สรุปเรื่องเด่นประชุมสภาจีน ปฏิรูปวิทย์-การเงิน เพิ่มงบกลาโหม เตือนสหรัฐอย่าข้ามเส้น

สรุปเรื่องเด่นประชุมสภาจีน
สี จิ้นผิง ในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC)/ REUTERS/ Josh Arslan

ในประเทศจีนกำลังมีการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (National People’s Congress : NPC) และสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติ (Chinese People’s Political Consultative Conference : CPPCC) ที่เรียกว่า การประชุมสองสภา หรือเรียกแบบภาษาสากลก็คือ การประชุมรัฐสภาประจำปี 2023 

การประชุมสภาของจีนถูกจับตามองจากทั่วโลก เพราะจะมีการแต่งตั้ง-โยกย้าย การรับตำแหน่ง-ลงจากตำแหน่งของบุคคลในตำแหน่งสำคัญ ๆ มีการประกาศนโยบายและแผนบริหารประเทศในด้านต่าง ๆ รวมถึงนโยบายต่างประเทศของจีนก็จะถูกเปิดเผยในการประชุมนี้เช่นกัน 

“ประชาชาติธุรกิจ” สรุปเรื่องเด่นจากการประชุม ณ วันที่ 9 มีนาคม 2023 หลังเปิดการประชุมมาแล้ว 5-6 วัน 

 

ปฏิรูปด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มุ่งพึ่งพาตนเอง

ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เรียกร้องหลายครั้งให้จีนลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติเมื่อวันที่ 5 มีนาคม เขากล่าวย้ำเรื่องนี้อีกครั้ง 

“ท่ามกลางการแข่งขันระหว่างประเทศที่ดุเดือด … การที่เราจะสร้างประเทศสังคมนิยมให้ทันสมัยในทุกด้านตามที่ตั้งเป้าไว้ได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการพึ่งพาตนเองและการพัฒนาตนเองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”

ในการนำเสนอรายงานการทำงานของรัฐบาลต่อสภา เมื่อวันที่ 5 มีนาคม หลี่ เค่อเฉียง (Li Keqiang) นายกรัฐมนตรีที่กำลังลงจากตำแหน่งเป็นตัวแทนรัฐบาลจีนกล่าวให้คำมั่นว่า จะรวบรวมทรัพยากรทั้งหมดของประเทศเข้าด้วยกัน เพื่อให้จีนพึ่งพาตนเองในด้านเทคโนโลยีให้ได้ และเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะปกป้องรักษาความก้าวหน้าที่สำคัญในด้านต่าง ๆ ที่จีนมีเอาไว้เป็นอย่างดี (เช่น เซมิคอนดักเตอร์) ท่ามกลางความตึงเครียดกับสหรัฐที่ขยายเพิ่มระดับขึ้น

หลี่ เค่อเฉียง ย้ำถึงข้อเรียกร้องให้มี “ยุทธศาสตร์ทั้งประเทศ” เพื่อให้จีนก้าวล้ำหน้าสหรัฐในด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานและเทคโนโลยีขั้นสูง

หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน
หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน/ AFP/ NOEL CELIS


นายกฯ หลี่กล่าวว่า จีนควรสนับสนุนให้เอกชนร่วมมือกันดำเนินการในแผนแม่บทและโครงการต่าง ๆ ที่สำคัญของรัฐบาล ที่มุ่งแก้ไขจุดอ่อนของประเทศ เพื่อตอบโต้ความพยายามจากภายนอกในการสกัดการพัฒนาของจีน ซึ่งทำได้ผลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จีนควรจะรวบรวมทรัพยากรที่มีคุณภาพและใช้ความพยายามร่วมกันเพื่อบรรลุความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในสาขาที่สำคัญในอนาคต

ต่อมาในวันที่ 7 มีนาคม รัฐบาลจีนเสนอแผนปรับโครงสร้างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อรัฐสภา 

ในแผนที่คณะรัฐมนตรีเสนอต่อสภาระบุว่า “การเผชิญกับสถานการณ์การแข่งขันทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศที่รุนแรง รวมถึงการกักกันและการปราบปรามจากภายนอก จีนจำเป็นต้องเร่งความตระหนักในการพึ่งพาตนเองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับสูง และการพัฒนาตนเอง” 

ทั้งนี้ ตามแผนการปฏิรูปที่จะเกิดขึ้นนี้ จะลดขอบเขตความรับผิดชอบของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลง งานบางอย่างเช่น การสร้างเขตพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทค และการผลักดันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในพื้นที่ชนบท จะถูกกระจายไปให้กระทรวงอื่น ๆ หลายกระทรวง 

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนี้จะเป็นการรวมศูนย์อำนาจนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไว้ในมือของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งตามแผนมีการเสนอการจัดตั้งคณะกรรมการกลางชุดใหม่ขึ้นมาเพื่อดูและตัดสินใจในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยตรง 

 

ปฏิรูปการกำกับดูแลภาคการเงิน

รัฐบาลจีนเสนอแผนปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมการเงิน โดยเสนอจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลระดับชาติชุดใหม่มาทำงานแทนที่หน่วยงานเดิม เพื่อรวมศูนย์การกำกับดูแลภาคการเงินทั้งหมดเข้าสู่หน่วยงานนี้ ซึ่งอยู่ภายใต้ฝ่ายบริหารของรัฐโดยตรง ยกเว้นเพียงภาคหลักทรัพย์ 

ในปัจจุบันภาคการเงินของจีนอยู่ภายใต้การดูแลของสามองค์กรคือ ธนาคารกลาง (People’s Bank of China : PBOC) คณะกรรมการกำกับดูแลการธนาคารและการประกันภัยแห่งประเทศจีน (China Banking and Insurance Regulatory Commission : CBIRC) และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศจีน (China Securities Regulatory Commission : CSRC) โดยมีคณะกรรมการควบคุมเสถียรภาพทางการเงินและการพัฒนาของคณะรัฐมนตรี รับผิดชอบดูแลในภาพรวม

ภายใต้แผนใหม่ งานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ CBIRC และงานบางส่วนของ PBOC และ CSRC จะถูกโอนไปที่หน่วยงานกำกับดูแลของฝ่ายบริหารที่จัดตั้งขึ้นใหม่ 

ทั้งนี้ Bloomberg รายงานว่า การปฏิรูปที่จะเกิดขึ้นจะส่งผลให้พนักงานในหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงิน ซึ่งรวมถึงธนาคารกลาง หน่วยงานกำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่จะตั้งขึ้นใหม่ และหน่วยงานกำกับดูแลหลักทรัพย์ จะได้รับค่าจ้างเทียบเท่าข้าราชการ หมายความว่าบางคนที่ทำงานในหน่วยงานกำกับดูแลหลักทรัพย์ (ซึ่งมีรายได้สูงกว่าข้าราชการมากอย่างมีนัยสำคัญ) อาจได้รับค่าจ้างลดลงไปมากกว่า 50%   

การประชุม NPC/ REUTERS/ Thomas Peter

 

เพิ่มงบฯกลาโหม 7.2% สั่งเตรียมพร้อมรบ

เรื่องหนึ่งที่ทั่วโลกจับตามอง แล้วก็เป็นไปตามคาดก็คือ รัฐบาลจีนเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหม 7.2% จากปี 2565 โดยวงเงินงบประมาณปีนี้อยู่ที่ 1.55 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 224,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการเพิ่มในอัตราที่เร็วสุดในรอบ 4 ปี ส่วนงบประมาณในปี 2565 นั้น เพิ่มขึ้น 7.1% จากปี 2564    

นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง (Li Keqiang) ที่กำลังจะลงจากตำแหน่ง กล่าวต่อสภาว่า กองทัพปลดปล่อยประชาชนควรเพิ่มการเตรียมพร้อมในการรบและเพิ่มขีดความสามารถทางทหาร  

Global Times สื่อของรัฐบาลจีนรายงานว่า การเพิ่มงบประมาณกลาโหมของจีนพิจารณากลั่นกรองจากเหตุผล 3 ประการคือ หนึ่ง สภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงของจีนแย่ลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และสถานการณ์ด้านความมั่นคงทั่วโลกตึงเครียดในปีที่แล้ว เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน 

สอง งบประมาณด้านกลาโหมของหลายประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากในปีที่แล้ว และปีนี้ แนวโน้มของการใช้จ่ายทางทหารที่เพิ่มขึ้นมีอยู่ทั่วโลก โดยอินเดียเพิ่มงบทางการทหาร 13% สหรัฐเพิ่ม 10% เยอรมนีเพิ่ม 17% และญี่ปุ่นเพิ่ม 26.3%

สาม การใช้จ่ายทางทหารของจีนยังไม่เกิน 1.5% ของจีดีพี ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าประเทศอื่น ๆ อย่างเช่น ญี่ปุ่นที่ประกาศว่าจะเพิ่มเป็น 2% ของจีดีพี ภายใน 5 ปี สหรัฐอยู่ที่สัดส่วน 3.5% ของจีดีพี อินเดีย 2.2% ของจีดีพี 

 

เตือนสหรัฐอย่าข้าม “เส้นแดง” เรื่องไต้หวัน

นอกรอบการประชุม ฉิน กัง (Qin Gang) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ของจีนที่รับตำแหน่งเมื่อเดือนธันวาคม แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยเขาพุ่งไปที่ความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาในหลาย ๆ เรื่อง 

ฉิน กัง ถือรัฐธรรมนูญปกแดงของจีนมาเน้นย้ำหลักการของจีนในเรื่องไต้หวันว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน กรอบกฎหมายของจีนเรียกร้องให้จีนกับไต้หวันรวมชาติกันอย่างสันติ แต่จีนอาจใช้กำลังเข้ายึดครองได้ในกรณีที่จำเป็น และเตือนสหรัฐว่าอย่าข้ามเส้นเรื่องนี้  

“ปัญหาเรื่องไต้หวันคือผลประโยชน์หลัก (core interest) ของจีน เป็นรากฐานทางการเมืองของความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ และเป็นเส้นแดงเส้นแรกในความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ ที่ไม่ควรก้าวล้ำ” 

“สหรัฐมีความรับผิดชอบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการทำให้เกิดปัญหาเรื่องไต้หวัน” 

“ไม่มีใครควรประมาทเจตจำนงอันแรงกล้า และความสามารถอันยอดเยี่ยมของรัฐบาลและประชาชนจีนในการปกป้องอธิปไตยของชาติและเอกภาพแห่งดินแดนของตนเอง” รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าว 

ฉิน กัง รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ จีน/ REUTERS/ Thomas Peter


อีกเรื่องที่เขากล่าวถึงคือ
เรื่องบอลลูนสอดแนม ฉินกล่าวว่า เรื่องบอลลูนสอดแนมที่สหรัฐบอกว่าเป็นของรัฐบาลจีน บ่งชี้ว่าการรับรู้ของรัฐบาลสหรัฐเกี่ยวกับจีนนั้นถูกบิดเบือนอย่างร้ายแรง และรัฐบาลสหรัฐแสดงปฏิกิริยาที่เกินจริง 

เขากล่าวตำหนิสหรัฐว่า นโยบายของรัฐบาลสหรัฐต่อจีนเปลี่ยนจากแนวทางที่มีเหตุมีผล ไปเป็นแนวทางที่พยายามจำกัดและปราบปรามจีน เป็นเกมแบบ Zero sum game คือเกมที่ผลรวมเป็นศูนย์ มีแค่แพ้หรือชนะ เป็นหรือตายเท่านั้น ไม่มีการชนะและอยู่รอดร่วมกัน 

เขาเตือนอีกว่า หากสหรัฐไม่เหยียบเบรกในแนวทางที่ทำอยู่ จะนำไปสู่ความขัดแย้งและการเผชิญหน้าระหว่างจีนกับสหรัฐอย่างแน่นอน ซึ่งจะนำไปสู่หายนะ 

และยังมีเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งฉินกล่าวย้ำข้อเสนอของรัฐบาลจีนที่เสนอให้มีการเจรจาสันติภาพ และกล่าวเป็นนัยถึงสหรัฐและชาติตะวันตกว่า “ดูเหมือนจะมีมือที่มองไม่เห็นผลักดันให้ความขัดแย้งยืดเยื้อออกไป และใช้วิกฤตยูเครนเพื่อวาระทางการเมืองบางอย่าง” พร้อมกล่าวเสริมอีกว่า จีนต้องการกระชับความสัมพันธ์กับรัสเซียเพื่อเป็นกันชนในโลกที่ปั่นป่วน 

ความคิดเห็นของฉิน กัง มีขึ้นหนึ่งวันหลังจากการกล่าวสุนทรพจน์ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในวันจันทร์ที่ 6 มีนาคม ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ สี จิ้นผิง ผู้สงบเงียบกล่าวถึงสหรัฐแบบตรง ๆ ว่า สหรัฐขัดขวางการพัฒนาทางเทคโนโลยีของจีน และสหรัฐกดดันให้ชาติตะวันตกอื่น ๆ “ดำเนินมาตรการกักกันและปราบปรามจีนอย่างรอบด้าน” 

สี จิ้นผิง บอกกับตัวแทนจากภาคธุรกิจว่า จีนต้องมีความกล้าหาญที่จะต่อสู้ ในขณะที่ประเทศเผชิญความเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนและยืดเยื้อยาวนาน ทั้งในและระหว่างประเทศ และบริษัทเอกชนควรเริ่มกระบวนการที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่มีคุณภาพระดับสูง