รวมความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยหรือไม่ เมื่อจีดีพีโตแค่ 1.1%

นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐ
AFP/ Ed JONES

รวมความคิดเห็นและคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยหรือไม่ เมื่อประมาณการจีดีพีไตรมาสแรกโตได้แค่ 1.1%  

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาแข็งแกร่งเกินคาดมาหลายไตรมาสติดต่อกัน รอดพ้นภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่มีการคาดการณ์กันมาได้อย่างน่าทึ่งในหลายไตรมาสที่ผ่านมา แต่ในปีนี้อาจเลี่ยงไม่พ้น เมื่อเศรษฐกิจเริ่มแผ่วลงแล้ว 

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเผยประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไตรมาส 1 ปี 2566 ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2566 ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศตามราคาคงที่ (real GDP) ในสามเดือนแรกของปีนี้โตเพียง 1.1% ส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศตามราคาปัจจุบัน (nominal GDP) โต 5.1% 

อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐชะลอลงต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ที่ real GDP เติบโต 2.6% ส่วนทั้งปี 2565 เป็นผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งแม้ว่าจะชะลอลงมาแล้วแต่ยังส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคอยู่

อัตราเงินเฟ้อที่ยังไม่ลดลงใกล้ระดับเป้าหมาย กับอัตราการเติบโตของจีดีพีที่ต่ำ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve System : Fed) ต้องคิดหนักว่าจะเลือกทางไหนระหว่างการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ กับการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งทั้งสองทางต้องการนโยบายการเงินที่ต่างกัน 

แนวโน้มที่เป็นไปได้มากกว่าคือ เฟดจะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยอีกอย่างน้อยหนึ่งครั้งในการประชุมวันที่ 2-3 พฤษภาคมนี้ ข้อมูลจาก CME FedWatch Tool ตลาดคาดการณ์ว่ามีโอกาส 90% ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจะเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 10 นับตั้งแต่ที่ปรับขึ้นครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2565 และจะทำให้อัตราดอกเบี้ยขึ้นไปอยู่ที่ 5-5.25% 

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมความคิดเห็นและคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ ว่าสหรัฐจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ในปีนี้ 

นูรีล รูบินี (Nouriel Roubini) หรือ “ดร.ดูม” ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และธุรกิจระหว่างประเทศ  New York University Stern School of Business และผู้ก่อตั้ง-ซีอีโอของ Roubini Macro Associates ให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg Television เมื่อวันศุกร์ที่ 28 เมษายนว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กำลังเผชิญกับ “ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก” ขั้นสุดในการพยายามรักษาเสถียรภาพด้านราคา รักษาเสถียรภาพการเติบโตของเศรษฐกิจ และรักษาเสถียรภาพทางการเงิน โดยใช้เครื่องมือนโยบายเพียงเครื่องมือเดียว นั่นคือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 

ดร.ดูมมองว่า ภารกิจที่เฟดพยายามทำในตอนนี้เป็น mission impossible กล่าวคือไม่มีทางเลยที่สหรัฐจะแก้ปัญหาเงินเฟ้อ รักษาเสถียรภาพการเติบโตของเศรษฐกิจ และรักษาเสถียรภาพทางการเงินได้พร้อม ๆ กัน เขามองว่ามีผลลัพธ์สองทางเท่านั้นที่เป็นไปได้คือ เศรษฐกิจไม่ถึงกับถดถอยแต่เงินเฟ้อจะยังยืดเยื้อต่อไป หรือจบแบบ hard landing กดเงินเฟ้อลงได้แต่เศรษฐกิจถดถอย 

รูบินีกล่าวอีกว่า โดยหลักการแล้วเฟดต้องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมที่กำลังจะมาถึงในต้นเดือนพฤษภาคม แล้วก็หยุด แต่หากเงินเฟ้อยืดเยื้อกว่าที่คาด ทางเลือกที่จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยก็จะไม่สามารถใช้ได้   

นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐ
AFP/ ANGELA WEISS

เจฟฟรีย์ โรช (Jeffrey Roach) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ LPL Financial กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มที่จะถึงจุดเปลี่ยน เนื่องจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคอ่อนตัวลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แม้ว่าผู้บริโภคยังคงใช้จ่ายอย่างปกติในเดือนมกราคม แต่นับตั้งเดือนมีนาคมการใช้จ่ายลดน้อยลง เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มมองโลกในแง่ร้ายมากขึ้นเกี่ยวกับอนาคต  

ทีมนักเศรษฐศาสตร์ของ Morgan Stanley นำโดย เอลเลน เซนต์เนอร์ (Ellen Zentner) คาดว่า การเติบโตของเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 เนื่องจากผลสะสมของการเข้มงวดนโยบายการเงิน บวกกับแรงกดดันของภาคธนาคารที่ผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจไปสู่แดนลบ 

ลินด์เซย์ เพกซา (Lindsey Piegza) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Stifel Financial กล่าวว่า การใช้จ่ายสินค้าและบริการในไตรมาสแรกของปีนี้แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 แต่คาดว่าการใช้จ่ายจะจางหายไปในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เนื่องจากความแข็งแกร่งของการใช้จ่ายในช่วงต้นปีเป็นผลมาจากการใช้บัตรเครดิตมากขึ้น การเบิกเงินออมออกมาใช้ สภาพอากาศที่อุ่นขึ้น (ทำให้คนออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน) และโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐและท้องถิ่นที่พยุงการใช้จ่าย (ซึ่งสิ้นสุดไปแล้วเมื่อวันที่ 1 มีนาคม) 

“การสนับสนุนเหล่านั้นส่วนใหญ่จะไม่ยั่งยืน ดังนั้น จึงมีแนวโน้มว่าการเติบโตจะยังคงชะลอตัวต่อไป ภายใต้แรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป”

เพรสตัน คาลด์เวลล์ (Preston Caldwell) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Morningstar แสดงความเห็นว่า แง่มุมหนึ่งที่ยุ่งยากสำหรับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันคือ ธนาคารกลางสหรัฐจงใจพยายามชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยหวังว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ 

คาลด์เวลล์คาดว่าเฟดจะควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ภายในสิ้นปีนี้ และจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ในปี 2567 ซึ่งตอนนั้นจะเป็นจุดที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว

จากข้อมูลทั้งหมดที่ “ประชาชาติธุรกิจ” ค้นหาและรวบรวมมา มีนักเศรษฐศาสตร์สองคนที่มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย หรืออย่างน้อยก็ไม่ถดถอยในเร็ว ๆ นี้

เอลลิซา วิงเกอร์ (Eliza Winger) นักเศรษฐศาสตร์ของ Bloomberg Economics กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่งกว่าที่มองเห็นด้วยตาเปล่า ผู้บริโภคยังคงใช้จ่ายทั้งสินค้าและบริการ ในขณะที่จีดีพีโดยภาพรวมในไตรมาสแรกเติบโตเพียง 1.1% แต่ยอดขายขั้นสุดท้ายภายในประเทศเพิ่มขึ้นแข็งแกร่งมาก 3.2% ซึ่งช่วยขจัดความกลัวว่าเศรษฐกิจจะถดถอยได้ในตอนนี้  

เวโรนิกา คลาร์ก (Veronica Clark) นักเศรษฐศาสตร์ของ Citigroup มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้คนยังคงจับจ่ายใช้สอย แม้ว่าสินค้าจะมีราคาสูงขึ้น ตัวเลขเงินเฟ้อโดยรวมยังแข็งแกร่ง แม้ว่าตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเบาลงเล็กน้อยแล้ว แต่สัญญาณทั้งหมดบ่งชี้ว่าอุปสงค์ยังคงแข็งแกร่ง และราคาสินค้ายังคงเพิ่มขึ้นอย่างมาก 

“ดังนั้น จึงไม่ดูเหมือนว่าเราจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในทันที และฉันคิดว่าข้อมูลในไตรมาสที่ 1 นี้ช่วยยืนยันได้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคยังคงแข็งแกร่งมาก”

 

อ้างอิง : 

อ่านเนื้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง