จับตาธนาคาร First Republic ล้มอีกราย ? FDIC เร่ง JPMorgan-PNC เข้าซื้อกิจการ

จับตา First Republic Bank ล้ม
REUTERS/ Loren Elliott

จับตาธนาคาร First Republic ส่อล้ม บรรษัทรับประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) เร่ง JPMorgan และ PNC Bank ยื่นข้อเสนอสุดท้ายในการซื้อกิจการภายใน 30 เมษายนนี้

จากกรณีราคาธนาคาร First Republic ในสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาสภาพคล่องตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา แม้ว่าได้รับการช่วยเหลือไปแล้วส่วนหนึ่ง โดยธนาคารขนาดใหญ่ 11 แห่ง นำเงินไปฝากใน First Republic เพื่อเสริมสภาพคล่อง แต่สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น 

ราคาหุ้นของ First Republic ร่วงอย่างรุนแรงถึง 75.39% ใน 5 วันทำการซื้อขายล่าสุด (ณ 28 เมษายน 2566) และร่วงลงแล้ว 97.11% จากต้นปี (YTD) ถูกจับตาว่าจะเป็นธนาคารที่ล้มเป็นรายต่อไป 

หน่วยงานกำกับดูแลภาคธนาคารของสหรัฐ ทั้งบรรษัทรับประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (Federal Deposit Insurance Corporation : FDIC) กระทรวงการคลัง และธนาคารกลาง (Federal Reserve System) กำลังพยายามกอบกู้สถานการณ์ โดยเจรจาหาผู้เข้าซื้อกิจการให้ได้เร็วที่สุด 

วันที่ 28 เมษายน 2566 ตามเวลาสหรัฐอเมริกา ซึ่งตรงกับวันที่ 29 เมษายนตามเวลาประเทศไทย สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า บรรษัทรับประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) ได้เรียกร้องให้ธนาคารต่าง ๆ รวมถัง เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค (JPMorgan Chase & Co.) และพีเอ็นซี ไฟแนนเชียล เซอร์วิส กรุ๊ป (PNC Financial Services Group Inc.) ยื่นข้อเสนอสุดท้ายในการซื้อกิจการธนาคาร First Republic ภายในวันอาทิตย์ที่ 30 เมษายนนี้ หลังจากที่มีการประเมินระดับความสนใจขั้นต้นไปแล้ว 

Bloomberg อ้างอิงการให้ข้อมูลของแหล่งข่าวว่า FDIC ได้ติดต่อกับธนาคารต่าง ๆ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อขอให้พิจารณาระดับความสนใจและเสนอราคาซื้อและค่าใช้จ่ายโดยประมาณสำหรับกองทุนประกันเงินฝากของ FDIC และจากที่มีการยื่นข้อเสนอซื้อเมื่อวันศุกร์ที่ 28 เมษายน FDIC ได้เชิญบริษัทอย่างน้อย 2 บริษัทเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปในกระบวนการประมูล 

กระบวนการประมูลเริ่มต้นโดยหน่วยงานกำกับดูแล อาจปูทางการขายกิจการ First Republic ที่เป็นระเบียบเรียบร้อยกว่าการประมูลที่เกิดขึ้นหลังการล้มของ Silicon Valley Bank และ Signature Bank ในเดือนมีนาคม 

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์เฟซบุ๊กวิเคราะห์เรื่องนี้ในเวลาเช้าวันที่ 29 เมษายน 2566 ว่า First  Republic ยากที่จะรอด และภายในเร็ว ๆ นี้คงมีคำตอบว่าธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 14 ของสหรัฐจะจบลงอย่างไร ระหว่างจบแบบ Silicon Valley Bank (SVB) ที่ถูกทางการเข้าไปยึดดูแล หรือจบแบบ Credit Suisse) ที่ถูกคลุมถุงชนควบรวมเข้ากับ UBS 

“สัญญาณต่าง ๆ ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่ายากที่จะเดินต่อ ความเชื่อมั่นในแบงก์ได้หมดลงแล้ว โดยผู้ถือหุ้นได้เห็นตัวอย่างจากกรณี SVB ที่ผู้ถือหุ้นถูกลงโทษ ไม่เหลืออะไรเลย ด้วยความกลัวต่างเร่งขาย เมื่อวานนี้ทำให้ราคาตกลงมากกว่า 50% ในบางช่วง เพื่อออกมาให้ได้ก่อนที่ First Republic Bank จะกลายเป็น ใหญ่อันดับสองของประวัติศาสตร์แบงค์ล้มสหรัฐ !!! รองก็เพียงแต่ Washington Mutual (สินทรัพย์ 3.07 แสนล้าน) ที่ล้มไปช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์”

ดร.กอบศักดิ์อธิบายอีกว่า ทั้งสามกรณี ได้แก่ First Republic Bank ที่ใหญ่อันดับ 14 (สินทรัพย์ 2.12 แสนล้านดอลลาร์), Silicon Valley Bank ใหญ่อันดับ 16 (สินทรัพย์ 2.09 แสนล้านดอลลาร์) และ Signature Bank ใหญ่อันดับ 29 (สินทรัพย์ 1.1 แสนล้านดอลลาร์) ล้มลงจากสาเหตุเดียวกัน คือ Easy Money หรือสภาพคล่องมากมายที่ออกมาจากเฟดช่วงโควิด-19 ทำให้ธนาคารเหล่านี้ท่วมไปด้วยสภาพคล่อง 

เงินฝากของ First Republic Bank เพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว จาก 9 หมื่นล้านดอลลาร์ เมื่อปลายปี 2019 กลายเป็น 1.76 แสนล้านดอลลาร์ ณ ปลายปี 2022 จากที่เคยเพิ่มขึ้นปีละไม่มากในช่วงก่อนหน้านั้น ซึ่งเงินที่เข้ามามากทำให้ธนาคารต้องเร่งปล่อยสินเชื่อออกไป เพิ่มขึ้นประมาณ 85% ในช่วงเวลาเพียง 3 ปี จาก 9 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็น 1.66 แสนล้านดอลลาร์

“การที่แบงก์โตอย่างก้าวกระโดด ไม่ต่างจากกับกรณีของ SVB ทำให้การดูแลควบคุมความเสี่ยงต่าง ๆ เป็นไปได้ยากขึ้น ทุกอย่างดูเหมือนจะดี แต่จริง ๆ แล้ว ซ่อนปัญหาเอาไว้ ผู้ฝากเงินที่เป็นรายใหญ่พร้อมแห่ถอน สินเชื่อที่เร่งปล่อย คุณภาพน่าจะลดลง ทำให้ภาคเอกชนที่สนใจก็คงหนักใจที่จะเข้าอุ้ม ท้ายสุด เมื่อหมดทาง ก็คงเหลือแต่ทางที่ทางการต้องเข้าไปยึด เพื่อล้างปัญหาที่สะสมไว้ กลายเป็นเหยื่ออีกรายของ Perfect Storm พร้อมทำให้ทุกคนเห็นว่า มาตรการที่เฟดออกมาเมื่อเดือนมีนาคมอ่อนไป ไม่สามารถหยุดการล้มของแบงก์ได้”

“แบงก์ที่ยังดี แต่คนขาดความเชื่อมั่น พอยังช่วยได้ แต่แบงค์ที่ซุกปัญหา ฐานะอ่อนแอ สุดท้ายก็ล้มได้ เหมือนกรณี First Republic Bank ทั้งหมดทำให้นักลงทุนถามคำถามว่า Who is next ? ใครจะเป็นรายต่อไป ใครที่เหมือน First Republic Bank โดยเฉพาะแบงก์ที่เป็น Regional Banks หรือ Community Banks”

“มาตามกันดูต่อไปครับว่า จะเกิดอะไรขึ้น และทางการสหรัฐจะแก้เกมอย่างไร ที่จะจัดการปัญหาเรื่องนี้ให้ไม่ลุกลามไปมากกว่านี้ เพราะแค่ 3 แบงก์นี้ ก็คิดเป็นสินทรัพย์ประมาณ 5.3 แสนล้านดอลลาร์ เท่า ๆ กับแบงก์อันดับ 7 ของสหรัฐในขณะนี้เรียบร้อยแล้ว และคงต้องบอกว่า หนังม้วนนี้ คงจะเป็นหนังม้วนยาวที่ยังไม่จบง่าย ต้องลุ้นกันอีกระยะครับ” ดร.กอบศักดิ์เขียนโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก