มีห่วง อยากทำประกัน แบบไหนถึงจะเหมาะกับเรา

ประกันชีวิต
บทความโดย "จิญาดา พฤกษาชลวิทย์" 
นักวางแผนการเงิน CFP®
COO & Financial Planner
SIAM WEALTH MANAGEMENT สมาคมนักวางแผนการเงินไทย

 

วันที่ 30 เมษายน 2567 ถ้าตอนนี้เราคือ ผู้ที่มีคุณค่าสำหรับคนรอบข้าง หากขาดเราไป ย่อมส่งผลกระทบเชิงลบ ถ้าเป็นแบบนี้เราสมควรวางแผนประกันชีวิต แต่ก่อนเลือกแบบประกันชีวิตต้องมี 4 รู้ก่อน

รู้เป้าหมาย

“ควรมีทุนประกันชีวิตเท่าไหร่” ซึ่งวิธีการคำนวนอาจมีหลากหลายแนวคิด จะเลือกใช้แนวคิดไหนก็ได้ แต่อยากให้กำหนดเป็นช่วง ขั้นต่ำและขั้นสูง เพื่อที่จะได้สามารถมาช่วยจัดสมดุลให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระเบี้ย

ตัวอย่าง นายอบอุ่น อายุ 35 ปี มีรายได้เดือนละ 100,000 บาท มีลูกชาย 1 คน อายุ 1ปี หากวันนี้นายอบอุ่นเกิดเสียชีวิต อยากให้มีเงินให้กับครอบครัวเหมือนกับตอนที่นายอบอุ่นยังมีชีวิตอยู่จนกว่าลูกชายจะบรรลุนิติภาวะ (อายุ 20 ปีบริบูรณ์) ดังนั้นแนะนำทุนประกันที่ควรมี เท่ากับ 100,000 บาท x 12 เดือน x 20 ปี = 24 ล้านบาท (แต่ถ้าหากมีอัตราการเพิ่มของเงินเดือนปีละ 4% ทุนประกันที่ควรมีจะเท่ากับ 35.7 ล้านบาท)

แต่ถ้ามองมุมค่าใช้จ่ายของครอบครัว ใช้เดือนละ 40,000 บาท และค่าเทอมลูกปีละ 80,000 บาท ทุนประกันชีวิตที่ควรมี เท่ากับ 40,000 บาท x 12 เดือน บวกกับ 80,000 บาท ทั้งหมด x 20 ปี = 11.2 ล้านบาท (แต่หากมีอัตราเงินเฟ้อ 3% ทุนประกันที่ควรมีจะเท่ากับ 15 ล้านบาท)

Advertisment

จากตัวอย่าง เป้าหมายทุนประกันที่ควรมีจะอยู่ระหว่าง 11.2 ล้านบาท ถึง 35.7 ล้านบาท

รู้ปัจจุบัน

รวบรวมข้อมูลการเงินในปัจจุบัน โดยอาจจะแบ่งง่าย ๆ เป็น 4 ส่วน

ส่วนแรก คือ สินทรัพย์ที่ไม่ต้องการเปลี่ยนเป็นเงินสดเพื่อใช้จ่ายได้ เช่น บ้านที่อยู่ปัจจุบัน

ส่วนสอง คือ สินทรัพย์ที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้ แต่ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน เช่น คอนโดฯปล่อยเช่า ที่ดินเกร็งกำไร

Advertisment

ส่วนสาม คือ สินทรัพย์ที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่าย เช่น เงินฝากในธนาคาร กองทุนรวม หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ส่วนสี่ คือ ทุนประกันชีวิตในกรมธรรม์ประกันชีวิต

ซึ่งให้รวมจำนวนเงินส่วนที่ 3 และ 4 เพื่อจะได้รู้จำนวนเงินที่ครอบครัวสามารถนำมาใช้ได้หากคุณเสียชีวิต เช่น นายอบอุ่น มีกองทุน SSF และ RMF รวม 2 ล้านบาท มีทุนประกันชีวิต 1 ล้านบาท แสดงว่านายอบอุ่นเตรียมไว้ 3 ล้านบาท

รู้สภาพคล่อง

ดูความสามารถในการชำระเบี้ยประกัน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกแบบประกันที่เหมาะสม เพราะถึงแม้จะทำทุนประกันให้เพียงพอแต่ไม่มีความสามารถในการชำระเบี้ยก็จะทำให้แผนการเงินในปัจจุบันไม่ประสบความสำเร็จ

ตัวอย่าง นายอบอุ่น รายได้ปัจจุบัน 100,000 บาท ใช้จ่ายเดือนละ 40,000 บาท ถูกหักภาษีเดือนละ 5,000 บาท เก็บออมเพื่อยามเกษียณเดือนละ 25,000 บาท มีกระแสเงินสดคงเหลือ 100,000 – 40,000 – 5,000 – 25,000 = 30,000 บาทต่อเดือน หรือ 360,000 บาทต่อปี

รู้แบบประกัน

แบบประกันมีทั้งหมด 4 + 1 ประเภท

ประเภท จุดเด่น ข้อจำกัด
ชั่วระยะเวลา Term เบี้ยถูกที่สุดเมื่อเทียบกับทุน เป็นเบี้ยทิ้ง

กรณีครบสัญญาไม่มีเงินคืน

ตลอดชีพ Whole Life เบี้ยคงที่ ความคุ้มครองคงที่ ปรับลดทุนประกันไม่ได้
สะสมทรัพย์ ความคุ้มครองเพิ่มขึ้นตามเบี้ยสะสมที่จ่าย เหมาะสมกับการเก็บเงินไปพร้อมกับการสร้างความคุ้มครอง เบี้ยสูงเมื่อเทียบกับทุน
บำนาญ ความคุ้มครองเพิ่มขึ้นตามเบี้ยสะสมที่จ่าย เบี้ยสูงเมื่อเทียบกับทุน
ควบการลงทุน Unit Link มีช่วงเบี้ยให้เลือกจ่ายได้

ทุนประกันสามารถปรับลดระหว่างทางได้

ลดหย่อนภาษีไม่ได้ทั้งจำนวนเบี้ยที่จ่าย ได้เพียงส่วนที่หักค่าใช้จ่าย

 

เมื่อมี 4 รู้แล้ว ก็ถึงเวลามาเลือกแบบประกันที่เหมาะสมกับโจทย์ ตัวอย่าง กรณีคุณอบอุ่น

รู้เป้าหมาย : ทุนประกันที่ควรมี อยู่ระหว่าง 11.2 ล้านบาท – 35.7 ล้านบาท

รู้ปัจจุบัน : เตรียมไว้แล้ว 3 ล้านบาท (ทุนประกัน 1 ล้านบาท + กองทุนภาษี 2 ล้านบาท)

ดังนั้น ยังขาดทุนประกันในช่วง 8.2 ล้านบาท – 32.7ล้านบาท

รู้สภาพคล่อง : กระแสเงินสดคงเหลือ 360,000 บาทต่อปี

จากนั้นมาเลือกแบบประกันที่มีความเหมาะสม โดยคุณอบอุ่น เพศชาย อายุ 35 ปี ความคุ้มครองอย่างน้อย คือ 20 ปี

แบบประกันที่มีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป และเลือกที่ชำระเบี้ย 20 ปี

ประเภท เบี้ยต่อทุน 10 ล้านบาท (บาทต่อปี) เหตุผลสนับสนุนในการเลือก
ชั่วระยะเวลา Term 70,000 ถ้าอยากให้มีทุนประกันที่สูงถึง 32.7ล้านบาท

บนงบประมาณไม่เกิน 360,000 บาท แบบนี้น่าจะเหมาะสมที่สุด

ตลอดชีพ Whole Life 230,000 ถ้าไม่อยากจ่ายเป็นเบี้ยทิ้ง และสามารถส่งต่อเป็นแผนมรดกให้ลูกได้ต่อ

โดยให้ความคุ้มครองอยู่ประมาณ 15 ล้านบาท ซึ่งพอครอบคลุมกับค่าใช้จ่ายที่สำคัญในครอบครัว แบบนี้น่าสนใจที่สุด

สะสมทรัพย์ 1,600,000 แบบนี้อาจจะไม่ตอบโจทย์ในการเน้นการทำทุนประกันเท่าไหร่ เพราะงบประมาณในการจ่ายเบี้ยสูงเกินความสามารถในการชำระเบี้ย
บำนาญ
ควบการลงทุน Unit Link 85,000 – 200,000 ถ้าอยากได้ทุนประกันที่สูง และสามารถปรับลดทุนประกันลงได้ระหว่างทางเนื่องจากความจำเป็นลดลงเช่นกัน รวมถึงเบี้ยประกันไม่ใช่เป็นเบี้ยทิ้งทั้งก้อน เพราะมีบางส่วนนำไปลงทุนด้วย แบบนี้ก็น่าจะครบเครื่องที่สุด

 

นี่คือเหตุผลที่ทำไมประกันถึงมีหลากหลายแบบ เพราะโจทย์ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน มุมมองและความชอบต่อประกันที่ไม่เท่ากัน และมีปัจจัยสนับสนุนที่แตกต่างเช่นกันอีกด้วย

ดังนั้น ก่อนที่จะเลือกทำประกันอยากให้ตั้งวัตถุประสงค์ของประกันเล่มนั้น ๆ อย่างชัดเจน เพราะพิจารณาความสามารถในการชำระเบี้ยด้วย เพราะการวางแผนการเงินที่ดี คือ การรักษาสมดุลให้เหมาะสมทั้งปัจจุบันและอนาคต พร้อมป้องกันความเสี่ยงหรือพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันอีกด้วย