ตลาดจับตาผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ตลาดจับตาผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ นักลงทุนให้น้ำหนัก 79.4% ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมประจำเดือนพฤษภาคมนี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 24-28 เมษายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (24/4) ที่ระดับ 34.44/45 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/4) ที่ระดับ 34.37/38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นภายหลังจาก เอสแอนด์พี โกลบอล เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมขั้นต้นของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 53.5 ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 11 เดือน จากระดับ 52.3 ในเดือนก่อนหน้า โดยได้ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3

ทั้งนี้ ดัชนี PMI ได้รับแรงหนุนจากการดีดตัวของการจ้างงานและคำสั่งซื้อใหม่ ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจปรับตัวขึ้นเช่นกัน ส่วนดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นปรับตัวอยู่ที่ 50.4 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน จากระดับ 49.2 ในเดือน และดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น ปรับตัวขึ้นที่ 53.7 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 12 เดือน จากระดับ 52.6 ในเดือน หนุนการคาดการณ์ว่า เฟดจะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

หนุนเฟดขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ

สอดคล้องกับที่เจ้าหน้าที่เฟดหลายราย ที่ได้ออกมาให้ความเห็นสนับสนุนให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยเพื่อทำให้เงินเฟ้อปรับตัวลงอย่างยั่งยืนสู่ระดับ 2% ในช่วงท้ายสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง หลังจากธนาคารเฟิร์ส รีพับลิก แบงก์ หรือ FRB (First Republic Bank) ซึ่งเป็นธนาคารในระดับภูมิภาคของสหรัฐ รายงานว่า ยอดเงินฝากในไตรมาส 1/2566 ลดลงถึงร้อยละ 40.8 โดยปรับลงสู่ระดับ 1.045 แสนล้านดอลลาร์ จากการที่ลูกค้ามาถอนเงินเป็นจำนวนาก

โดยยอดเงินฝากต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 1.450 แสนล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ตลาดเกิดความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตในภาคธนาคารของสหรัฐ

อย่างไรก็ดี หลังกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ปรับตัว 3.2% ในเดือนมีนาคม หลังจากลดลง 1.2% ในเดือนกุมภาพันธ์

โดยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนได้รับแรงหนุนจากคำสั่งซื้อเครื่องบิน ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน และอาวุธ โดยเป็นสิ่งบ่งชี้แผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ ปรับตัวลดลง 0.4% ในเดือนมีนาคม ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลงเพียง 0.1% หลังจากปรับตัวลง 0.7% ในเดือนกุมภาพันธ์

อีกทั้งธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผย แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวเพียง 1.1% ในไตรมาส 1/2566 ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 2.5% นักลงทุนยังคงจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่จะมีการเปิดเผยในวันที่ 28 เมษายนนี้ โดยดัชนีดังกล่าวเป็นข้อมูลเงินเฟ้อสำคัญตัวสุดท้ายก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 2-3 พฤษภาคม

คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% เดือนพ.ค.นี้

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 79.4% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมประจำเดือนพฤษภาคมนี้ และให้น้ำหนักเพียง 20.6% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.75-5.00%

สำหรับปัจจัยในประเทศ ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นหลังสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์เผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมีนาคม 2566 ว่าการส่งออกมีมูลค่า 27,654 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 4.2% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 24,935 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 7.1% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 2,718 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการกลับมาเกินดุลการค้าเป็นครั้งแรกในรอบ 12 เดือน

ขณะที่ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 การส่งออกมีมูลค่า 70,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ระดับ 4.5% ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 73,324 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 0.5% ขาดดุลการค้า 3,044 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้รัฐมนตรีการคลังปรับคาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้เป็นต้นไป แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในช่วงชะลอตัว เนื่องจากเชื่อว่าประชาชนจะเริ่มปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายให้เหมาะสมกับกำลังซื้อ ซึ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มกำลังซื้อในตลาดโลก ให้เพิ่มขึ้น

พร้อมเชื่อว่า ภาคการท่องเที่ยวยังมีส่วนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ได้เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวโดยรวมในทิศทางที่แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์อยู่ในกรอบระหว่าง 34.02-34.51 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (28/4) ที่ระดับ 34.10/11 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในเช้าวันจันทร์ (28/4) ที่ระดับ 1.0988/92 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/4) ที่ระดับ 1.0961/95 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจที่ประกาศได้หนุนค่าเงินยูโร ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการขั้นต้นของสหภาพยุโรป (อียู) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 54.4 ในเดือนเมษายน ทำสถติสูงสุดในรอบ 11 เดือน เพิ่มขึ้นจากระดับ 53.7 ในเดือนมีนาคม ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาด

นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของเยอรมนีปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -25.7 ในช่วงเช้าสู่เดือนพฤษภาคม จากระดับ -29.3 ในเดือนเมษายน ซึ่งเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 เนื่องจากราคาพลังงานที่ลดน้อยลง และการปรับขึ้นค่าจ้าง ช่วยบรรเทาความกังวลเบื้องต้นเกี่ยวกับการสูญเสียกำลังซื้อของภาคครัวเรือน

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0962-1.1095 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (28/4) ที่ระดับ 1.1012/14 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

คาด BOJ คงนโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในเช้าวันจันทร์ (28/4) ที่ระดับ 134.00/01 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/4) ที่ระดับ 133.76/79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินเยนทรงตัวในกรอบ เนื่องจากตลาดรอการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันศุกร์นี้ (28/4) ซึ่งจะเป็นการประชุมในฐานะผู้ว่าการ BOJ ครั้งแรกของนายคาซูโอะ อุเอดะ

ทั้งนี้ตลาดคาดว่าทาง BOJ จะยังคงนโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไป รวมทั้งจะไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี ในวันศุกร์ค่าเงินเยนได้ปรับตัวอ่อนค่าลงมากกว่า 1 เยน สู่ระดับ 135.85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังตลาดรู้ผลการประชุม BOJ คณะกรรมการ BOJ คณะกรรมการ BOJ มีมติคงนโยบายการเงินในการประชุมวันศุกร์ (28/4) โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield curve control program) รวมทั้งคงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นประเภทอายุ 10 ปีไว้ที่ราวระดับ 0%

อย่างไรก็ดี BOJ คาดการณ์ว่าดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมราคาในหมวดอาหาร จะเพิ่มขึ้น 1.6% ในปีงบประมาณ 2568 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าเป้าหมายของ BOJ ที่ระดับ 2% และสะท้อนให้เห็นว่า BOJ อาจจะต้องใช้เวลาอีกนานในการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้ออย่างยั่งยืน ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 133.00-135.85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (28/4) ที่ระดับ 135.68/70 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ