
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐอเมริกาในไตรมาส 2 ของปี 2023 ตามประมาณการครั้งที่ 2 ของกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐ ที่ประกาศเมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา “เติบโต 2.1%” แม้ว่าจะน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังเติบโตมากกว่าในไตรมาสแรก ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีพัฒนาการ และพาตัวเองออกห่างจากภาวะ “เศรษฐกิจถดถอย” ไปได้อีก
ยอดค้าปลีกในเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่อัตรากำไรของบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงินไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นเป็น 14.3% จากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ 13.8%
ฝั่งตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนล่าสุด (กรกฎาคม 2023) ชะลอลงมาอยู่ที่ 3.2% แล้ว เช่นกันกับการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ลดความร้อนแรงลง โดยตัวเลขการจ้างงานใหม่อยู่ต่ำกว่า 200,000 ตำแหน่งมา 3 เดือนแล้ว
ตัวเลขต่าง ๆ เหล่านี้เป็นผลลัพธ์ในทิศทางที่ผู้กำหนดนโยบาย นักลงทุน และคนที่เฝ้ามองอยู่อยากเห็น ซึ่งแสดงถึงความแข็งแกร่งและยืดหยุ่นของเศรษฐกิจสหรัฐซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
ถึงตอนนี้คำถามและความกังวลเรื่องสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจางหายไปจากบทวิเคราะห์ของบรรดานักเศรษฐศาสตร์แล้ว
ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐสุดแกร่ง นักเศรษฐศาสตร์จึงเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีสหรัฐในไตรมาส 3 ขึ้นไปสูงสุดถึง 5.9% แม้ว่าตัวเลขสูงจนดูจะเป็นไปได้ยาก แต่ก็ให้ความมั่นใจว่าเศรษฐกิจจะโตในอัตราที่เร่งขึ้นแน่นอน โดยได้แรงหนุนสำคัญจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่จะเพิ่มขึ้น
เมื่อการเติบโตของเศรษฐกิจถูกคาดการณ์ว่าจะขยายตัวดีขึ้น ความเสี่ยงจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยน้อยลง ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ในทิศทางขาลง คำถามในตอนนี้คือ แล้วเศรษฐกิจสหรัฐยังมีอะไรที่ต้องกังวลอยู่ไหม ?
คำตอบคือ “มี” นั่นก็คือ “เงินเฟ้อ” ซึ่งแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงมาแล้วมากกว่าครึ่งทางจะเป็นปัจจัยด้านบวกในช่วงนี้ แต่อัตรา 3.2% (YOY) ก็ยังคงสูงกว่าเป้าหมาย และเป็น “ข้อกังวล” ของผู้กำหนดนโยบายและนักเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อสามารถหักหัวกลับขึ้นไปได้อีก ในตอนนี้ยังไม่สามารถไว้วางใจได้ว่าเงินเฟ้อจะสงบลงจริง
“เจอโรม พาวเวลล์” (Jerome Powell) ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวในงาน “แจ็กสันโฮล” (Jackson Hole) หรือการประชุมประจำปีของเฟดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อเคลื่อนตัวลงจากจุดสูงสุดแล้ว แต่ก็ยังคงสูงเกินไป ดังนั้น เฟดจึงเตรียมพร้อมที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก หากมีความจำเป็น และตั้งใจจะคงดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับสูง จนกว่าจะมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงไปสู่เป้าหมาย 2% อย่างยั่งยืน
สอดคล้องกับที่ “เกนนาดีย์ โกลด์เบิร์ก” (Gennadiy Goldberg) นักกลยุทธ์ด้านอัตราดอกเบี้ยของ “ทีดี ซีเคียวริตีส์” (TD Securities) กล่าวว่า “อัตราเงินเฟ้อกำลังดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง … แต่มันก็เหมือนกับไฟ คุณจำเป็นต้องดับถ่านที่ยังคุกรุ่นอยู่ เพราะถ้าไม่ทำ มันก็จะลุกขึ้นมาเป็นไฟได้ในทันที”
ปัจจัยที่วิเคราะห์กันว่าจะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อคือ ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นซึ่งทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้น เป็นทั้งผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ และอีกด้านหนึ่งก็เป็นความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อ
ส่วนปัจจัยผลักดันเงินเฟ้อในฝั่งอุปทานก็ยังต้องระวังราคาพลังงานที่ผันผวน นอกจากนั้น นักเศรษฐศาสตร์ของ “โกลด์แมน แซกส์” คาดว่า ค่ารักษาพยาบาลในสหรัฐจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากโรงพยาบาลพยายามจะชดเชยต้นทุนค่าจ้างคนงานที่เพิ่มขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นจะไปหนุนอัตราเงินเฟ้อด้านการบริการให้สูงขึ้น
ความเสี่ยงที่เงินเฟ้ออาจจะกลับไปเพิ่มขึ้นอีก มาคู่กับความเสี่ยงที่อัตราดอกเบี้ยอาจจะสูงขึ้นอีก นำไปสู่ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ดังนั้น ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยจึงยังไม่ได้หมดไปร้อยเปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่คาดว่าสหรัฐจะเจอภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้
…ปีนี้ผวาเงินเฟ้อกับดอกเบี้ยสองอย่างก็พอ ปีหน้าค่อยผวา “เศรษฐกิจถดถอย” กันอีกที