เศรษฐกิจจีนจะฟื้นปีไหน ? เมื่อแผนฟื้นความเชื่อมั่นของรัฐบาลไม่โดนใจนักธุรกิจ-นักลงทุน

เศรษฐกิจจีน

ตัวเลขเศรษฐกิจจีนไม่ดีต่อเนื่องมาหลายเดือน ไม่สามารถฟื้นตัวขึ้นจากความเสียหายในช่วงปิดประเทศได้ตามคาด ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบมาจากการที่รัฐบาลจีนปราบปรามบริษัทบิ๊กเทคในประเทศในช่วงสองปีที่ผ่านมา และนโยบาย “เจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” (Common Prospirity) ของสี จิ้นผิง (Xi Jinping) ซึ่งถูกมองว่าไม่เป็นมิตรต่อการลงทุนทั้งของธุรกิจจีนและธุรกิจต่างชาติ 

เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2 ของปี 2023 ขยายตัว 6.3% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ และขยายตัวเพียง 0.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) 

ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาทำให้เกิดความกังวลจากหลายภาคส่วน รวมทั้งจากทั่วโลกที่จับตามอง ว่าเศรษฐกิจจีนกำลังหมดแรงในการฟื้นตัว และมองว่าจีนไม่น่าจะบรรลุเป้าหมายการเติบโตทั้งปีที่ตั้งไว้ 5% ขณะเดียวกันก็ทำให้ตลาดกังวลมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาเชิงนโยบายของรัฐบาล

 

รัฐออกแผนปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ หวังฟื้นความเชื่อมั่น 

ก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นมาบ้างแล้ว อย่างเช่นการลดดอกเบี้ย การผ่อนปรนเงื่อนไขในการเข้าถึงสินเชื่อ แต่ก็ยังห่างไกลระดับที่ภาคธุรกิจและนักลงทุนมองว่า “เพียงพอ” ขณะเดียวกันรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็พยายามจะฟื้นฟูความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและนักลงทุน โดยแสดงความเป็นมิตรกับบิ๊กเทคในประเทศมากขึ้นเพื่อเป็นตัวอย่างให้บริษัทต่างชาติเห็น และได้เชิญนักธุรกิจระดับโลกหลายคนเยือนจีนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา  

ล่าสุด ช่วงค่ำวันที่ 19 กรกฎาคม 2023 พรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐบาลจีนออกแถลงการณ์ร่วม เป็นการประกาศแผนปฏิบัติการณ์ 31 ข้อเพื่อปรับปรุงเงื่อนไข-สภาพแวดล้อมสำหรับภาคธุรกิจ และให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติต่อบริษัทเอกชนด้วยมาตรฐานเดียวกันกับรัฐวิสาหกิจ และจะปรึกษากับผู้ประกอบการเพิ่มเติมก่อนที่จะร่างนโยบาย 

ADVERTISMENT

มาตรการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจชุดใหม่ล่าสุดนี้ประกอบด้วยแผนปฏิบัติการ 31 ข้อ ครอบคลุมทั้งเรื่องการเข้าสู่ตลาด การแข่งขันที่เป็นธรรม การสนับสนุนทางการเงิน การผิดนัดชำระหนี้ สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และการคุ้มครองทางกฎหมาย ซึ่งเป็นมาตรการที่ครอบคลุมที่สุดของรัฐบาลจีน นับตั้งแต่ที่ สี จิ้นผิง เริ่มดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 3 อย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม 2023 

คำแถลงอย่างเป็นทางการระบุว่า รัฐบาลจะเพิ่มการสนับสนุนบริษัทเอกชนในการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การขายพันธบัตร และการขยายธุรกิจในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังจะช่วยลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของบริษัทเอกชน และช่วยแก้ไขหนี้ค้างชำระหนี้ของธุรกิจขนาดเล็ก  

ADVERTISMENT

 

นักธุรกิจ-นักลงทุนส่ายหัวบอกว่า “ยังไม่พอ”

แม้ว่าความเคลื่อนไหวเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและแก้ปัญหาในด้านต่าง ๆ ของรัฐบาลจีนจะได้รับการสนับสนุนจากโพนี่ หม่า (Pony Ma) มหาเศรษฐีอันดับต้น ๆ ของประเทศผู้ร่วมก่อตั้งเทนเซ็นต์ (Tencent Holdings Ltd.) และผู้บริหารบริษัทอื่น ๆ บางส่วน แต่ตลาดทุนยังมีความกังขาและตอบรับไม่ดี เนื่องจากนักลงทุนมองหามาตรการที่เป็นรูปธรรมมากกว่านี้เพื่อที่จะฟื้นฟูความเชื่อมั่น ซึ่งสิ่งที่นักลงทุนอยากเห็นมากที่สุดก็คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เร่งด่วน มีประสิทธิภาพ และทั่วถึง 

อลัน หลี่ (Alan Li) หัวหน้าเจ้าหน้าที่การลงทุนของบริษทจัดการการลงทุน Atta Capital Ltd. มองว่ามาตรการของรัฐบาลที่ออกมาล่าสุดเป็นกรอบการทำงานหลักมากกว่า นักลงทุนต่างหวังว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น การผ่อนคลายนโยบายด้านอสังหาริมทรัพย์ และการใช้จ่ายด้านการคลังมากขึ้น และเขาบอกอีกว่า หากสัญญาล่าสุดของรัฐบาลสามารถยกระดับตลาดการเงินได้ก็เพียงระยะสั้น ๆ เท่านั้น 

หลี่ เสี่ยวตง (Li Xuetong) ผู้จัดการกองทุนของ Shenzhen Enjoy Equity Investment Fund Management Co. กล่าวว่า แม้ว่าสัญญาณล่าสุดของรัฐบาลจีนน่าจะช่วยบรรเทาความกังวลของนักลงทุนที่มองว่า รัฐบาลมีความอดทน-จำยอมมากขึ้นต่อการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอลง แต่ความเคลื่อนไหวนี้ก็ไม่น่าจะส่งผลให้เกิดการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว 

“นี่เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการสะสมปัจจัยหลาย ๆ ปัจจัย เพื่อพลิกความคาดหวังต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ … มันเป็นไปไม่ได้ที่เอกสารหนึ่งฉบับจะเป็นตัวเปลี่ยนเกม”

เช่นกันกับที่แม็กซิมิเลียน บูเต็ก (Maximilian Butek) หัวหน้าคณะผู้แทนของ Delegation of German Industry & Commerce in Shanghai ซึ่งเป็นคณะผู้แทนของสมาคมอุตสาหกรรมและการค้าเยอรมนีในเซี่ยงไฮ้กล่าวว่า แม้ว่าการขจัดอุปสรรคในการทำธุรกิจจะเป็นประโยชน์ต่อความเชื่อมั่นทางธุรกิจ แต่การใช้มาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อกระตุ้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและกำหนดกรอบการกำกับดูแลที่ชัดเจนมากขึ้นจะมีความสำคัญยิ่งกว่า

“ถึงที่สุดแล้ว การฟื้นฟูความไว้วางใจว่าสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ [ของจีน] คาดเดาได้นั้น ขึ้นอยู่กับการกระทำที่เป็นรูปธรรมมากกว่าคำพูด”

 

ธุรกิจส่วนใหญ่ในประเทศยังแย่ 

ประเทศจีนมีบริษัทที่จดทะเบียนมากกว่า 47 ล้านบริษัท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดเล็ก และธุรกิจอิสระมากกว่า 100 ล้านบริษัท บริษัทเหล่านี้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากข้อจำกัดในช่วงโรคระบาด และบางภาคธุรกิจได้รับผลกระทบจากกฎระเบียบที่คาดเดาไม่ได้มาหลายปี เช่นในภาคเทคโนโลยีและโรงเรียนกวดวิชา 

จนถึงตอนนี้ ฐานะทางการเงินของบริษัทในจีนยังไม่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ผลกำไรของบริษัทภาคอุตสาหกรรมในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ลดลง 21.8% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) และการลงทุนภาคเอกชนในช่วง 6 เดือนแรกลดลง 0.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) 

แม้ว่ารัฐบาลจีนพร้อมที่จะยกเลิกข้อจำกัดบางส่วน และใกล้จะยุติการปราบปรามบริษัทเทคที่ดำเนินมาเกือบสองปี เห็นได้จากการสั่งปรับเงินแอนท์กรุ๊ป (Ant Group) และเทนเซ็นต์ (Tencent) ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมเพื่อยุติคดีความที่บริษัทโดนในการปราบปรามบริษัทเทคช่วงสองปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังยากที่จะซ่อมแซมความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เสียไป และชดเชยความเสียหายของภาคธุรกิจ 

 

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ต้องกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศด่วน ๆ 

นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอุปสงค์มากขึ้น รวมถึงการแจกบัตรกำนัลการบริโภคหรือการอุดหนุนเงินสด ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางการไม่เต็มใจจะทำ รัฐบาลกลับเสนอแนวทางที่คลุมเครือเพื่อส่งเสริมการบริโภคเครื่องใช้ในบ้านและเฟอร์นิเจอร์ และขยายเวลา ลดหย่อนภาษีสำหรับการซื้อรถยนต์พลังงานใหม่ จนถึงปี 2027 

เบตตี้ หวัง (Betty Wang) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก Australia & New Zealand Banking Group (ANZ Group) กล่าวกับบลูมเบิร์ก ทีวี (Bloomberg TV) เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า การสนับสนุนด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มการคาดการณ์ของภาคครัวเรือน รวมถึงการรักษาเสถียรภาพของตลาดงาน ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นในภาคครัวเรือน 

“ข้อมูลที่เปิดเผยล่าสุดแสดงให้เห็นจุดอ่อนที่ชัดเจนมากในภาคเอกชนและภาคครัวเรือน” นักเศรษฐศาสตร์จาก ANZ Group กล่าว

 

อ้างอิง :

อ่านเนื้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง