ตลาดตราสารหนี้ของหลายประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียกำลังได้รับประโยชน์จากการที่เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง อันเป็นผลมาจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ใกล้ยุติวงจรการขึ้นดอกเบี้ย พร้อมกันนั้นก็ได้ประโยชน์จากการที่เงินลงทุนจากต่างประเทศไหลออกจากจีน เนื่องจากเงินหยวนอ่อนค่า และความกังวลหลายปัจจัย
“นิกเคอิ เอเชีย” อ้างอิงข้อมูลจากรายงานของออสเตรเลียแอนด์นิวซีแลนด์ แบงกิ้ง กรุ๊ป (ANZ Group) ว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2023 นักลงทุนต่างชาติเพิ่มการถือครองตราสารหนี้ (bond) ในตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย (Emerging Asia) นอกประเทศจีน รวมถึง 20,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นตัวเลขรายครึ่งปีที่สูงที่สุดในรอบ 2 ปี
ตราสารหนี้ “เกาหลีใต้” และ “อินโดนีเซีย” เป็นที่ชื่นชอบของนักลงทุนต่างชาติมากเป็นอันดับ 1 และ 2 โดยมีฟันด์โฟลว์ไหลเข้า 8,200 ล้านดอลลาร์และ 4,400 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ สวนทางกับจีนที่ฟันด์โฟลว์ไหลออก 29,600 ล้านดอลลาร์
นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่รายงาน (Year to Date) ตราสารหนี้ที่ออกโดย PLN บริษัทน้ำมันในอินโดนีเซียที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ, ฮุนได บริษัทรถยนต์เกาหลีใต้, ธนาคารเพื่อการส่งออกและการนำเข้าเกาหลีใต้, TSMC บริษัทชิปไต้หวัน, ปิโตรนาส บริษัทน้ำมันมาเลเซีย เป็นตราสารหนี้ที่มีการซื้อขายมากที่สุดใน มาร์เก็ตแอกเซสส์ (MarketAxess) แพลตฟอร์มการซื้อขายตราสารหนี้ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แนสแด็ก
ผู้จัดการกองทุนระดับโลกต่างระมัดระวังการลงทุนตราสารหนี้จีน โดยข้อมูลจากการศึกษาของ “มอร์นิ่งสตาร์” ซึ่งศึกษาจากข้อมูลที่อัพเดตถึงเดือน พ.ค. 2023 พบว่าปีนี้การลงทุนในตราสารหนี้จีนลดลงอย่างกว้างขวางในบรรดากองทุนตราสารหนี้ 179 กองทุนที่บริหารโดยแบล็กร็อก, พิมโก้, ฟิเดลิตี้, เอชเอสบีซี และยูบีเอส ซึ่งมีสินทรัพย์รวม 54,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างเช่น กองทุน “Asian Tiger Bond Fund” มูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์ของแบล็กร็อก ปรับลดการถือครองตราสารหนี้จีนจากสัดส่วน 38.89% ในเดือน ม.ค. ลงเหลือ 33.42% ในเดือน พ.ค.
“ฌอง-ชาร์ลส์ ซัมบอร์” หัวหน้าฝ่ายตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน “บีเอ็นพี พารีบาส์ แอสเซต แมเนจเมนต์” กล่าวว่า ตราสารหนี้ของประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย ได้รับประโยชน์จากนักลงทุนที่เดิมพันกับการสิ้นสุดการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากเฟดใกล้ยุติวงจรการปรับขึ้นดอกเบี้ย ทำให้สกุลเงินเอเชียแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ
ซัมบอร์เผยอีกว่า ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ผู้จัดการกองทุนตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ของ “บีเอ็นพี พารีบาส์ฯ” ลดการลงทุนตราสารหนี้จีนลงเพื่อลดความเสี่ยง เนื่องจากเงินหยวนของจีนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเขามองว่าผู้จัดการกองทุนและนักลงทุนต้องรอดูเสถียรภาพของเงินหยวนก่อน จึงจะกลับไปลงทุนในตราสารหนี้สกุลเงินหยวนอีกครั้ง
“โรเบิร์ต ฮอง” หัวหน้าฝ่ายตราสารหนี้เอเชีย-แปซิฟิกของบริษัทหลักทรัพย์ “สโตนเอ็กซ์” เผยว่า ตราสารหนี้ของจีนได้รับความนิยมน้อยลง เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าเงินหยวนจะอ่อนค่าลงอีก กังวลกับความไม่แน่นอนว่ารัฐบาลจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับที่มีนัยสำคัญหรือไม่ และกังวลกับความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐ
ขณะที่ “ไนเจล ฟู” หัวหน้าฝ่ายตราสารหนี้เอเชียของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน “เฟิสต์ ซองทิเยร์ อินเวสเตอร์ส” กล่าวว่า การเปลี่ยนนโยบายของเฟดกำลังจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ดีของเศรษฐกิจเอเชีย ซึ่งธนาคารกลางนำเงินเฟ้อลงสู่เป้าหมายได้แล้ว และพร้อมจะลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจะส่งผลให้ผลตอบแทนตราสารหนี้สกุลเงินในเอเชียอยู่ที่ประมาณ 3-4% และเมื่อบวกกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนอีก 3% ก็เหมือนได้ผลตอบแทนถึง 7%
ส่วนจีนนั้น เงินหยวนของจีนไม่น่าจะได้รับประโยชน์จากการลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ตราบใดที่เศรษฐกิจของจีนเองยังต้องดิ้นรนเพื่อที่จะฟื้นตัวอยู่