เงินเฟ้อสหรัฐ เม.ย. 66 ต่ำกว่า 5% แต่ CPI เทียบรายเดือนยังเพิ่ม แนวโน้มไม่ลงสู่เป้า 2%

เงินเฟ้อสหรัฐเมษายน 2566
AFP/ Stefani Reynolds

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐในเดือนเมษายน 2566 ต่ำกว่า 5% ครั้งแรกในรอบ 2 ปี แต่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้ายังคงเพิ่มในอัตราสูงขึ้น นักเศรษฐศาสตร์มองว่าแนวโน้มจะไม่ลดลงสู่เป้าหมาย 2% แต่น่าจะเพียงพอให้เฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ยชั่วคราว

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐ สำนักงานสถิติแรงงาน กระทรวงแรงงาน ของสหรัฐเผยแพร่รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index : CPI) ประจำเดือนเมษายน 2566 ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อ พบว่าอัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายน 2566 ของสหรัฐชะลอตัวลงต่ำกว่า 5% เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี ซึ่งตอนนี้ถือว่าอัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐแล้ว 

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือนเมษายน 2566 เพิ่มขึ้น 4.9% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) ซึ่งหมายถึงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 4.9% 

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน (Core Consumer Price Index : Core CPI) เพิ่มขึ้น 5.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (YOY) ซึ่งหมายถึงอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) อยู่ที่ 5.5% 

นับเป็นอีกเดือนต่อเนื่องจากเดือนมีนาคม 2566 ที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ซึ่งภาวะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปนั้น เป็นภาวะที่เกิดขึ้นไม่บ่อย โดยทั่วไปแล้ว อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน

ถึงอย่างนั้น เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MOM) ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปยังแกร่ง โดยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือนเมษายน 2566 เพิ่มขึ้น 0.4% หลังปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงขึ้นจากอัตราของเดือนมีนาคม 2566 ที่เพิ่มขึ้น 0.1% จากเดือนกุมภาพันธ์ 2566 

โดยหมวดสินค้าที่เป็นปัจจัยหนุนการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภคมากที่สุดคือที่ พักอาศัย ตามมาด้วยราคารถยนต์และรถบรรทุกมือสอง และดัชนีราคาน้ำมันเบนซิน 

ส่วนดัชนีพลังงานโดยรวมในเดือนเมษายนเพิ่มขึ้น 0.6% จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีราคาอาหารไม่เปลี่ยนแปลงในจากเดือนก่อนหน้า

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ลดลงต่ำกว่า 5% เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี มีความเป็นไปได้ที่จะหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve System : Fed) หยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้า แต่การขึ้นดอกเบี้ยต่อไปก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน เพราะสัญญาณของเฟดในการประชุมที่ผ่านมาก็ไม่ได้บอกชัดว่าจะหยุดขึ้นดอกเบี้ย แต่จะดูข้อมูลที่เข้ามาก่อนการประชุมครั้งถัดไป 

สำนักข่าว Reuters (รอยเตอร์) รายงานว่า สกอตต์ แอนเดอร์สัน (Scott Anderson) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร Bank of the West ในซานฟรานซิสโกกล่าวว่า รายงานเงินเฟ้อของผู้บริโภคในวันนี้สนับสนุนให้เฟดพิจารณาอย่างจริงจัง ว่าจะหยุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยชั่วคราวในเดือนมิถุนายน แต่ไม่สนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระยะใกล้นี้ 

คริส โลว์ (Chris Low) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ FHN Financial บริษัทให้บริการการลงทุนในนิวยอร์กกล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อยังคงสูงเกินไปและจะไม่ลดลงกลับไปสู่เป้าหมาย 2% หากเงินเฟ้อรายเดือนยังเพิ่มขึ้น 0.4% แต่การจะบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อรายปี 2% ได้นั้น การเพิ่มขึ้นรายเดือนต้องอยู่ที่ประมาณ 0.15% อย่างต่อเนื่อง 


ทั้งนี้ หุ้นในวอลล์สตรีตปรับตัวขึ้นท่ามกลางความโล่งใจที่ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อไม่ได้สูงเกินความคาดหมาย ส่วนค่าเงินดอลลาร์ร่วงลงเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงิน ส่วนราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น