ส่องความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ เงินเฟ้อสหรัฐตอนนี้ หยุดเฟดได้หรือยัง ? 

เงินเฟ้อสหรัฐ
Photo by Dado Ruvic/REUTERS

ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนกรกฎาคม 2023 ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐจับตามอง ถูกเผยแพร่ออกมาแล้วเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2023 โดยสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐ

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้น 3.2% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) หมายถึงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 3.2% และเพิ่มขึ้น 0.2% จากเดือนก่อนหน้า (MOM)  

ดัชนีผู้บริโภคพื้นฐาน (core CPI) ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น 4.7% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) หมายถึงอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 4.7% และเพิ่มขึ้น 0.2% จากเดือนก่อนหน้า (MOM) 

เงินเฟ้อลดลงมากแล้วจากช่วงนี้ของเมื่อปีที่แล้วซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี 

อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าเงินเฟ้ออาจจะดื้อรั้นและคงอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน และอัตราเงินเฟ้อในรอบปัจจุบันก็ยังคงส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค เห็นได้จากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในตอนนี้ที่สูงกว่าจุดต่ำสุดในเดือนเมษายน 2020 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มแรกของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐอยู่ 19%   

Advertisment

ตอนนี้คำถามมีอยู่ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระดับ 3.2% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานระดับ 4.7% เพียงพอหรือไม่ที่จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ย ? 

นอกเหนือจากดัชนีราคาผู้บริโภค หรืออัตราเงินเฟ้อ CPI แล้ว การตัดสินใจนโยบายการเงินของเฟดจะต้องพิจารณาปัจจัยประกอบอีกหลายตัว

การผ่อนคลายอัตราเงินเฟ้อเกิดขึ้นในขณะสัญญาณของตลาดแรงงานเย็นลง โดยรายงานอีกฉบับหนึ่งของกระทรวงแรงงานสหรัฐที่เผยแพร่ในวันเดียวกัน แสดงให้เห็นว่า จำนวนการขอรับสวัสดิการการว่างงานของรัฐรายสัปดาห์ (ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม-5 สิงหาคม 2023) เพิ่มขึ้น 21,000 ราย ยอดรวมเป็น 248,000 ราย สูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะมีการขอ 230,000 ราย 

การที่มีคนว่างงานมากขึ้น น่าจะเป็นทิศทางที่เฟดพอใจที่ได้เห็นในเวลานี้ และการบรรจบกันของข้อมูลทั้งสองทำให้นักลงทุนมั่นใจมากขึ้นว่าเฟดจะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมในเดือนกันยายน

Advertisment

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 90.5% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 19-20 กันยายน และให้น้ำหนักเพียง 9.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.50-5.75%

แล้วนักเศรษฐศาสตร์มองสถานการณ์ตอนนี้และคาดการณ์การตัดสินใจของเฟดอย่างไร ? 

แอนนา หว่อง (Anna Wong) และสจวร์ต พอร์ล (Stuart Paul) นักเศรษฐศาสตร์จาก Bloomberg Economics วิเคราะห์ว่า ตลาดแรงงานที่กำลังเย็นลงทำให้เกิดแรงกระตุ้นการลดอัตราเงินเฟ้อกลุ่มที่หนืดที่สุด ซึ่งน่าจะคงอยู่ไปตลอดช่วงที่เหลือของปี และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FOMC ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานั้นน่าจะเป็นครั้งสุดท้าย และคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับปัจจุบันในช่วงที่เหลือของปี 

มาร์ก แซนดี (Mark Zandi) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Moody’s Analytics (มูดี้ส์ อนาไลติคส์) เห็นด้วยกับการประมาณการเงินเฟ้อ และเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อเคลื่อนไหวต่ำลง ซึ่งอาจเข้าสู่เป้าหมาย 2% ในช่วงเวลานี้ของปี 2024 

แซนดีคิดว่าแนวโน้มล่าสุดนี้น่าจะโน้มน้าวให้เฟดหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ แต่เฟดจะรอจนกว่าจะแน่ใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่เป้าหมาย จึงจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยลง 

ริชาร์ด คลาริดา (Richard Clarida) อดีตผู้ว่าการเฟดไม่แน่ใจว่าเฟดควรยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรอบปัจจุบันหรือยัง หลังจากที่ขึ้นมาแล้ว 11 ครั้ง คิดเป็น 5.25% อย่างไรก็ตาม คลาริดากล่าวว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟดจำเป็นต้องส่งเมสเสจว่าพวกเขากำลังดำเนินการต่อสู้กับเงินเฟ้อต่อไป เพื่อเปิดประตูทางเลือกเอาไว้ และเฟดไม่ต้องการประกาศเร็วเกินไปว่า “ภารกิจสำเร็จแล้ว”  

สตีเฟน จูโน (Stephen Juneau) นักเศรษฐศาสตร์ของ Bank of America กล่าวว่า รายงาน CPI ล่าสุดให้กำลังใจตลาด อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มลดลง และเราจะเห็นตัวเลขที่อ่อนตัวลงอีกครั้งในเดือนสิงหาคม เนื่องจากราคาขายส่งรถยนต์มือสองที่ลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อแบบเทียบเดือนต่อเดือนยังคงมีแนวโน้มที่ขรุขระ ไม่แน่นอน แต่เชื่อว่าเงินเฟ้อที่ลดลงในปัจจุบันไม่ใช่การลดแบบหลอก ๆ

นาธาเนียล เคซีย์ (Nathaniel Casey) นักกลยุทธ์การลงทุนของบริษัทบริหารความมั่งคั่ง Evelyn Partners กล่าวว่า แม้ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปแบบรายปีในเดือนกรกฎาคมจะเร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจากอัตราของเดือนก่อนหน้า แต่เมื่อเทียบแบบรายเดือน การเร่งตัวขึ้นเล็กน้อยเพียง 0.2% ทั้งดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานน่าจะช่วยปลอบประโลมตลาดได้  

เคซีย์กล่าวว่า ยังมีรายงานอัตราเงินเฟ้อและการจ้างงานอีก 1 ฉบับที่จะมาก่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ครั้งต่อไปในวันที่ 20 กันยายน ซึ่งคณะกรรมการไม่น่าจะตัดสินใจจากค่า CPI เพียงอย่างเดียว แต่ CPI ที่ออกมาก็เป็นอีกก้าวหนึ่งที่เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง

เดเรก ตั้ง (Derek Tang) นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทวิจัย LH Meyer/Monetary Policy Analytics ที่เน้นการวิจัยเศรษฐกิจมหภาค กล่าวว่า เฟดไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นที่พอใจของสายพิราบที่ไม่ต้องใช้นโยบายที่เข้มงวดอีกต่อจากนี้ไป “แม้แต่สายเหยี่ยวก็ยังพอใจที่จะหยุดพัก [การขึ้นดอกเบี้ย] ไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน หรือหลังจากนั้น ตราบใดที่ประตูการขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้ในระหว่างนั้น”