ำมันดีเซลและน้ำมันกลั่นชนิดต่าง ๆ ของรัสเซียรอบนี้จะส่งผลกระทบทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้นอีกระลอก   

 

โดนแบนทั้งปี แต่รัสเซียไม่เดือดร้อนเท่าที่คาด

ถึงแม้อียูจะทำขึงขังลดการพึ่งพารัสเซียได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ แต่การคว่ำบาตรน้ำมันและก๊าซรัสเซียครั้งที่ผ่าน ๆ มาไม่ส่งผลกระทบต่อรัสเซียมากเท่าที่อียูกับพันธมิตรหวังผล เนื่องจากน้ำมันดิบจากรัสเซียยังสามารถส่งขายให้ประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะประเทศที่มีความต้องการใช้สูงมากอย่างจีนกับอินเดีย 

มีรายงานว่าการนำเข้าน้ำมันของอินเดียในเดือนธันวาคม 2565 เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ในรอบ 5 เดือน เนื่องจากอินเดียเพิ่มการซื้อน้ำมันดิบจากรัสเซีย ขณะที่จีนเป็นผู้ซื้อน้ำมันดิบรายใหญ่อันดับสองของรัสเซียในเดือนมกราคมที่เพิ่งผ่านมา  

ปี 2565 ที่ผ่านมา รัสเซียโดนแบนก๊าซธรรมชาติและน้ำมันมาตั้งแต่ช่วงกลาง ๆ ปี แต่ตัวเลขในบัญชีการค้าน้ำมันและก๊าซของรัสเซียกลับดีขึ้น โดยปี 2565 มีรายได้จากการขายน้ำมันและก๊าซเพิ่มขึ้นจากปี 2564 มากถึง 1.2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 28% 

นักวิเคราะห์ด้านพลังงานจึงตั้งคำถามเกี่ยวกับการที่อียูแบนน้ำมันรัสเซีย ว่าจะได้ผลมากแค่ไหน ในเมื่อรัสเซียสามารถเปลี่ยนเส้นทางการขนส่งน้ำมันไปยังจีน อินเดีย และตุรกีได้ ซึ่งยุโรปอาจจะซื้อน้ำมันเหล่านั้นอีกต่อหนึ่ง เป็นเพียงการเปลี่ยนลำดับขั้นตอนการซื้อที่ไม่ได้ซื้อตรงจากรัสเซียเท่านั้น  

ตามรายงานของสำนักข่าว CNBC สตีเฟน เบรนน็อก (Stephen Brennock) นักวิเคราะห์อาวุโสของบริษัทนายหน้าซื้อขายน้ำมัน PVM Oil Associates ในลอนดอน แสดงความเห็นว่า มาตรการคว่ำบาตรน้ำมันดิบพร้อมกับกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียของสหภาพยุโรปที่ใช้มาตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมถึงตอนนี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อรัสเซียรุนแรงอย่างที่บางคนคาดการณ์ไว้ 

ทั้งนี้ ความคิดเห็นของเขามีขึ้นไม่นานหลังจากที่มีการรายงานว่าปริมาณน้ำมันที่ขนส่งออกจากท่าเรือบอลติกของรัสเซียในเดือนมกราคม 2566 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 50% จากเดือนธันวาคม 2565 

“ถือว่าไม่เลวสำหรับประเทศที่ถูกคว่ำบาตรมากที่สุดในโลก” เบรนน็อกกล่าว 

อียูแบนน้ำมันรัสเซีย
โรงกลั่นน้ำมันดีเซลในรัสเซีย/REUTERS/ Vasily Fedosenko/File Photo

 

ครั้งนี้รัสเซียอาจจะเจ็บหนักกว่าที่ผ่านมา

แม้ในปีที่ผ่านมารัสเซียไม่เดือดร้อนมากนัก แต่สำหรับมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมครั้งล่าสุดนี้ ก็มีการวิเคราะห์กันอย่างกว้างขวาง ว่าจะสร้างความลำบากและสร้างผลกระทบต่อรัสเซียได้มากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา   

CNBC รายงานว่า บริษัทที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงทางการเมือง Eurasia Group เป็นหนึ่งองค์กรที่เตือนว่า การแบนน้ำมันรัสเซียรอบนี้อาจจะส่งผลต่อรัสเซียมากกว่าครั้งก่อน ๆ 

นักวิเคราะห์ของ Eurasia Group มองว่า ปัญหาเรื่องการขนส่งและการกำหนดเพดานราคาเป็นปัญหาหลักเมื่อพูดถึงการแบนน้ำมันรัสเซียของสหภาพยุโรป ซึ่งความท้าทายนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้เชื่อว่าการแบนน้ำมันกลั่นสำเร็จรูปในรอบนี้อาจส่งผลกระทบต่อรัสเซียและต่อตลาดมากกว่าการแบนน้ำมันดิบในช่วงที่ผ่าน ๆ มา  

เหตุผลที่นักวิเคราะห์ของ Eurasia Group มองแบบนั้นก็คือ หากรัสเซียจะใช้วิธีการเปลี่ยนเส้นทางการขายน้ำมันมาทางเอเชียเหมือนที่ทำกับน้ำมันดิบ รัสเซียจะเจออุปสรรคที่ว่าการขนส่งผลิตภัณฑ์น้ำมันกลั่นสำเร็จรูปนั้นยากกว่าการขนส่งน้ำมันดิบ เนื่องจากเรือบรรทุกน้ำมันต้องผ่านการทำความสะอาดอย่างละเอียดมากเมื่อจะเปลี่ยนการใช้บรรทุกเชื้อเพลิงชนิดหนึ่งไปใช้บรรทุกเชื้อเพลิงอีกชนิดหนึ่ง อีกทั้งยังต้องใช้เรือขนส่งจำนวนมากกว่าการขนส่งน้ำมันดิบ เนื่องจากเรือบรรทุกน้ำมันกลั่นมีขนาดเล็กกว่าเรือขนส่งน้ำมันดิบ 

ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะเป็นความท้าทายด้านโลกจิสติกส์ และทำให้ต้นทุนการขนส่งสูงขึ้น  

ด้าน Economist Intelligence Unit (EIU) ก็มองไปในทิศทางเดียวกันว่า รัสเซียจะเดือดร้อนกว่าที่ผ่าน ๆ มา โดยแมทธิว เชอร์วูด (Matthew Sherwood) ตัวแทนนักวิเคราะห์ของ EIU คาดการณ์ว่า การคว่ำบาตรรัสเซียรอบนี้จะก่อให้เกิดการหยุดชะงักในอุปทานน้ำมันเพิ่มขึ้นอีก และผลกระทบจะเกิดขึ้นในทันทีหลังจากคำสั่งมีผลบังคับใช้ เนื่องจากสหภาพยุโรปยังต้องหาซัพพลายน้ำมันจากแหล่งอื่นทดแทนน้ำมันรัสเซีย และคาดว่าจะสร้างแรงกดดันต่อราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันมากขึ้น  

EIU คาดการณ์ว่าจะมีการเปลี่ยนเส้นทางการส่งออกน้ำมัน โดยรัสเซียจะส่งน้ำมันไปยังจีน อินเดีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกามากขึ้น ส่วนยุโรปก็จะเพิ่มการนำเข้าน้ำมันจากอินเดีย จีน และสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้น 

 

จีนกับอินเดียจะไม่ช่วยรัสเซีย

เชอร์วูด ตัวแทนนักวิเคราะห์ของ EIU แสดงความเห็นอีกว่า สำหรับน้ำมันกลั่นสำเร็จรูปที่ถูกคว่ำบาตรในรอบใหม่นี้ อาจจะมีชะตากรรมที่แย่กว่าน้ำมันดิบ เนื่องจากจีนและอินเดียที่เป็นเส้นทางการส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซียผ่านไปยังประเทศอื่น ๆ นั้น ใช้วิธีนำเข้าน้ำมันดิบราคาถูก แล้วนำไปกลั่นเองภายในประเทศ มากกว่าที่จะนำเข้าน้ำมันที่กลั่นสำเร็จแล้ว

ซึ่งนั่นหมายความว่า น้ำมันกลั่นสำเร็จรูปของรัสเซียอาจไม่ได้มีทางไปมากเท่ากับน้ำมันดิบ

สอดคล้องกับที่สำนักข่าว South China Morning Post ในฮ่องกงรายงานวิเคราะห์ว่า การโดนคว่ำบาตรจากอียูรอบนี้ รัสเซียน่าจะเดือดร้อนหนักกว่าครั้งที่ผ่านมา เพราะจีนและอินเดียอาจจะไม่เข้าไปช่วยเหลือรัสเซีย เนื่องจากเป็นบริบทที่ต่างออกไป คือเมื่อตอนที่รัสเซียโดนแบนน้ำมันดิบ จีนและอินเดียกระตือรือร้นที่จะซื้อน้ำมันดิบรัสเซียที่มีราคาต่ำ แต่สำหรับครั้งนี้ ทั้งสองประเทศไม่น่าจะซื้อน้ำมันที่ผ่านการกลั่นแล้วจากรัสเซีย 

วิกตอร์ คาโตนา (Viktor Katona) หัวหน้านักวิเคราะห์ตลาดน้ำมันดิบของ Kpler บริษัทให้บริการและวิเคราะห์ข้อมูลตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ชื่อดังวิเคราะห์ว่า ทั้งจีนและอินเดียเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันที่กลั่นแล้ว ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้าเพิ่ม 

น้ำมันรัสเซีย
วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย กับสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน/ Aleksey Druzhinin/Kremlin via REUTERS/ File Photo/ February 4, 2022

 

แต่รัสเซียยังพอมีทางออก และยุโรปอาจเจ็บเอง

อย่างไรก็ตาม น้ำมันของรัสเซียก็ยังสามารถหาผู้ซื้อได้ โดยส่งไปขายที่ตลาดสิงคโปร์และตลาดฟูไจราห์ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จากนั้นมุ่งหน้าไปยังตลาดเอเชีย แต่ตลาดที่ได้ก็ไม่ใช่ตลาดใหญ่ 

วิกตอร์ คาโตนา (Viktor Katona) หัวหน้านักวิเคราะห์ตลาดน้ำมันดิบของ Kpler วิเคราะห์อีกว่า ผลิตภัณฑ์น้ำมันของรัสเซียอาจไหลไปยังแอฟริกาตะวันตกและละตินอเมริกา ขณะที่ยุโรปมีแนวโน้มจะจัดหาน้ำมันดีเซลจากสหรัฐและเอเชียมากขึ้น 

นอกจากนี้ ตามรายงานของ Morningstar บอกว่า การที่อียูแบนน้ำมันรัสเซียอาจทำให้ทั้งจีนและอินเดียมีพื้นที่ในการต่อรองราคาซื้อน้ำมันจากรัสเซียมากขึ้น 

คาโตนาวิเคราะห์อีกว่า รัฐบาลรัสเซียก็ยังมีหนทางรับมือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ โดยรัสเซียสามารถกลั่นน้ำมันน้อยลงได้ แต่ยังรักษาระดับการผลิตน้ำมันให้คงที่ ซึ่งจะส่งผลให้มีการส่งออกน้ำมันดิบไปยังอินเดียและจีนมากขึ้น  

สตีเฟน เอลลิส (Stephen Ellis) นักกลยุทธ์ด้านสินค้าพลังงานและสาธารณูปโภคของ Morningstar แสดงความเห็นว่า รัฐบาลรัสเซียสามารถติดอาวุธให้กับน้ำมันของตนเองได้โดยการตัดการส่งออก ซึ่งจะทำให้ซัพพลายของยุโรปลดลงในที่สุด  

ถ้ารัสเซียทำแบบนี้แล้วได้ผลจริง ก็หมายความว่ายุโรปอาจจะเดือดร้อนเอง  

อาจจะยังคาดเดาได้ไม่ชัดว่ารัสเซียกับยุโรปใครจะเจ็บกว่าใคร แต่ที่คาดการณ์ได้ค่อนข้างจะแน่นอนคือราคาน้ำมันในตลาดโลกจะสูงขึ้น ซึ่งผลกระทบจะทั่วถึงหลายประเทศทั่วโลก