
ในช่วงสองเดือนมานี้ จีนประกาศตัวเลขเศรษฐกิจออกมา ไม่ว่าจะมิติไหนก็ดูไม่ค่อยสดใส
เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หน่วยงานศุลกากรของจีนเปิดเผยว่า การส่งออกในเดือนพฤษภาคมลดลง 7.5% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งแย่กว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้
ล่าสุดวันที่ 15 มิถุนายน 2566 สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจเดือนพฤษภาคม 2566 หลายตัว ซึ่งเน้นย้ำอีกว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนอ่อนแอลง สร้างแรงกดดันให้ผู้กำหนดนโยบายต้องเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกขนานใหญ่
ตัวเลขเศรษฐกิจอ่อนแอ
ตัวเลขเศรษฐกิจจีนเดือนพฤษภาคม 2566 ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนเปิดเผยในวันที่ 15 มิถุนายน 2566 มีดังนี้
- การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 3.5% จากปีก่อนหน้า (YOY) ชะลอลงจากเดือนเมษายนซึ่งเติบโต 5.6%
- ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 12.7% ต่ำกว่าค่ากลางในคาดการณ์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 13.7% และชะลอลงจากเดือนเมษายนที่โต 18.4%
- การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้โต 4% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะโต 4.4%
- อัตราการว่างงานในเมืองคงที่อยู่ที่ 5.2%
ต้องกระตุ้นอีกขนานใหญ่
ตัวเลขดังกล่าวนี้เผยแพร่หลังจากที่ธนาคารกลางจีน (People’s Bank of China : PBOC) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้นลง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเมื่อวันที่ 13 มิถุนายนได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย Reverse Repo 7-day ลง 10bps จากอัตรา 2.0% ลงมาอยู่ที่ 1.9% และในวันที่ 15 มิถุนายนได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อายุ 1 ปี ลง 10 bps มาอยู่ที่อัตรา 2.65%
ธนาคารกลางประเทศจีนได้เปลี่ยนไปใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะมีการออกมาตรการกระตุ้นนโยบายการเงินเพิ่มเติมในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ รวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ย หรือการปรับลดอัตราเงินสดสำรองที่ธนาคารต้องสำรองไว้
Bloomberg รายงานอ้างอิงคำบอกเล่าของแหล่งข่าวที่คุ้นเคยกับเรื่องนี้ว่า เจ้าหน้าที่ของจีนกำลังพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในวงกว้าง เพื่อสนับสนุนด้านต่าง ๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ และอุปสงค์ในประเทศ โดยคณะรัฐมนตรีอาจหารือเกี่ยวกับนโยบายเหล่านี้ในวันศุกร์ที่ 16 มิถุนายนนี้
สำนักข่าว Reuters (รอยเตอร์) รายงานในวันเดียวกันว่า นักวิเคราะห์ต่างมองว่าตัวเลขเหล่านี้ตอกย้ำความจำเป็นที่จีนต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น เนื่องจากจีนเผชิญกับความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืด หนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นเพิ่มสูง การว่างงานของเยาวชนสูงเป็นประวัติการณ์ และอุปสงค์จากทั่วโลกลดลง
การฟื้นตัวสูญเสียโมเมนตัม จีดีพีคงไม่ดีเท่าที่คาด
กิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนเริ่มเพิ่มขึ้นในไตรมาสแรกของปีนี้ หลังการสิ้นสุดข้อจำกัดของมาตรการควบคุมโรคระบาด แต่การฟื้นตัวกลับสูญเสียโมเมนตัมในไตรมาสที่สอง เนื่องจากเผชิญกับอุปสรรคหลายประการ ทั้งธุรกิจภายในประเทศที่อ่อนแอ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่แน่นอน และอุปสงค์การส่งออกทั่วโลกชะลอตัว
นักวิเคราะห์ของ Nomura Asset Management เขียนในบทวิเคราะห์สำหรับลูกค้าว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนหลังโควิด-19 ดูเหมือนจะดำเนินไปตามปกติแล้ว แต่การลดลงของตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนเมษายนและพฤษภาคม แสดงให้เห็นว่าตอนนี้มีความเสี่ยงด้านลบที่มีนัยสำคัญต่อคาดการณ์การเติบโตของจีดีพี ซึ่งจะทำให้การเติบโตต่ำกว่าที่ Nomura คาดการณ์ไว้ว่าจะโต 5.5% ในปี 2566 และ 4.2% ในปี 2567
จาง จื้อเหว่ย (Zhang Zhiwei) นักเศรษฐศาสตร์และประธานบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน Pinpoint Asset Management กล่าวว่า ข้อมูลทั้งหมดที่ออกมาจนถึงตอนนี้ส่งสัญญาณอย่างสม่ำเสมอว่าโมเมนตัมทางเศรษฐกิจของจีนกำลังอ่อนแอลง
บรูซ ผาง (Bruce Pang) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Jones Lang LaSalle บริษัทให้บริการจัดหาอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ระดับโลกจากสหรัฐอเมริกากล่าวว่า อุปสงค์ภายในประเทศที่ไม่มากพอ และอุปสงค์ภายนอกที่ซบเซาอาจขัดขวางโมเมนตัมการฟื้นตัวในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ทำให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวเป็นรูปตัว U คือฟื้นอย่างค่อนเป็นค่อยไปแบบเดือนต่อเดือน
คนงานโรงงานเดือดร้อน ยอดหยุดงานประท้วงพุ่ง
นอกจากนั้น อีกข่าวหนึ่งของ Reuters รายงานว่า ด้วยการส่งออกที่อ่อนแอเป็นเหตุให้โรงงานในจีนลดค่าจ้างพนักงานลงเพื่อลดต้นทุน ส่งผลให้คนงานโรงงานนัดหยุดงานประท้วงสูงสุดในรอบ 7 ปี โดยข้อมูลจาก China Labour Bulletin (CLB) ซึ่งเป็นกลุ่มสิทธิแรงงานที่ตั้งอยู่ในฮ่องกงระบุว่า มีการนัดหยุดงานของคนงานโรงงานทั่วประเทศจีนกว่า 140 ครั้ง ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งมีการหยุดงาน 313 ครั้งในช่วงเวลาเดียวกัน
สวี เทียนเฉิน (Xu Tianchen) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก Economist Intelligence Unit กล่าวว่า บริษัทต่าง ๆ กำลังปรับตัวให้เข้ากับความเป็นจริงที่ว่ากำลังการผลิตของจีนล้นเกินดีมานด์ โดยการปรับลดค่าจ้างและการเลิกจ้างคนงาน ซึ่งไม่เพียงแต่จะส่งผลเสียต่อการเติบโตของเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังอาจเป็นบ่อเกิดของความไม่มั่นคงด้วย
ความหวังเศรษฐกิจโลกยังเหลืออยู่ไหม ?
เศรษฐกิจจีนนั้นถูกมองเป็น “ความหวัง” ของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ โดยเฉพาะสำหรับประเทศในเอเชียที่มีความเชื่อมโยงและพึ่งพาจีนในทางเศรษฐกิจจีนอย่างมาก เมื่อเศรษฐกิจจีนไม่ฟื้นตัวดีดังคาด ทั่วโลกจึงเริ่มหวั่นใจและตั้งคำถามว่าจีนยังคงเป็นความหวังของเศรษฐกิจโลกได้อยู่ไหม ?
หากจะยังมีความหวังเล็กน้อยให้เห็นก็คงจะอยู่ที่แนวโน้มระยะสองสามเดือนข้างหน้าที่สะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่จัดทำโดย Caixin และ S&P Global โดยดัชนีในเดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้นเป็น 50.9 จุด จาก 49.5 จุด ในเดือนเมษายน ซึ่งดัชนีที่อยู่เหนือ 50 จุดสะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวและการเติบโต
…แต่จะจริงหรือไม่ เมื่อตัวเลขส่งออกไม่ไปในทิศทางเดียวกันกับ PMI ?