เงินเฟ้อสหรัฐมีนาคม 2566 ราคาบ้านดันเงินเฟ้อพื้นฐานสูงกว่าเงินเฟ้อทั่วไป

เงินเฟ้อสหรัฐ มีนาคม 2566
ราคาน้ำมันสหรัฐลดลงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566/ AFP/ Mandel NGAN / แฟ้มภาพ มกราคม 2566

ภาวะเงินเฟ้อสหรัฐเดือนมีนาคม 2566 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 5.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังสูง 5.6% ปัจจัยหลักมาจากราคาที่อยู่อาศัยยังเพิ่ม ขณะที่ราคาอาหารชะลอ ส่วนราคาพลังงานลดลงแล้ว 

เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2566 สำนักสถิติแรงงาน (Bureau of Labor Statistics) กระทรวงแรงงานของสหรัฐอเมริกา แถลงดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index : CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อ ประจำเดือนมีนาคม 2566 

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือนมีนาคม 2566 เพิ่มขึ้น 5.0% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) ซึ่งหมายถึงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ 5.0% ชะลอลงมาจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งอยู่ที่ 6.0% และเป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 2 ปี นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ซึ่งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 4.2% ก่อนจะเพิ่มเป็น 5% ในเดือนถัดจากนั้น อย่างไรก็ตาม อัตรา 5.0% ก็ยังคงสูงกว่าเป้าหมาย 2% อยู่ค่อนข้างมาก

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน) เดือนมีนาคม 2566 เพิ่มขึ้น 5.6% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) ซึ่งหมายถึงอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (core inflation) เดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ 5.6% 

ภาวะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้นมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปนั้น เป็นภาวะที่เกิดขึ้นไม่บ่อย โดยทั่วไปแล้ว อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน 

สำหรับสถานการณ์ของสหรัฐในเดือนมีนาคม 2566 การที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปนั้นเป็นผลมาจากดัชนีราคาที่อยู่อาศัยที่เป็นปัจจัยหนุนดัชนีราคาผู้บริโภคมากที่สุด เพิ่มขึ้น 0.6% จากเดือนก่อนหน้า และเพิ่ม 8.2% จากเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว 

ขณะที่ดัชนีอาหารในเดือนมีนาคมไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้า แต่เพิ่ม 8.5% จากเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนดัชนีราคาพลังงานลดลง 3.5% จากเดือนก่อนหน้า และลดลง 6.4% จากเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว โดยราคาน้ำมันลดลงติดต่อกันมา 4 เดือน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566