กรุงศรีฯคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายกรอบ 33.85-34.65 ติดตามเงินเฟ้อสหรัฐ

ค่าเงินบาท17ตุลา65

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประเมินกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขาย 33.85-34.65 บาทต่อดอลลาร์ คาดนักลงทุนติดตามดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน มี.ค.ของสหรัฐ คาดอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับที่สูง มองเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 2-3 พ.ค.นี้ ส่วนไทยคาด กนง.คงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.75%

วันที่ 10 เมษายน 2566 กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.85-34.65 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 34.12 บาทต่อดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 33.83-34.46 บาทต่อดอลลาร์

โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 7 สัปดาห์ ขณะราคาทองคำในตลาดโลกพุ่งขึ้น ขณะที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ โดยดัชนีดอลลาร์แตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือนท่ามกลางแรงกดดันจากการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐตามรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

อย่างไรก็ดี ข้อมูลท้ายสัปดาห์บ่งชี้ว่าแม้ค่าจ้างชะลอลงในเดือน มี.ค. แต่อัตราการว่างงานของสหรัฐลดลงสู่ระดับ 3.5% ทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่ามีโอกาสราว 68% ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 25 bp สู่ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 2-3 พ.ค. แต่ตลาดยังคงมุมมองที่ว่าเฟดอาจจะปรับลดดอกเบี้ยหลายครั้งก่อนสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 522 ล้านบาท และ 16,530 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่านักลงทุนจะให้ความสนใจกับดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน มี.ค.ของสหรัฐ โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะยังคงอยู่ในระดับที่สูงต่อไป ขณะที่ตลาดจะจับตายอดค้าปลีกเช่นกัน โดยหากนักลงทุนกังวลเรื่องความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐรุนแรงอย่างมีนัยสำคัญ จะฉุดรั้งการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ซึ่งในกรณีดังกล่าวอาจจำกัดแรงขายเงินดอลลาร์ได้

Advertisment

นอกจากนี้ คาดว่าการซื้อขายจะเป็นไปอย่างระมัดระวังหลังความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มขึ้น อนึ่ง ปริมาณธุรกรรมก่อนวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ของตลาดการเงินในประเทศจะเบาบางลง และอาจเพิ่มความผันผวนหากมีกระแสข่าวใหม่

สำหรับปัจจัยในประเทศ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือน มี.ค. ของไทยเพิ่มขึ้น 2.83% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 15 เดือน ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารสดและพลังงานเพิ่มขึ้น 1.75% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 14 เดือน โดยกระทรวงพาณิชย์คาดว่าเงินเฟ้อในเดือน เม.ย.อาจสูงกว่าเดือน มี.ค.เล็กน้อย จากผลของการหาเสียงเลือกตั้ง แต่จะไม่เกิน 3% และคาดว่าเงินเฟ้อในไตรมาส 2 จะเฉลี่ยไม่ถึง 2.5%

ทั้งนี้ เรามองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจคงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.75% ในการประชุมวันที่ 31 พ.ค. แต่เรายอมรับว่ามีความเสี่ยงด้านขาขึ้นอีกเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้า รวมถึงการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่