กิจกรรมการผลิตเอเชียไปคนละทิศ บางประเทศโต บางประเทศหด แนวโน้มเศรษฐกิจดูคลุมเครือ 

กิจกรรมการผลิตเอเชีย
AFP / China OUT

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ซึ่งเป็นมาตรวัดกิจกรรมการผลิตและบอกแนวโน้มเศรษฐกิจในจีนและญี่ปุ่นเดือนพฤษภาคมแกว่งตัวไปในทิศทางเติบโต สวนทางกับเกาหลีใต้ เวียดนาม และไต้หวัน ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ชี้ให้เห็นถึงการฟื้นตัวที่ไม่สม่ำเสมอ และทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ดูคลุมเครือ

สำนักข่าว Reuters (รอยเตอร์) รายงานว่า ผลสำรวจภาคธุรกิจซึ่งเปิดเผยในวันที่ 1 มิถุนายน 2566 แสดงให้เห็นว่าโรงงานในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่บางประเทศในเอเชียเริ่มเร่งเครื่องขึ้นแล้วในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาในห่วงโซ่อุปทานคลี่คลายลง แต่อุปสงค์ทั่วโลกที่ซบเซายังคงเป็นความท้าทายหลักสำหรับผู้ส่งออกรายใหญ่หลายรายในภูมิภาคนี้ 

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (purchasing manager index: PMI) ซึ่งเป็นมาตรวัดกิจกรรมการผลิตและบอกแนวโน้มเศรษฐกิจในจีนและญี่ปุ่นในเดือนพฤษภาคมแสดงให้เห็นว่ากิจกรรมการผลิตของโรงงานแกว่งตัวไปในทิศทางเติบโต ซึ่งสวนทางกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้ออันอ่อนแอในเกาหลีใต้ เวียดนาม และไต้หวัน ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง  

ดัชนี PMI ที่บวกและลบเป็นหย่อม ๆ แบ่งแยกกันไปเป็นสองทิศทาง ชี้ให้เห็นถึงการฟื้นตัวที่ไม่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีนซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และทำให้แนวโน้มการเติบโตในภูมิภาคนี้ดูคลุมเครือ แต่ก็ยังมีบางอย่างที่สื่อถึงแนวโน้มในแง่ดี

จูเลียน อีวานส์-พริตชาร์ด (Julian Evans-Pritchard) นักวิเคราะห์จาก Capital Economics กล่าวว่า ผลการสำรวจ PMI ชี้ให้เห็นว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนยังคงดำเนินต่อไปในเดือนพฤษภาคม แม้ว่าจะฟื้นในอัตราช้าลง และการสนับสนุนทางการคลังที่ลดลงส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการก่อสร้าง

“แต่ผลผลิตของภาคการผลิตที่พุ่งสูงขึ้นและภาคบริการยังคงมีผลกำไรที่ดีบ่งชี้ว่าการเติบโตของจีดีพีในไตรมาส 2 อาจไม่แย่อย่างที่หลายคนกลัว” 

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของจีนที่จัดทำโดย Caixin และ S&P Global เพิ่มขึ้นเป็น 50.9 จุด ในเดือนพฤษภาคม 2566 จาก 49.5 จุด ในเดือนเมษายน 2566 ซึ่งดัชนี 50 จุด เป็นจุดแบ่งระหว่างกากรเติบโตกับการหดตัว 

หวัง เจ๋อ (Wang Zhe) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ Caixin Insight Group กล่าวว่า การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปัจจุบันขาดแรงผลักดันจากภายใน และหน่วยงานในตลาดก็ขาดความมั่นใจ เป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการขยายและการฟื้นฟูอุปสงค์ให้กลับมา

แต่ถึงอย่างนั้น ผลสำรวจของ Caixin แสดงให้เห็นว่า ความเชื่อมั่นทางธุรกิจของจีนในช่วง 12 เดือนข้างหน้าลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก 

ดัชนี PMI ขั้นสุดท้ายของญี่ปุ่นซึ่งจัดทำโดยธนาคาร au Jibun เพิ่มขึ้นเป็น 50.6 จุด ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ที่ดัชนีสูงกว่าเกณฑ์ 50.0 เนื่องจากเศรษฐกิจที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัวขึ้นได้ยกระดับให้ดีมานด์ให้เพิ่มสูงขึ้น 

แต่ข้อมูลอีกชุดหนึ่งที่เปิดเผยในวันพุธที่ 31 พฤษภาคม 2566 แสดงให้เห็นว่าผลผลิตของโรงงานญี่ปุ่นในเดือนเมษายนลดลงอย่างไม่คาดคิด ขณะที่การสำรวจผู้ผลิตคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 1.9% ในเดือนพฤษภาคม เจ้าหน้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นกล่าวว่า อุปสงค์จากต่างประเทศที่อ่อนแอจะเพิ่มความเสี่ยงให้โรงงานจะต้องปรับลดการผลิตลง 

ที่อื่น ๆ ในเอเชียอย่างเกาหลีใต้ PMI อยู่ที่ 48.4 จุด ในเดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 48.1 ในเดือนเมษายน แต่ด้วยดัชนีที่ต่ำกว่า 50 ติดต่อกันอีกเดือน ทำให้สะสมสถิติเป็นการหดตัวที่ต่อเนื่องนานที่สุดในรอบ 14 ปี 

ส่วนเวียดนาม มาเลเซีย และไต้หวัน ก็เห็นกิจกรรมการผลิตของโรงงานในเดือนพฤษภาคมหดตัวเช่นกัน ขณะที่กิจกรรมการผลิตของฟิลิปปินส์ขยายตัว 

เศรษฐกิจของเอเชียพึ่งพิงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนเป็นอย่างมาก เมื่อการฟื้นตัวของจีนไม่ได้แข็งแกร่งมากดังที่คาดไว้ ก็ทำให้ภาคการผลิตของประเทศต่าง ๆ ในเอเชียที่เน้นการส่งออกได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการใช้จ่ายในภาคบริการที่ทำผลงานได้ดีกว่า  

ในคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ที่เผยแพร่ในเดือนพฤษภาคมกล่าวว่า คาดว่าเศรษฐกิจของเอเชียจะขยายตัว 4.6% ในปีนี้ หลังจากขยายตัว 3.8% ในปี 2565 ซึ่งจะคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70% ของการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลก

แต่ IMF ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียในปีหน้าลงเหลือ 4.4% และเตือนถึงความเสี่ยงในอนาคต เช่น อัตราเงินเฟ้อที่สูงนานกว่าที่คาดไว้ การชะลอตัวของอุปสงค์ทั่วโลก ตลอดจนผลกระทบจากความตึงเครียดในภาคธนาคารของสหรัฐอเมริกาและยุโรป