ชาวเกาหลีใต้อายุน้อยลง 1-2 ปี กฎหมายเลิกนับอายุแบบดั้งเดิม มีผลบังคับใช้วันนี้  

กฎหมายนับอายุเกาหลี
Photo by Anthony Wallace / AFP

ชาวเกาหลีใต้อายุน้อยลงแล้ว 1-2 ปี เนื่องจากกฎหมายที่กำหนดให้เลิกนับอายุแบบดั้งเดิมของเกาหลีแล้วเปลี่ยนเป็นนับตามระบบสากลเท่านั้น เริ่มมีผลบังคับใช้ในวันนี้ (28 มิถุนายน 2023) 

อย่างที่หลายคนที่ติดตามสื่อบันเทิงเกาหลีคงทราบกันว่า เกาหลีใต้นั้นมีวิธีการนับอายุไม่เหมือนสากล ส่งผลให้คนเกาหลีมีอายุมากกว่าคนต่างชาติที่เกิดในปีเดียวกัน 1-2 ปี 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเกาหลีใต้ก็พยายามผลักดันกฎหมายให้นับอายุแบบสากลแทนการนับอายุแบบเดิมแล้ว ซึ่งสภาได้ผ่านร่างกฎหมายนี้เมื่อเดือนธันวาคม 2022 

และในที่สุด กฎหมายดังกล่าวนี้ที่ กำหนดให้เลิกนับอายุแบบธรรมเนียมดั้งเดิมแล้วนับอายุแบบสากลเท่านั้น ก็มีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในวันนี้ (28 มิถุนายน 2023) 

ทั้งนี้ ระบบนับอายุแบบดั้งเดิมของเกาหลีที่ใช้กันมากที่สุด คือ ชาวเกาหลีจะนับอายุ 1 ปีเมื่อแรกเกิด จากนั้นนับอายุเพิ่มอีก 1 ปีในทุก ๆ วันที่ 1 มกราคมของทุกปี 

ซึ่งการนับแบบนี้ส่งผลให้ชาวเกาหลีอาจมีอายุมากกว่าคนต่างชาติที่เกิดในปีเดียวกัน 1-2 ปี โดยเฉพาะสำหรับคนที่เกิดในช่วงปลายปี พวกเขาจะมีอายุตามระบบการนับแบบเกาหลีที่มากกว่าการนับแบบสากลไปมาก อย่างเช่น คนที่เกิดในวันที่ 31 ธันวาคม จะมีอายุ 2 ขวบ ในวันถัดไป (1 มกราคม)  

ADVERTISMENT

ระบบการนับอายุอีกแบบที่ใช้ในเกาหลีใต้ คือ นับศูนย์เมื่อแรกเกิด แล้วบวกเพิ่ม 1 ปีในทุก ๆ วันที่ 1 มกราคม ซึ่งก็ยังทำให้อายุมากกว่าการนับในระบบสากลที่นับเพิ่ม 1 ปีเมื่อครบรอบวันเกิดอยู่ดี ซึ่งปัจจุบัน (ก่อนกฎหมายใหม่บังคับใช้) มีการใช้งานการนับอายุแบบนี้ในการเกณฑ์ทหาร การเข้าโรงเรียน การอนุญาตให้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่

แม้ว่าตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา ประเทศเกาหลีใต้กำหนดให้ใช้บรรทัดฐานการนับอายุแบบสากลในเอกสารทางการแพทย์และทางกฎหมาย โดยเริ่มนับจากศูนย์เมื่อแรกเกิด และนับอายุเพิ่มขึ้นเมื่อครบรอบวันเกิดของตัวเองในแต่ละปี แต่ชาวเกาหลีใต้จำนวนมากยังคงใช้วิธีนับอายุแบบดั้งเดิมในชีวิตประจำวันและการใช้งานข้อมูลอายุสำหรับเรื่องอื่น ๆ 

ADVERTISMENT

ประธานาธิบดี ยุนซอกยอล (Yoon Suk-yeol) ของเกาหลีใต้ผลักดันการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังเมื่อเขาลงสมัครรับตำแหน่งเมื่อปีที่แล้ว เขาบอกว่าวิธีการนับอายุแบบดั้งเดิมของเกาหลีนั้นสร้าง “ต้นทุนทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างไม่จำเป็น” ตัวอย่างเช่น มีข้อพิพาทเกี่ยวกับการจ่ายเงินประกัน และการพิจารณาคุณสมบัติประชาชนสำหรับโครงการความช่วยเหลือจากรัฐบาล 

อีวานคยู (Lee Wan-kyu) รัฐมนตรีกระทรวงการร่างกฎหมายของเกาหลีใต้กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน รัฐบาลคาดว่าข้อพิพาททางกฎหมาย การร้องเรียน และความสับสนทางสังคมที่เกิดจากการคำนวณอายุจะลดลงอย่างมาก

ทั้งนี้ ปัจจุบันคนเกาหลีรุ่นใหม่ก็คุ้นชินกับการนับอายุแบบสากลกันแล้ว ซึ่งสะท้อนผ่านผลการสำรวจของรัฐบาลเกาหลีใต้ในเดือนกันยายน 2022 ที่พบว่า 86% ของชาวเกาหลีใต้ที่ตอบแบบสำรวจตอบว่าพวกเขาจะใช้อายุสากลในชีวิตประจำวันเมื่อกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้