ธนาคารสหรัฐยังวุ่น คนยังแห่ถอนเงิน แบงก์ขอรัฐคุ้มครองเงินฝากทั้งหมด แต่สภาคงไม่อนุมัติ

วิกฤตธนาคารสหรัฐ
Patrick T. Fallon/ AFP

ธนาคารสหรัฐยังวุ่น รัฐพยายามสร้างความเชื่อมั่น แต่ประชาชนยังหวั่น-แห่ถอนเงิน ยอดเงินฝากในธนาคารลดฮวบ 98,400 ล้านดอลลาร์ในสัปดาห์เดียว มีการเรียกร้องรัฐคุ้มครองเงินฝากทั้งหมด แต่สภาไม่น่าจะอนุมัติ

หลังจากเกิดปัญหา bank run กับธนาคาร Silicon Valley Bank และ Signature Bank ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐได้เข้าแก้ไขสถานการณ์ โดยให้บรรษัทค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (Federal Deposit Insurance Corporation : FDIC) คุ้มครองเงินฝากทั้งหมดที่ฝากในธนาคารทั้งสองแห่ง เพื่อไม่ให้วิกฤตความเชื่อมั่นในธนาคารลุกลาม  

แต่นั่นก็ไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงินได้มากนัก ธนาคารในสหรัฐ โดยเฉพาะธนาคารขนาดเล็กต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ผู้ฝากเงินถอนเงินออกจำนวนมาก 

ขณะที่ฝั่งหน่วยงานกำกับดูแลก็ได้ออกมาเรียกร้องความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่อาจดูดซับความกังวลไปได้มากนัก เพราะยังมีหลายฝ่ายที่คิดว่าตนเองอาจจะไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ 

ในวันที่ 16 มีนาคม 2566 เจเน็ต เยลเลน (Janet Yellen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐกล่าวต่อวุฒิสภาว่า เงินฝากที่ไม่มีประกันจะได้รับการคุ้มครองจากรัฐเฉพาะเงินฝากในธนาคารที่ถือว่าเป็นภัยคุกคาม หรืออาจก่อให้เกิดการแพร่กระจายผลกระทบในระบบธนาคารเท่านั้น กล่าวคือจะพิจารณาเป็นรายกรณี ถ้าธนาคารไหนไม่ส่งผลกระทบต่อระบบเท่าไรนักก็จะไม่ได้รับความช่วยเหลือ 

คำพูดของเยลเลนสร้างความหวาดกลัวให้ธนาคารขนาดเล็กและขนาดกลางบางแห่ง ว่าเงินฝากของภาคธุรกิจที่สูงกว่าวงเงินประกัน 250,000 ดอลลาร์ อาจถูกถอนออกไปฝากที่ธนาคารใหญ่ที่น่าจะปลอดภัยกว่าแทน 

ความกังวลและปัญหาการถอนเงินที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ในวันที่ 21 มีนาคม 2566 เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐประกาศให้คำมั่นว่าจะปกป้องเงินฝากของประชาชนในธนาคาร ซึ่งคำกล่าวในวันนี้เน้นไปที่ธนาคารขนาดเล็ก หากสถาบันการเงินขนาดเล็กประสบปัญหา bank run เหมือนอย่าง SVB และ Signature Bank 

วิกฤตธนาคารสหรัฐ Silicon Valley Bank (SVB)
NOAH BERGER / AFP

การคุ้มครองเงินฝากของ SVB และ Signature Bank ก่อให้เกิดคำถามและข้อถกเถียงว่า แล้วธนาคารขนาดใหญ่ที่รับความเสี่ยงมากกว่าจะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐหรือไม่ ในขณะที่สถาบันขนาดเล็กอื่น ๆ ก็กำลังเผชิญกับการถอนเงินอย่างรวดเร็ว โดยที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือใด ๆ จึงเกิดการเรียกร้องจากธนาคารหลายแห่งและผู้ฝากเงินว่า รัฐควรคุ้มครองเงินฝากให้ครอบคลุมทั้งหมด ไม่ว่าจะในธนาคารเล็กหรือธนาคารใหญ่ 

แต่เรื่องนี้ไม่ง่าย เพราะต้องแก้กฎหมายผ่านกระบวนการในรัฐสภา ซึ่งผู้แทนฯและวุฒิสมาชิกจากพรรครีพับลิกันคัดค้าน

ในการประชุมพิจารณางบประมาณปี 2567 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม แพทริก แม็กเฮนรี (Patrick McHenry) ประธานคณะกรรมการสภาบริการทางการเงินของสหรัฐอเมริกา (House Financial Services Committee) จากพรรครีพับลิกันกล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าจำเป็นต้องมีกฎหมายใหม่หรือไม่ 

ในการประชุมวันเดียวกัน มีวุฒิสมาชิกจากพรรครีพับลิกันตั้งคำถามว่า กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาหาแนวทางที่จะคุ้มครองเงินฝากโดยไม่ผ่านการอนุมัติจากรัฐสภาอยู่หรือเปล่า

ซึ่งเยลเลน รัฐมนตรีคลังตอบว่า ยังไม่ได้พิจารณาหรือหารืออะไรที่เกี่ยวข้องกับการรับประกันเงินฝากแบบครอบคลุมทั้งหมด 

และวุฒิสมาชิกจากพรรครีพับลิกันอีกคนตั้งคำถามต่อการตัดสินใจของกระทรวงการคลังและเฟดในการช่วยเหลือ SVB กับ Signature Bank ว่า ดูเหมือนว่าการช่วยธนาคารที่มีปัญหาจะเป็นการช่วยให้ธนาคารเหล่านั้นรอดจากความเสียหาย และทำให้ธนาคารที่มีการบริหารจัดการดีเสียเปรียบในการแข่งขัน     

ฝั่งเยลเลนยืนยันว่า ณ เวลาที่ตัดสินใจรับประกันเงินฝากของ SVB นั้น ไม่ได้ตั้งใจที่จะให้ธนาคารใดธนาคารหนึ่งได้เปรียบธนาคารอื่น แต่คำนึงการป้องกันไม่ให้ผลกระทบลุกลามระบบธนาคารเป็นวงกว้างเท่านั้น 

วิกฤตธนาคารสหรัฐ
Evelyn Hockstein / REUTERS

อีกหนึ่งวันต่อมา ในวันที่ 23 มีนาคม 2566 เยลเลนกล่าวถึงเรื่องนี้ในการปราศรัยต่อคณะอนุกรรมการพิจารณางบประมาณของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่า พร้อมที่จะดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อให้มั่นใจว่าเงินฝากของประชาชนยังคงปลอดภัย และสามารถนำเครื่องมือที่ใช้กับ SVB และ Signature Bank มาใช้อีกได้กับธนาคารทุกขนาด ถ้อยคำของเธอเปลี่ยนไปเล็กน้อยจากไม่กี่วันก่อนหน้านั้น ที่เน้นว่าจะให้ความช่วยเหลือธนาคารขนาดเล็ก แต่กลับไปเป็นใจความเหมือนกับที่พูดในวันที่ 16 มีนาคม 

“อย่างที่ฉันได้กล่าวไปแล้ว เราได้ใช้เครื่องมือสำคัญดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของปัญหา เครื่องมือเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่เราสามารถนำมาใช้ได้อีกครั้งสำหรับสถาบันทุกขนาด หากเราพิจารณาว่าความล้มเหลวนั้นอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบ” 

ทั้งนี้ มีข้อมูลจากธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve System) ที่เพิ่งเปิดเผยเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมาว่า ในช่วง 1 สัปดาห์ (9-15 มีนาคม 2566) เงินฝากในระบบธนาคารสหรัฐลดลงมากที่สุดในรอบเกือบ 1 ปีเมื่อเทียบเป็นรายสัปดาห์ โดยจำนวนเงินฝากที่ลดลงเป็นผลมาจากการลดลงของเงินฝากในธนาคารขนาดเล็ก 

เงินฝากในธนาคารช่วงสัปดาห์ดังกล่าวลดลง 98,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สู่ 17.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินฝากในธนาคารขนาดเล็กลดลงมากถึง 120,000 ล้านดอลลาร์ แต่เงินที่ถอนออกมาจากธนาคารขนาดเล็กส่วนหนึ่งไหลไปที่ธนาคารใหญ่ โดยในช่วงเวลาเดียวกัน เงินฝากในธนาคารขนาดใหญ่ 25 แห่งเพิ่มขึ้นเกือบ 67,000 ล้านดอลลาร์  

นอกจากเงินนั้น เงินส่วนหนึ่งที่ถูกถอนออกมาจากธนาคารขนาดเล็กยังถูกเคลื่อนย้ายไปลงทุนในกองทุนรวมตลาดด้วย มีข้อมูลจาก Investment Company Institute ระบุว่า ใน 1 สัปดาห์ ระหว่างวันที่ 16-22 มีนาคม 2566 มีเงินไหลเข้าสู่กองทุนรวมตลาดเงินมากกว่า 117,000 ล้านดอลลาร์

ความคืบหน้าล่าสุดของเรื่องนี้ ณ วันที่ 26 มีนาคม 2566 คือ การนัดประชุมพิเศษระหว่างเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลัง เจอโรม พาวเวลล์ (Jerome Powell) ประธานธนาคารกลางสหรัฐ และเจ้าหน้าที่อีกหลายสิบคนในวันที่ 24 มีนาคม 

หลังการประชุมมีการแถลงออกมาว่า ที่ประชุมได้หารือกันเกี่ยวกับภาวะปัจจุบันในภาคการธนาคาร และตั้งข้อสังเกตว่าในขณะที่สถาบันการเงินหลายแห่งได้รับแรงกดดัน แต่ระบบธนาคารสหรัฐยังแข็งแกร่งและมีความทานทนต่อสถานการณ์ และบอกว่าหน่วยงานกำกับดูแลยังพยายามตรวจสอบสถานการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้ให้รายละเอียดอื่นใด

อ้างอิง : 

Reuters [1]

Reuters [2]

CNBC [1]

Reuters [3]

Reuters [4]

Bloomberg

CNBC [2]

……………….

อ่านเนื้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง