เกาหลีใต้ คุมเข้ม Netflix กินรวบตลาดคอนเทนต์ในประเทศ

netflix เน็ตฟลิกซ์ แพ็กแกจ ดูหนัง สตรีมมิ่ง
Photo by David Balev on Pexels

“Netflix” เติบโตใน “เกาหลีใต้” อย่างต่อเนื่อง จนรัฐบาลต้องอัดฉีดงบฯ 5 แสนล้านวอน กระตุ้นการแข่งขันในประเทศ ป้องกันการกินรวบจากยักษ์สตรีมมิ่งในสหรัฐ

วันที่ 20 มิถุนายน 2566 รอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า “เท็ด แซแรนดอส” (Ted Sarandos) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมของ “เน็ตฟลิกซ์” (Netflix) เตรียมเยือนเกาหลีใต้ในสัปดาห์นี้ โดยมีแผนการเข้าพบ “ฮัน ด็อก-ซู” (Han Duck-soo) นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ ในวันที่ 22 มิ.ย. 2566 ถือเป็นการเยือนเกาหลีใต้ครั้งแรกของแซแรนดอสในฐานะซีอีโอร่วม

เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในตลาดที่ใหญ่ที่สุดของ Netflix เพราะมีคอนเทนต์ที่ประสบความสำเร็จและโด่งดังไปทั่วโลกอยู่หลายเรื่อง เช่น Squid Game และ The Glory ในมิติของการส่งออกวัฒนธรรมของประเทศ ถือว่าเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จอย่างมาก และในขณะเดียวกันก็สร้างรายได้มูลค่ามหาศาลให้กับ Netflix ด้วย จนกระตุ้นให้บริษัทอัดฉีดเงินลงทุนจำนวน 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในการสร้างคอนเทนต์ภายในประเทศ

แต่ในขณะที่คอนเทนต์จากเกาหลีใต้ได้รับความนิยมถึงขนาดที่ว่า ในปี 2565 ผู้ใช้ทั่วโลกกว่า 60% ต้องรับชมอย่างน้อยหนึ่งรายการบน Netflix ก็มีบางฝ่ายออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนผลงานที่ได้รับทุนสนับสนุนในประเทศและปกป้องสิทธิในการผลิตเนื้อหา

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ประกาศแผนการที่จะมอบเงิน 5 แสนล้านวอน เพื่อช่วยให้แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งในประเทศสามารถแข่งขันกับคู่แข่งระดับโลกอย่าง Netflix ได้ ท่ามกลางต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

“ฮอ ซึง” (Heo Seung) ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ Watcha แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งในเกาหลีใต้กล่าวกับ “รอยเตอร์” ว่า “อุตสาหกรรมสื่อและคอนเทนต์จะเติบโตได้ก็ต่อเมื่อแพลตฟอร์มต่าง ๆ แข่งขันกัน แทนที่จะถูกครอบงำจากไม่กี่แพลตฟอร์ม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สร้างและผู้ชมมากกว่า”

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ (Korea Economic Research Institute) รายงานว่า ในปี 2565 เกาหลีใต้มีการส่งออกสินค้าในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ ไม่ว่าจะวิดีโอเกม เพลง และการออกอากาศ เป็นมูลค่า 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งแซงหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ไปแล้ว

แม้ว่าหลายฝ่ายจะแสดงความกังวลเกี่ยวกับการครองตลาดของ Netflix ที่ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งในประเทศ แต่ “ยุน ซ็อก-ย็อล” ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ยินดีกับการลงทุนมูลค่า 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ของ Netflix และมองว่าเป็น “โอกาสครั้งใหญ่” สำหรับเกาหลีใต้และบริษัทสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่ในสหรัฐ

ในปี 2565 Netflix มีผลกำไรจากการดำเนินงานในเกาหลีใต้ 1.4 หมื่นล้านวอน ซึ่งตรงข้ามกับ “Tving” แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งในเกาหลีใต้ที่ขาดทุนจากการดำเนินงาน 1.2 หมื่นล้านวอน

นอกจากนี้ รอยเตอร์อ้างอิงข้อมูลจาก Mobile Index ว่า ในปี 2565 Netflix มีส่วนแบ่งการตลาดในเกาหลีใต้ 38.2% แซงหน้า Tving ที่ 13.1% ไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม การประกาศไลน์อัพคอนเทนต์จากเกาหลีใต้และรายชื่อนักแสดง Squid Game ซีซั่นสองที่ต่อยอดความสำเร็จของซีซั่นแรก เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2566 ทำให้หลายฝ่ายจับตาการเดินเกมในตลาดสตรีมมิ่งเกาหลีใต้ของ Netflix มากขึ้น