K-pop ดันคนยุโรปแห่เรียนภาษาเกาหลี มหา’ลัยรับได้น้อย ไม่พอต่อความต้องการ

คนยุโรปนิยมเรียนภาษาเกาหลี
แฟนคลับ BTS ในปารีส ฝรั่งเศส ต่อคิวซื้อสินค้าใน pop-up store เมื่อปี 2562 / AFP / Aurore MESENGE

ความนิยมใน K-pop และวัฒนธรรมเกาหลีหลายรูปแบบผลักดันคนยุโรปแห่เรียนภาษาเกาหลี ด้านมหาวิทยาลัย-สถาบันการศึกษารองรับคนเข้าเรียนได้น้อย ไม่พอต่อความต้องการของตลาด มีความพยายามจะเปิดหลักสูตร เปิดวิชาเรียนใหม่ ๆ เพื่อรับดีมานด์ แต่อุปสรรคหลายอย่างทำให้เปิดได้ไม่ง่ายนัก 

สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ว่า สถาบันการศึกษาทั่วยุโรปกำลังดิ้นรนที่จะตอบสนองความต้องการเรียนหลักสูตรเกาหลีศึกษา (Korean studies) ที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากความสำเร็จของบอยแบนด์ BTS, ซีรีส์ “Squid Game” และปรากฏการณ์ K-pop อื่น ๆ ที่ดึงดูดให้คนสนใจเข้าเรียนภาษาเกาหลีมากขึ้น   

ศาสตราจารย์สเตฟาน คูราเลต์ (Stephane Couralet) ผู้อำนวยการภาควิชาภาษาเกาหลีศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยบอร์กโดซ์มงแต็ง (Bordeaux Montaigne University) ในฝรั่งเศส บอกว่า ภาษาเกาหลีได้รับความนิยมมากจนภาควิชาของเขาไม่สามารถรองรับทุกคนที่อยากเรียนได้ ซึ่งสร้างความไม่พอใจอย่างมากสำหรับนักเรียนที่ไม่สามารถเข้าเรียนได้ 

ศาสตราจารย์คูราเลต์ ให้ข้อมูลอีกว่า มีนักเรียน-นักศึกษาประมาณ 600 คนที่เรียนภาษาเกาหลีในหลักสูตรปริญญาโท หลักสูตรอนุปริญญา และชั้นเรียนภาคค่ำ ของมหาวิทยาลัยบอร์กโดซ์มงแต็ง

หนึ่งในหลักสูตรที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของมหาวิทยาลัยบอร์กโดซ์มงแต็ง คือ หลักสูตรร่วมภาษาเกาหลีและอังกฤษ “Korean and English Applied Foreign Languages” ระดับปริญญาตรี ซึ่งในปี 2565 มีผู้สมัครเรียนหลักสูตรนี้ 1,420 คน แต่เนื่องจากอาจารย์ประจำผู้สอนภาษาเกาหลีมีเพียง 3 คน จึงรับนักศึกษาได้เพียง 40 คนเท่านั้น 

คนยุโรปนิยมเรียนภาษาเกาหลี
บง จุนโฮ และทีมงานรับรางวัลออสการ์จากเรื่อง Parasite เมื่อปี 2563 / AFP AMPAS / Matt Petit


ในสหราชอาณาจักร จำนวนผู้สมัครหลักสูตรภาษาเกาหลีระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ (University of Sheffield) เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ในระหว่างปี 2558-2564 ก่อนจะลดลงเล็กน้อยในปี 2565 ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 

โอเวน มิลเลอร์ (Owen Miller) อาจารย์หลักสูตรเกาหลีศึกษา ที่วิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา มหาวิทยาลัยลอนดอน (SOAS University of London) กล่าวว่า ความสนใจในภาษาเกาหลีที่พุ่งขึ้น ทำให้สาขาวิชาภาษาเกาหลีเปลี่ยนไปมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จากที่มีคนสนใจเรียนไม่มากได้กลายเป็น 1 ใน 3 ภาษาที่มีคนเรียนมากที่สุดที่ SOAS เปิดสอน 

ตามรายงานของ Korea Foundation ซึ่งเป็นองค์กรเผยแพร่วัฒนธรรมเกาหลีที่มอบทุนเรียนภาษาเกาหลีให้ชาวต่างชาติ ระบุว่า ในปี 2565 มีชาวยุโรปกว่า 13 ล้านคนที่เข้าไปมีส่วนร่วมในชุมชน Korean wave หรือคลื่นกระแสความนิยมในเกาหลี ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงกว่าในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก ตัวเลขเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในเวลา 1 ปี จาก 6.8 ล้านคน ในปี 2561 เป็น 14.9 ล้านคน ในปี 2562   

สามารถระบุได้ชัดอย่างไม่มีข้อกังขาเลย ว่าความนิยมเหล่านี้เป็นผลมาจาก “Love Yourself World Tour” ทัวร์คอนเสิร์ตเต็มรูปแบบครั้งแรกของ BTS ในยุโรป และการที่ผู้กำกับฯ บง จุนโฮ (Bong Joon-ho) ได้รางวัลออสการ์จากภาพยนตร์เรื่อง Parasite และหลังจากนั้นมา จำนวนคนที่ชื่นชอบและมีส่วนร่วมชุมชนเกาหลีในยุโรปไม่ได้ลดน้อยถอยลงไป ยังคงอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านคน หรือมากกว่านั้น     

“เป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้เห็นความสนใจในภาษาและวัฒนธรรมเกาหลีเติบโตขึ้นในสหราชอาณาจักร” ยุน ยอชอล (Yoon Yeocheol) เอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ประจำสหราชอาณาจักรกล่าวกับสำนักข่าว Nikkei Asia “ต้องขอบคุณอินเทอร์เน็ตที่ทำให้โลกเข้าใกล้กันมากขึ้น แล้ววัฒนธรรมเกาหลีก็ทำเงินได้ในทั่วโลก” 

นักวิชาการกล่าวว่า มีความสัมพันธ์ทางสถิติ (correlation) ระหว่างความนิยมในเนื้อหา-วัฒนธรรมเกาหลีกับความสนใจการเรียนภาษาเกาหลีที่เพิ่มขึ้นในหลากหลายกลุ่มอายุ 

เมีย คิม (Mia Kim) อาจารย์สาขาวิชาภาษาเกาหลีและการแปลที่มหาวิทยาลัยเซ็นทรัลแลงคาเชียร์ (University of Central Lancashire : UCLan) กล่าวว่า ศิลปิน K-pop และโอกาสในการได้รับทุนเข้าศึกษาในเกาหลีใต้เป็นเวลาหนึ่งปี ทำให้ผู้เรียนรุ่นใหม่มี “แรงจูงใจภายใน” (intrinsic motivation) ในการสมัครเรียนหลักสูตรปริญญาตรีของมหาวิทยาลัย ในขณะที่คนวัยผู้ใหญ่ที่กลับไปศึกษา (ภาษาเกาหลี) ก็มีแรงดึงดูดใจจากคอนเทนต์เกาหลีรูปแบบต่าง ๆ เช่นกัน 

คนยุโรปนิยมเรียนภาษาเกาหลี
คอนเสิร์ต BTS ในปารีส ฝรั่งเศส เมื่อปี 2562 / AFP / GEOFFROY VAN DER HASSELT


งานของมหาวิทยาลัยคือการทำให้แน่ใจว่าหลักสูตรไม่ได้ปรับให้เหมาะกับความสนใจของนักศึกษาเท่านั้น แต่ยังต้องปรับให้เหมาะสมกับตลาดงานที่ผู้เรียนจะต้องออกไปเจอด้วย ในปี 2563 มหาวิทยาลัยเซ็นทรัลแลงคาเชียร์ (UCLan) จึงได้เปิดหลักสูตรปริญญาโทด้านการแปล ที่มีวิชาเกี่ยวกับการสร้างทักษะสำหรับอาชีพในสื่อใหม่ เช่น การแปลคำบรรยาย YouTube และการแปลการ์ตูน ควบคู่ไปกับการเรียนการสอนวิชาแปลแบบดั้งเดิม  

ในขณะที่บรรดาอาจารย์และศาสตราจารย์รู้สึกตื่นเต้นกับความสนใจที่หลั่งไหลเข้าสู่การการศึกษาเกี่ยวกับเกาหลี แต่การที่สถาบันการศึกษาจะเพิ่มการรองรับผู้เรียนให้ทันดีมานด์ใหม่ ๆ นั้นอาจเป็นเรื่องยาก  

“จากมุมมองของมหาวิทยาลัย การเปิดสอนปริญญาเป็นความเสี่ยงอย่างมาก เพราะไม่รู้ว่าความสนใจจะยังคงอยู่นานแค่ไหน” อาจารย์คิมกล่าว 

นอกจากนั้น มีอาจารย์คนอื่น ๆ จากหลายประเทศในยุโรปบอกถึงอุปสรรคในการเปิดโปรแกรมการเรียนการสอนภาษาเกาหลีว่า มีทั้งอุปสรรคเรื่องการขาดแคลนบุคลากร และสำหรับบางมหาวิทยาลัย อุปสรรคอยู่ที่การมุ่งเน้นสอนภาษายุโรป 

อย่างไรก็ตาม หลักสูตรใหม่ ๆ กำลังผุดขึ้นทั่วยุโรป ช่วงฤดูร้อนปีนี้ (ช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม) มหาวิทยาลัยวิลนิอุส (Vilnius University) ในประเทศลิทัวเนีย จะเปิดรับสมัครนักศึกษาหลักสูตรปริญญาตรีหลักสูตรใหม่ ที่เน้นเฉพาะทางด้านเกาหลีศึกษา 

ขณะที่มหาวิทยาลัยบอร์กโดซ์มงแต็งที่มีอาจารย์เพียงไม่กี่คน ทำให้ต้องจำกัดจำนวนการรับนักศึกษาเข้าเรียน อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์คูราเลต์พยายามอีกครั้งที่จะนำเสนอหลักสูตรปริญญาตรีเพิ่มเติมด้านภาษา วรรณคดี และวัฒนธรรมเกาหลี ในเดือนกันยายน 2567   

ถ้าถามว่าความสนใจในการเรียนภาษาเกาหลีขึ้นถึงจุดสูงสุดแล้วหรือยัง ?

อาจารย์คิมตอบว่า “ยัง” เธอบอกว่าความนิยมยังขึ้นสูงได้มากกว่านี้ แม้ว่ามีอุปสรรคสำหรับสถาบันการศึกษาที่จะคว้าโอกาสจากความนิยมเหล่านั้น