
สภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) ของจีน ลงมติรับรอง หลี่ เฉียง (Li Qiang) ลูกน้องคนสนิทของสี จิ้นผิง ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจีนแล้ว ด้วยมติไม่เอกฉันท์ มีผู้คัดค้าน 3 และงดออกเสียง 8 จากทั้งหมด 2,947 คน
วันที่ 11 มีนาคม 2566 ในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (National People’s Congress : NPC) ของจีนประจำปี 2566 สภาฯ เสนอชื่อและลงมติรับรอง หลี่ เฉียง (Li Qiang) ลูกน้องคนสนิทของสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจีน ต่อจาก หลี่ เค่อเฉียง (Li Keqiang) นายกรัฐมนตรีซึ่งดำรงตำแหน่งครบสองวาระแล้ว
- เตือน 10 จังหวัด เตรียมพร้อมยกของขึ้นที่สูง รับมือสถานการณ์น้ำ
- ส่องประวัติ ไทยน้ำทิพย์-หาดทิพย์ ผู้ขายโค้กในไทย ทำไมรายได้ต่างกัน
- กองทุนชราภาพ เป็นสิ่งที่คนมีประกันสังคมควรรู้จัก
สำนักข่าว South China Morning Post รายงานว่า หลี่ เฉียง ได้รับการรับรองจากสมาชิก NPC จำนวน 2,936 คน จากทั้งหมด 2,947 คนที่เข้าร่วมการประชุม โดยมีผู้ลงคะแนนคัดค้าน 3 คน และงดออกเสียง 8 คน
คาดว่า หลี่ เฉียง จะจัดแถลงข่าวครั้งแรกในฐานะนายกรัฐมนตรีในวันจันทร์ที่ 13 มีนาคมที่จะถึงนี้ หลังจากการสรุปการประชุมประจำปีของ NPC ซึ่งจะมีการเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดถึงสัญญาณความคิดเห็นของเขาเกี่ยวกับวิธีการฟื้นฟูเศรษฐกิจจีนจากความซบเซา และจัดการกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ความท้าทายด้านประชากรศาสตร์ และปัญหาคอขวดทางเทคโนโลยี

สำหรับเส้นทางสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของหลี่ เฉียง นั้น เป็นที่ทราบกันในพรรคคอมมิวนิสต์จีนว่า เขาเป็นคนของ สี จิ้นผิง เป็นลูกน้องที่สี จิ้นผิง เชื่อในความจงรักภักดี จึงได้รับการผลักดันขึ้นมา เพื่อทำงานเป็นมือเป็นไม้ของสี จิ้นผิง ซึ่งกำลังเดินหน้ารวบอำนาจเข้าหาตนเองเบ็ดเสร็จ
หลี่ เฉียง ก้าวขึ้นมาอยู่ในสปอตไลต์ และถูกจับตาว่าจะเป็นทายาททางการเมืองของสี จิ้นผิง เมื่อเขาได้รับเลือกให้เป็นกรรมการถาวรประจำกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Politburo Standing Committee) ในการประชุมเต็มคณะของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 20 (The 20th National Congress of the Communist Party of China) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2022
“กรรมการถาวรประจำกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน” มีจำนวน 7 คน ซึ่ง 7 คนนั้นเป็นผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดในประเทศจีน
ชื่อของ หลี่ เฉียง เข้ามาอยู่ในอันดับที่ 2 ต่อจากชื่อของสี จิ้นผิง ที่อยู่อันดับ 1 นั่นหมายความว่าเขาได้ขึ้นมาเป็นคนที่มีอำนาจอันดับที่ 2 รองจากสี จิ้นผิง
ขณะเดียวกันนั้น สี จิ้นผิง ได้กำจัด หวัง หยาง (Wang Yang) บุคคลที่อยู่คนละกลุ่มก้อนการเมืองกับตนเองออกไปพ้นเส้นทางตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากเดิมที่หวัง หยาง คือผู้ที่ถูกคาดหมายว่าจะเป็นนายกฯ คนต่อไป
ทำให้คาดการณ์ได้ค่อนข้างชัดตั้งแต่ตอนนั้นว่า หลี่ เฉียง จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อจาก หลี่ เค่อเฉียง
ก่อนหน้าที่จะเข้ามาเป็น 1 ใน 7 คณะกรรมการถาวรของโปลิตบูโรในเดือนตุลาคม 2022 นั้น หลี่ เฉียง เป็นกรรมการกรมการเมืองของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน (โปลิตบูโร) และเลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนแห่งนครเซี่ยงไฮ้ ในช่วงปี 2017-2022
เขาคือคนที่อยู่เบื้องหลังการปิดเมืองเซี่ยงไฮ้ในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2022 นั่นเอง
สำหรับประวัติ เส้นทางสู่อำนาจของหลี่ เฉียง และความสัมพันธ์ของเขากับสี จิ้นผิง เป็นอย่างไร อ่านแบบเต็ม ๆ ได้ที่นี่